ตอนที่1- MFC นำระบบการเงินอิสลามโลกรุกกองทุนชาริอะห์
สำนักข่าวอะลามี่ : “MFC” รุกตลาดกองทุนตามหลักศาสนาอิสลาม MIF-LTF แม้ว่าในประเทศไทย จะได้รับความสนใจน้อย แต่พบว่ามีอัตราที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยนำหลักเกณฑ์มาตรฐานการเงินอิสลามโลกมาวางระบบ หวังสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าชาวมุสลิมและผู้สนใจ
นางพัณณรัชต์ บรรพโต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายบริหารกองทุน บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีกองทุนจำนวนมากกว่า100 กองทุน โดยในจำนวนดังกล่าว มีกองทุนที่บริหารจัดการตามหลักการศาสนาอิสลาม (หลักชารีอะฮ์) มีอยู่ 3 กองทุน คือ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีอิสลามิกหุ้นระยะยาว (MIF-LTF) กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีอิสลามิกฟันด์ (MIF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ Master Fund นโยบายการลงทุนในกองทุนรวม MIF ซึ่งถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นที่บริษัทบริหารอยู่ แต่แนวโน้มเชื่อว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง
สำหรับหลักทรัพย์ของกองทุนที่บริษัทดำเนินการตามหลักการศาสนาอิสลามลงทุน จะต้องผ่านตามหลักเกณฑ์สำคัญ2ประการ คือ หลักเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นตาม FTSE SET Shariah Index ซึ่งหุ้นที่ถูกเลือกนั้นจะต้องผ่านเกณฑ์การดำเนินธุรกิจและเกณฑ์โครงสร้างทางการเงิน ซึ่งเกณฑ์การดำเนินธุรกิจต้องไม่ลงทุนในธุรกรรมดังนี้
1.ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือประกันภัย ที่ไม่ได้ดำเนินการตามหลักศาสนาอิสลาม 2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ 3.ธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสุกร 4. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบันเทิง เช่น คาสิโน การพนัน 5.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ และ 6 ธุรกิจทีเกี่ยวข้องกับการผลิตหรือจำหน่ายอาวุธ
นอกจากนี้ หลักทรัพย์ที่ผ่านเกณฑ์ตามข้อแรกแล้ว จะต้องมีโครงสร้างทางการเงินดังนี้ ส่วนของหนี้ต้องน้อยกว่า 33% ของสินทรัพย์รวม ส่วนของเงินสดและดอกเบี้ย ต้องน้อยกว่า33%ของสินทรัพย์รวม นอกจากนี้สัดส่วนของบัญชีลูกหนี้และเงินสด ต้องน้อยกว่า 50% ของสินทรัพย์รวมและสุดท้ายดอกเบี้ยรวมและรายได้อื่นๆ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่ควรเกิน 5% ของรายได้รวม
“จะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์ในส่วนแรกนี้จะช่วยให้นักลงทุนที่นับถือศาสนาอิสลามนั้นสามารถลงทุนได้ เพราะบริษัทที่ผ่านเกณฑ์นั้นมีการดำเนินธุรกิจที่ไม่ขัดต่อหลักการศาสนา และเกณฑ์ในเรื่องโครงสร้างทางการเงินนั้นยังส่งผลให้ หุ้นที่เลือกมา มีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง การบริหาร Cash flow มีประสิทธิภาพและมีโอกาสเติบโตในอนาคตค่อนข้างสูง เพราะการมีD/E ที่ต่ำ ทำให้การหาเงินทุนเพื่อการขยายกิจการในอนาคตได้ง่ายขึ้น” นางพัณณรัชต์ กล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์ด้านที่สอง เป็นการคัดเลือกหุ้นตาม MFC Criteria โดยมองในเกณฑ์ของมูลค่าตลาด โดยแยกตามขนาดของกองทุน ขนาดใหญ่ (L) มีมูลค่าการตลาดไม่น้อยกว่า 10,000ล้านบาท ขนาดกลาง(M) มูลค่าการตลาดไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท และขนาดเล็ก (S) ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังดูในเรื่องของปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยที่ไม่น้อยกว่า1ล้านบาท/วัน และอื่นๆ
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยให้หุ้นที่ผ่านการคัดเลือกนั้นมีความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่อง(Liquidity) ที่ต่ำจะช่วยลดความผันผวนจากการขาดสภาพคล่อง นอกจากนี้การแบ่งหุ้นออกเป็น 3 กลุ่ม ตามขนาดมูลค่าราคาตลาด คือ S,M และ L จะทำให้ผู้จัดการกองทุนจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยง และไม่ลงทุนในหุ้นตัวเล็ก ที่มักมีความผันผวนสูงมากจนเกินไป
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายบริหารกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) กล่าวอีกว่า ในปีนี้ การบริหารกองทุน MIFLTF มีผลการดำเนินงานโดดเด่น เนื่องจากหลังจากกลุ่มหุ้นดังกล่าวผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว หุ้นดังกล่าวจะถูกนำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ (Quantitative Model) โดยประกอบด้วย MFC Factor model ซึ่งเป็นเครื่องมือที่นำปัจจัยเชิงปริมาณที่สำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์มาวิเคราะห์ ข้อมูลตัวเลขเชิง Fundamental และตัวเลขเชิง Technical รวมถึงการมองย้อนไปในอดีต
“เราใช้เทคนิคทางตัวเลขและตัวประวัติของหุ้น จะทำให้ผู้จัดการกองทุนไม่ตัดสินใจด้วยอารมณ์ หรือยึดติดกับประสบการณ์หรือยึดติดกับหุ้นที่ตนเองคุ้นเคย หรือลดความกังวลในการเข้าไปลงทุนในหุ้นใหม่ๆ”นางพัณณรัชต์ กล่าว
นอกจากนี้บริษัทยังใช้เครื่องมือด้านความเสี่ยงที่พัฒนาเองภายใน คือ MFC Risk ซึ่งเป็นเครื่องมือให้ความสำคัญกับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบกับตลาดหุ้นไทย โดยจะมีทีมพิจารณาความเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศแล้วแปลงเป็นตัวเลข เพื่อเตือนผู้จัดการกองทุนให้ลดหรือเพิ่มน้ำหนักของการลงทุนในภาพรวม ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวจะประโยชน์มากในช่วงตลาดขาลง เพราะจะทำให้การตัดสินใจเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุน ไม่ใช้อารมณ์มากเกินไป จะเพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการตัดสินใจมากขึ้น