ดันพัฒนาขนส่งR3A พลิกวิกฤติแทนลำน้ำโขง
โดย กฤติมา ประทุมชาติภักดี รายงานจาก จ.เชียงราย
สำนักข่าวอะลามี่ : กรรมาธิการการเงิน การธนาคาร ฯสภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ติดตามกรณีเรือคนร้ายปล้นสินค้าจีนและสังหารลูกเรือตาย13ศพ ที่ปรึกษาหอการค้า จ.เชียงรายหวั่นเหตุการณ์ความรุนแรงอาจกระทบลงทุนชายแดน ด้านพานิชย์จังหวัด แนะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสพัฒนาศักยภาพส่งออกผ่านเส้นทาง R3A ขนส่งสินค้าแทนลำน้ำโขง
วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมที่ว่าการ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การธนาคาร และ สถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ได้นำคณะเดินทางไปรับทราบข้อมูลด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อชายแดนด้าน จ.เชียงราย ต่อกรณีการปล้นเรือสินค้าจีน 2 ลำ คือ เรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง Hua Ping และ เรือขนกระเทียม และแอปเปิ้ล Yu Xing 8 บริเวณดอนสามปู สามเหลี่ยมทองคำชายแดน สปป.ลาว-พม่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา และลูกเรือชาวจีนรวม 13 ศพ
โดยหลังเกิดเหตุเรือทั้งสองลำได้เข้าเทียบฝั่งไทยที่ริมฝั่งเขตหมู่บ้านสบรวก ม.1 ต.เวียง อ.เชียงแสน และเจ้าหน้าที่ไทยเข้าตรวจค้นบนเรือพบยาบ้าซุกซ่อนอยู่ 920,000 เม็ด ต่อมาได้มีทหารจากกองกำลังผาเมือง ทั้งระดับสัญญานบัตรระดับ พ.ต.และชั้นประทวนรวม 9 นาย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ชายแดนทยอยเข้ามอบตัวกับตำรวจข้อหาฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา และปิดบังซ่อนเร้นศพ โดยครั้งนี้มีผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจ้งสถานการณ์และการดำเนินการต่างๆ พร้อมสรรพ
โดย พ.ต.อ.ภพกร คูณเจริญสุข ผกก.สภ.เชียงแสน ได้สรุปสถานการณ์ดังกล่าวว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ว่า ตำรวจได้รับแจ้งว่ามีการปล้นเรือนอกราชอาณาจักรไทยและเรือได้ถูกควบคุมเข้ามาริมฝั่งหมู่บ้านสบรวกดังกล่าวก่อนเกิดเสียงปืนดังขึ้น เมื่อขึ้นไปตรวจเรือพบผู้เสียชีวิต 1 คน จากนั้นค่อยๆ ทะยอยพบผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ ลอยมาติดริมฝั่งแม่น้ำโขง ต่อมาได้มีการดำเนินคดีกับทหารทั้ง 9 นาย ปัจจุบันได้สอบปากคำพยานไปแล้วกว่า 100 ปาก และเรื่องอยู่ในการดูแลของอัยการสูงสุดแล้ว รวมทั้ง 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงคือไทย สปป.ลาว พม่า และจีน ได้ตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.) ขึ้นมาดูแลกองเรือสินค้าที่เดินทางไปมา แต่กรณีในเขตน่านน้ำหรือเข้าฝั่งไทยทางจีนจะไม่ส่งกำลังเข้ามาแต่จะส่งมอบให้ทาง ศปปข. ส่วนหน้าของไทยดูแล
นายประธาน อินทรียงค์ ที่ปรึกษาหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ชายแดนด้าน จ.เชียงราย มีการลงทุนเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนหลายอย่าง เช่น ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ฯลฯ ขณะที่จีนก็ขยายการค้าการลงทุนลงมาทำให้แม้แต่กลุ่มทุนญี่ปุ่นก็สนใจจะเข้าไปลงทุนในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะโลจิสติกส์ แต่เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ ทำให้การลงทุนดังกล่าวอาจต้องชะลอไปกว่า 2 ปี แต่เชื่อว่าในอนาคตทุกอย่างจะดีขึ้น ดังนั้นช่วงฟื้นตัวขอเสนอให้มีการพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อรองรับอนาคตทั้งการพัฒนาระบบการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศให้สู่สากล เพราะปัจจุบันยังไม่มีระบบธนาคารที่มาตรฐาน
ด้าน นายเฉลิมพล พงษ์ฉบับนภา พาณิชย์ จ.เชียงราย กล่าวว่า การค้าชายแดนด้าน จ.เชียงราย เป็นการค้ากับจีนตอนใต้เสียกว่า 22% จากการค้ากับทั้งพม่าและ สปป.ลาว โดยถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วง 2-3 ปีก่อนที่อยู่ในอัตรา 10% กว่าเท่าตัว และหากแยกเป็นรายด่านพบว่าเป็นการค้าด้าน อ.เชียงแสน กว่า 70% และที่เชียงของผ่านถนน R3A ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ จำนวน 30% โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าการค้าทั้งหมดเป็นการส่งออกสินค้าของไทยที่ท่าเรือ อ.เชียงแสน เสียกว่า 96% และมีการส่งออกที่เชียงของน้อยกว่ามาก ทำให้ที่เชียงแสน มีการค้ากันวันละเฉลี่ยกว่า 500 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกเฉลี่ยวันละกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามหาศาล
โดยหลังเกิดเหตุได้ส่งผลกระทบกับการค้าชายแดนทำให้มูลค่าการค้าลดฮวบลงกว่า 50-60% เพราะยังมีการบรรทุกทางเรือสินค้าลาวแต่ระวางบรรทุกน้อยกว่ามากแค่ 150 ตันส่วนเรือจีนมีกว่า 250-300 ตัน และเกรงว่าจะกระทบยาวไปจนถึงเดือน พ.ค.เพราะตามปกติน้ำโขง จะแห้งจนไม่สามารถเดินเรือสินค้าได้ในช่วงฤดูแล้งด้วย
นายเฉลิมพล กล่าวว่า ดังนั้นจึงควรหันมาผลักดันพัฒนาถนน R3A เพื่อพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส และรองรับกรณีเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นมาอีกในอนาคต เพราะจากมูลค่าการส่งออกของไทยที่ อ.เชียงของ พบว่ามีอีตราแค่ 4% ของการส่งออกไปจีนทั้งหมด สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะรถบรรทุกไทยไปถึงได้แค่ชายแดนจีน-สปป.ลาว ที่เมืองบ่อเต็น-บ่อหาน ไม่สามารถเข้าไปในจีนได้ และความชำนาญในการขนส่งอาจจะไม่เท่ารถบรรทุกของจีนที่เหมาะสมกับเส้นทางคดเคี้ยวตามไหล่เขาของถนน R3A
ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อม อ.เชียงของ กับ สปป.ลาว แล้วเสร็จในปี 2556 จะทำให้การขนส่งด้าน R3A คึกคักอย่างมากจึงควรจะเตรียมการในช่วงนี้ไว้เพื่อรองรับด้วย โดยเฉพาะกรณีข้อตกลงขนส่งรถบรรทุกประเทศละ 500 ลำ ซึ่งเงียบหายไปและตนยังไม่ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนไหนด้วย
"อย่างไรก็ตามกรณีเรือสินค้าแม่น้ำโขงนั้นผมเห็นว่าจีนอย่างไรเสียก็มีพลเมืองกว่า 1,300 ล้านบาท และมีที่ราบเพื่อเพาะปลูกแค่ 20% การขนส่งเสบียงอาหารต้องกระจายไปทั่วและกรณีลงใต้ก็ต้องผ่านประเทศไทยโดย จ.เชียงราย เขาจึงจะต้องรักษาเส้นทางนี้เอาไว้ ดังนั้นจึงควรหันไปผลักดันเรื่อง R3A ให้มากเพราะปัจจุบันจีนส่งสินค้าลงมากว่า 1,900 ล้านบาทแต่ไทยส่งขึ้นไปบนถนนสายเดียวกันแค่ 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น" นายเฉลิมพล กล่าว