จับสัญญาณเศรษฐกิจโลกผ่านอุตสาหกรรมธนาคารโดย 10 แบงก์ใหญ่ชั้นนำของโลกต่างมีแผนปรับลดพนักงานกันถ้วนหน้า
สำนักข่าวอะลามี่ : วิกฤติเศรษฐกิจโลก ที่มีสาเหตุมาจากปัญหาหนี้ในยุโรปและเศรษฐกิจชะลอตัวในสหรัฐ ทำให้ธนาคารชั้นนำระดับโลกหลายแห่งได้รับผลกระทบ และต้องลดขนาดองค์กรลงเพื่อความอยู่รอด ไล่ตั้งแต่ธนาคาร ANZ ของออสเตรเลีย แบงก์ ออฟ อเมริกา ซิตี้กรุ๊ป เอชเอสบีซี มอร์แกน สแตนเลย์ ซอคเจน
ธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงก์ (ANZ) มีแผนปรับลดตำแหน่งงานในธุรกิจการให้บริการลูกค้าธุรกิจและรายย่อย ประมาณ 130 ตำแหน่ง หลังรับแรงกดดันจากต้นทุนจากแหล่งเงินทุนรายใหญ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งการปรับโครงสร้างของเอเอ็นแซด กลุ่มธนาคารใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของออสเตรเลีย เมื่อวัดในแง่มูลค่าตามราคาตลาด จะกระทบต่อพนักงานต่างๆ ที่อยู่ในรัฐวิกตอเรีย และงานหลังบ้าน หรือแบ็ค-ออฟฟิศ
รายที่ 2 คือ “บังโค บิลเลา วิซคายา อาร์เจนตาเรีย” เตรียมปรับลดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (เอ็มดี) สายวาณิชธนกิจในเอเชีย-แปซิฟิกถึง 20% ของทั้งหมด ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยจะกระทบกับเอ็มดีประมาณ 15 จากทั้งหมด 75 ตำแหน่ง
“แบงก์ ออฟ อเมริกา” เป็นรายที่ 3 ที่ เลย์ออฟพนักงาน 29 ราย หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในเอเชีย ซึ่งอยู่ในสำนักงานสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยการเลย์ออฟ เป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับลดต้นทุนของบริษัทในธุรกิจทั่วโลก ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ทำการลดพนักงานในส่วนให้บริการลูกค้ารายใหญ่ไปแล้วถึง 150 ตำแหน่ง
แบงก์แห่งที่ 4 “ซิตี้กรุ๊ป” เพิ่งปรับลดพนักงาน 40 ตำแหน่งในสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 4 ทั้งในสายวาณิชธนกิจและหน่วยงานการลงทุนเอกชน ก่อนหน้านี้ ซิตี้กรุ๊ป ก็ประกาศเมื่อเดือนธันวาคมว่า เตรียมจะหั่นคนงานถึง 4,500 ตำแหน่งในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้า หรือคิดเป็น 1.6% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดทั่วโลก
รายที่ 5 “เครดิต สวิส กรุ๊ป” มีข่าวจ่อเลย์ออฟพนักงาน 20 ตำแหน่งในไต้หวัน ซึ่งรวมถึงงานนั่งโต๊ะและงานขายต่างๆ ที่มีรายได้ประจำ หลังจากบริษัทล้มเลิกแผนการก่อตั้งธุรกิจบริหารการเงินส่วนบุคคลในไต้หวัน
“เอชเอสบีซี” เป็นแบงก์รายที่ 6 ที่ประกาศไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 ว่า บริษัทเตรียมจะปรับลดตำแหน่งงาน 3,000 ตำแหน่งภายใน 3 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่อยู่ในสายงานสนับสนุนสำนักงานใหญ่ในฮ่องกง
การปรับลดคนงาน ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับลดพนักงานจำนวน 25,000 คนภายในปี 2556 ทั้งนี้ เอชเอสบีซีทำการปรับลดคนงานไปแล้วถึง 5,000 ตำแหน่งในสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ละตินอเมริกา และประเทศแถบตะวันออกกลาง
แบงก์แห่งที่ 7 “มอร์แกน สแตนเลย์” ที่มีข่าวว่า กำลังปรับลดตำแหน่งงานหลังบ้านถึง 80 ตำแหน่งในสิงคโปร์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับการดำเนินงานให้กระชับขึ้น และเตรียมโยกย้ายไปลงหลักปักฐานในประเทศอื่น โดยเฉพาะในอินเดียและฮังการี
เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม มอร์แกน สแตนเลย์ ประกาศว่า เตรียมลดคนงานทั่วโลกถึง 1,600 ตำแหน่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ส่วนธนาคาร “ โนมูระ” เป็นรายที่ 8 โดยประกาศแผนลดต้นทุน 1.2 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ในช่วงต้นเดือนมกราคม นายเจสจิต “เจสซี่” บัตตาล รองประธานร่วมและผู้บริหารต่างชาติที่มีตำแหน่งสูงที่สุดของโนมูระ ได้ตัดสินใจลาออก เช่นเดียวกันกับ “ทารัน จอตวานี่” หัวหน้าดูแลตลาดทั่วโลก ซึ่งทำงานอยู่ในสำนักงานในกรุงลอนดอน และ “นิพัน โจเอล” หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจในอินเดีย และ “อินทราเนล บอร์คาโคตี้” หัวหน้าดูแลตลาดทุนของโนมูระในอินเดีย ก็ถูกเชิญออกด้วยเช่นกัน
แบงก์แห่งที่ 9 “รอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์” (อาร์บีเอส) เตรียมโละตำแหน่งงานทั่วโลกถึง 3,500 ตำแหน่ง และจะเลิกทำธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจวิจัย ธุรกิจการค้า โบรกเกอร์ ตลาดตราสารทุน แผนก M&A ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ให้ซึ่งผลกำไร ปัจจุบัน อาร์บีเอสดำเนินธุรกิจใน 11 ประเทศในเอเชีย มีพนักงานมากกว่า 3,400 คนในทุกส่วนธุรกิจ
และอันดับ 10 “โซซิเอเต้ เจเนราล” ธนาคารสัญชาติฝรั่งเศส เตรียมลดตำแหน่งงานประมาณ 100 ตำแหน่งในเอเชีย ส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งเกี่ยวกับการขนส่ง เงินทุนจัดหาเครื่องบิน อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการปรับลดพนักงานทั่วโลกจำนวนเกือบ 1,600 ตำแหน่ง หรือ 13% ของทั้งหมด
ธนาคารดังกล่าว เริ่มปรับลดคนงานตั้งแต่ช่วงท้ายปี 2554 โดยซอคเจนมีพนักงานในทวีปเอเชีย 2,300 คน เมื่อนับจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2554
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์