ชาวสวนชงรัฐบาลแก้พรบ.สกย.นำเงินเซสตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพยาง
สำนักข่าวอะลามี่ : ชาวสวนเสนอ แก้ พรบ.สกย. นำเงินเซส ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง พร้อมเปิดตลาดใหม่ สู่ อินเดีย แอฟริกา ตะวันนออกกลาง กลุ่มประเทศรัสเซียเก่าและใหม่ ด้าน " ธานินทร์ ใจสมุทร ” ปรึกษาคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราภาคเกษตรกร รับจะดำเนินการแก้ไขให้เสร็จในรัฐบาลนี้
รายงานข่าวจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราภาคเกษตรกร เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการ ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อ นายธานินทร์ ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราภาคเกษตรกร และในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องยางจาก นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยมีสาระหลักดังนี้ เรื่องที่ 1 ที่จะต้องดำเนินการคือ การแก้ไขพระราชบัญญัติสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ( พรบ.สกย.) เพื่อให้สามารถนำเงิน CESS มาจัดตั้งเป็น กองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยชาวสวนยาง ยินดีจ่ายเงินเพิ่มอีก 1 บาท / กก. และ เรื่องที่ 2 จะต้องแก้ไข พรบ.สกย. เพื่อให้สกย. เข้ามามีบทบาทในเรื่องการการตลาดยางพาราอย่างแท้จริง เพราะปัจจุบัน สกย.ช่วยชาวสวนยาง ในการดำเนินการตลาดท้องถิ่นอยู่แล้วทั่วทั้งประเทศ และยังมีความพร้อมสูง
นอกนั้น ยังให้มีการสนับสนุนจดทะเบียนสถาบันเกษตรกรให้เป็นนิติบุคคล เพื่อได้วางโครงสร้างพื้นฐานให้กับสถาบันเกษตรกรเพื่อทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งเป็นภาคการผลิต และยังให้มีนโยบายขายยางในต่างประเทศ ระบบจีทูจี โดยทำการเปิดตลาดใหม่ มี อินเดีย แอฟริกา ตะวันออกลาง รัสเซีย และกลุ่มรัสเซียเก่า
พร้อมกับให้ ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อ รับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 200,000 ตัน มูลค่า 20,000 ล้านบาท โดยรัฐให้งบประมาณอุดหนุนในการการเก็บสต๊อกยาง
“นโยบายดังกล่าว ภาคการผลิต เกษตรกรชาวสวนยาง ต้องสังกัดสถาบัน และภาครัฐจัดสรรงบประมาณในโครงสร้างพื้นฐานการแปรรูป เพื่อให้เหมาะกับการเก็บ Stock ยาง และในการเก็บ Stock ยาง โดยภาครัฐอุดหนุนงบประมาณ บริษัทร่วมทุน รับซื้อในราคา 105 บาท/กก. หรือตามสภาวะของราคายางที่เหมาะสม และเก็บ Stock คงที่ 200,000 ตัน หากไม่ครบให้เก็บเพิ่ม หากเกิน Stock ให้ขายต่างประเทศในช่วงจังหวะที่ได้กำไรโดยทำในลักษณะแบบเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซื้อ-ขาย ทองคำ" แหล่งข่าวกล่าว
รายงานข่าวเปิดเผยอีกว่า ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยให้มีการแก้ไข พรบ.สกย. ทั้งนี้เพื่อให้สามารถนำเงิน CESS มาตั้งเป็นกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางได้ และดำเนินการด้านตลาดยางพาราได้ด้วย การขายต่างประเทศนั้น บริษัทร่วมทุนโดยการนำของภาครัฐเป็นผู้ทำการเปิดตลาด ทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่ และเมื่อ ธุรกิจดังกล่าวดำเนินไปได้ ก็ให้จัดสรรกำไรสุทธิเพื่อสนับสนุนภาคการผลิตในการแปรรูปยาง
ด้าน นายธานินทร์ ใจสมุทร ที่ปรึกษาคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราภาคเกษตรกร กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการแก้ไขยางพารา จะทำการสนับสนุนเกษตรกรอย่างเต็มที่ และ กรณีจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้.