วัฒนธรรมสัญจร สู่...ดินแดนล้านนา ความงดงามและความทรงจำ ที่ มฟล.
โดย: ชินภัทร์ ไชยมล
สำนักข่าวอะลามี่ : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัด ‘โครงการกองทัพวัฒนธรรมสัญจรสู่แดนล้านนา’ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และส่วนพัฒนานักศึกษา ได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการ เรื่อง การดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในการจัดการท้องถิ่นของตนเอง ในงานสัมมนาครั้งนี้ ยังได้มีการพูดถึงการสร้างอัตลักษณ์ล้านนา ทั้งจากฟากของคนล้านนาเอง และจากฟากของคนนอกล้านนา
อัตลักษณ์...นั้น แม้จะถูกสร้างขึ้นโดยวัตถุประสงค์ที่ต่างกันไป บ้างก็เพื่อแสดงความเป็นตัวตน เพื่อให้ดูแตกต่างจากคนอื่น เช่น คนล้านนาที่มักจะเรียกตัวเองว่า ‘คนเมือง’ เพื่อจะบอกว่าตนเองไม่ใช่คนฮ่อ หรือ คนลาว บ้างก็สร้างขึ้นเพื่อกดทับคนอื่นในเชิงของคำพูด เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับตนเอง
การจัดแสดงละครเรื่องสาวเครือฟ้า ที่ได้รับการดัดแปลงจากบทละครต่างประเทศ ทำให้ภาพผู้หญิงล้านนาเป็นอย่างสาวเครือฟ้า ไม่เพียงคนต่างถิ่นเท่านั้นที่เชื่ออย่างนั้น คนล้านนาเองก็เชื่อ และเป็นเช่นนั้นด้วย ทั้งนี้นักศึกษาและคณาจารย์ที่เข้าร่วมงาน ต่างได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะกันอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะทางคณะนักศึกษาจาก มอ. ซึ่งความเห็นว่า การแสดงถึงอัตลักษณ์ของคนล้านนา มักได้รับการตอบรับในทางบวก ได้รับความชื่นชม ในขณะที่การแสดงถึงอัตลักษณ์ของคนมุสลิมจากภาคใต้ มักได้รับการตอบรับในทางตรงข้ามอยู่เสมอ
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดการแสดงทางวัฒนธรรมขึ้นมา เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกันและกัน โดยนักศึกษาจาก มอ. ได้นำ เสนอการละเล่น ลิเกฮูลู ซึ่งจะมีลีกษณะคล้ายกับการตั้งวงลำตัด หรือ เพลงฉ่อยของภาคกลาง คณะหนึ่งมีลูกคู่ประมาณ 10 กว่าคน ผู้ขับร้องมีประจำคณะอย่างน้อย 2-3 คน
และยังมี ปันจักสีลัต ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ที่ได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาประเภทหนึ่งในการแข่งขันระดับภูมิภาค รวมถึง อันนาชีด การขับร้องเพลงประสานเสียงธรรมดา ที่มีเนื้อหาเชิญชวนให้กระทำความดี ด้วยภาษาแห่งกาพย์กลอนที่ไพเราะ กินใจ อันนาซีดได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ของไทย
ส่วนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดการแสดงฟ้อนรำ ตามแบบอย่างล้านนาหลายชุดด้วยกัน และที่พิเศษคือการแสดงชุด ฟ้อนหอมนวลคำ เป็นผลงานสร้างสรรค์ของนายประดิษฐ์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง คือดอกหอมนวล หรือ ดอกลำดวน จึงได้คิดประดิษฐ์ท่ารำ โดยใช้ท่ารำพื้นบ้านมาประยุกต์พัฒนา และสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ โดยคำนึงถึงกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานที่ถูกต้องเหมาะสม และ ไม่ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนทางวัฒนธรรม กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวประกอบไปด้วย เพลงประกอบการแสดง ของฟ้อนหอมนวลคำ โดยใช้ เพลงนพบุรีศรีนครพิงค์ ซึ่งมีจังหวะที่มีความไพเราะเริ่มจากจังหวะช้าไปหาจังหวะเร็ว โดยใช้ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ซะล้อ ซอซึงเป็นบรรเลง
น.ส.รุสลาวาตี ไบเตะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผ่านการคัดเลือกจากการพิจารณาความเรียงในหัวข้อสังคมพหุวัฒนธรรมกับการสร้างสันติภาพ มากับเพื่อนๆอีก 35 คน เธอเล่าถึงประเด็นสำคัญที่เขียนลงในเรียงความดังกล่าวว่า คนเรามีความแตกต่างกันแต่ไม่แตกแยกได้ หากมีความเข้าใจในกันและกัน การแสดงตัวตนของแต่ละคน เพื่อให้คนอื่นรู้จักและเข้าใจ ตนเองเป็นมุสลิมจากภาคใต้ ที่คนส่วนใหญ่มองว่าแข็งกระด้างและน่ากลัว แต่ความจริงตนก็เป็นคนๆหนึ่งที่รักชีวิตที่สงบสุข และต้องการโอกาสในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาหรือการยอมรับ และความเข้าใจจากสังคม
รุสลาวาตี เล่าว่า เธอดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการและมีโอกาสเดินทางมายังมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก่อนจะยอมรับตรงๆ ว่าเดินทางมาด้วยความกลัว...
“แรกๆ ที่เดินทางมามีความกลัวค่ะ กลัวว่าคนจะกลัวเรา กลัวคนที่เรามาพบมาเจอเขาจะคิดว่าเราพกระเบิดมาหรือเปล่า จากข่าวคราวหรือความเข้าใจผิดต่างๆ ที่คนต่างถิ่นสรุปถึงมุสลิมที่มาจากภาคใต้ แต่พอมาพบเจอกับเพี่อนๆ ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง กลับให้การต้อนรับที่อบอุ่น เราไม่เคยเจอกันมา พอเห็นรถเรามาถึงเขารีบวิ่งไปรับเลยค่ะ ความรู้สึกที่พกมาจากบ้านก็จางคลายไป ” รุสลาวาตี กล่าวด้วยรอยยิ้ม ก่อนขอตัวไปรวมกลุ่มกับเพื่อนใหม่ๆ ที่มีเวลาร่วมกันไม่มากนัก
ด้านนักศึกษา มฟล. ซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน ต่างก็มีความยินดี ที่ได้ให้การต้อนรับแขกแดนไกล จากปลายด้ามขวาน กฤตย ธาดาบดินทร์ นักศึกษาชั้นปี 2 สำนักวิชานิติศาสตร์ และ ดัชนี อุทิศ นักศึกษาชั้นปี 1 สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นตัวแทนของทีมนักศึกษา มฟล. ที่ให้การต้อนรับคณะดังกล่าว เล่าว่า พวกเขาดีใจที่มีเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยมาไกลจากปัตตานี มาเยี่ยมถึงมหาวิทยาลัย มีการวางแผนเตรียมงานกันนาน แบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนการจัดสัมมนา เพื่อจะใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนทัศนะเรื่องอัตลักษณ์ของท้องถิ่นหรือการจัดเตรียมสถานที่ และการจัดการแสดง โดยร่วมกันคัดเลือกการแสดง ที่ทำให้คนต่างถิ่นสัมผัสได้ถึงความเป็นล้านนาได้ชัดเจน เมื่อผู้มาเยือนเดินทางมาถึง ไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างใดๆ มีเพียงความรู้สึกดีใจที่ได้พบกัน
“มุสลิมใต้หรือมุสลิมจากที่ไหนก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าต้องกลัวหรือเกร็งอะไร รู้สึกว่าเขาเหมือนเพื่อนทั่วไปของเรา ส่วนหนึ่งก็เพราะที่ มฟล. ก็มีนักศึกษามุสลิมที่มาจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ยอมรับว่าเขาหน้าตาดุจริง แต่เวลาที่คนเราเป็นเพื่อนกันตรงนี้ไม่สำคัญ เพราะคนเราก็ธรรมดา บางครั้งอารมณ์ดี บางครั้งอารมณ์เสีย บางวันจิตใจดี บางวันขุ่นมัว แต่เราก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ที่สำคัญเราต่างมีความฝันมีความหวังแบบคนหนุ่มคนสาวทั่วไป อยากเรียนจบเกรดดีๆ อยากมีงานที่ดีทำ” กฤตย นักศึกษาหนุ่มน้อย พูดถึงเพื่อนต่างถิ่นจากปลายด้ามขวาน
หากมีโอกาสนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะไปเยือนบ้านของเด็กมอ.ปัตตานีสักครั้ง...”อยากไปเห็นว่า ที่ มอ.เป็นอย่างไรบ้าง นักศึกษาที่นั่น ทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง แม้จะได้ยินข่าวคราวเหตุการณ์ไม่สงบจากแดนไกลนั้นอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้ามีโอกาสได้ไป จะไปทันที ไม่กลัว เพราะคิดว่า นักศึกษา มอ. อยู่ได้ เราก็ต้องไปได้” ดัชนี นักศึกษาหญิงจากม.แม่ฟ้าหลวง กล่าวอย่างเด็ดเดี่ยวไว้อย่างนั้น
โครงการกองทัพวัฒนธรรมสัญจร สู่...แดนล้านนา แม้จะต้องผ่านพ้นไปด้วยห้วงเวลาที่กำหนด แต่มิตรภาพระหว่างนักศึกษาสองสถาบันนั้น กลับงอกงามยิ่งอยู่ในความทรงจำ