กรรมการอิสลามปัตตานี นักโทษเรือนจำถูกจำกัดสิทธิปฎิบัติศาสนกิจ
สำนักข่าวอะลามี่ : คณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ปัตตานี ร้องเลขาธิการ ศอ.บต. เร่งตรวจสอบกรณีญาตินักโทษมุสลิมในเรือนจำอ้างไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติด้านศาสนกิจที่เพียงพอ และ ขอให้นักโทษหญิงแต่งกายแบบมิดชิด ด้านประธานชมรมมุสลิมเพื่อการศึกษาและพัฒนาผู้ต้องขัง ชี้เข้าข่ายริดรอนสิทธิและขัดรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในโอกาสที่ พ.ต.อ.ทวีสอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.พร้อมด้วย นายประมุข ลมุล รองเลขาธิการ ศอ.บต. (ฝ่ายบริหาร) นายอดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการ ศอ.บต. (ฝ่ายการศึกษา) และ คณะเข้าพบปะประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ปัตตานี หลังจากชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี นายแวดือราแม มะมิงจิ ปธ.คณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ปัตตานี และคณะกรรมการฯ ให้การต้อนรับ เมื่อเร็วๆนี้
โดยขณะเข้าพบ คณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ปัตตานี ได้ร้องเรียนต่อ พ.ต.อ.ทวี เลขาธิการ ศอ.บต. ตรวจสอบข้อมูล หลังมีญาตินักโทษในเรือนจำกลาง จ.ปัตตานี จำนวนมากร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำ มีการจำกัดเวลาให้การประกอบศาสนกิจที่ไม่เพียงพอและไม่ให้ความสำคัญกับการละหมาด 5 เวลา และ อยากให้ปรับเปลี่ยนอาหารที่ใช้เลี้ยงนักโทษเป็นแบบฮาลาล 100 % และ ให้ตั้งคณะผู้ตรวจสอบที่มาจากกลุ่มผู้นำศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ก็อยากให้มีการเปลี่ยนการแต่งกายของกลุ่มนักโทษหญิงมุสลิมเป็นแบบที่มิดชิดกว่าเดิมด้วย
นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ปัตตานี กล่าวว่า มีความยินดีที่ ศอ.บต.เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มผู้นำศาสนาในพื้นที่ สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ คือ การรับฟังปัญหาของคนในพื้นที่ การส่งเสริมด้านศาสนาและการศึกษาเป็นสิ่งควบคู่กัน โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาของ ศอ.บต.เดินมาถูกทางแล้ว และเชื่อว่า ประชาชนทุกคนในพื้นที่พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำมาซึ่งสันติสุขต่อไปด้วย
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ได้กล่าวว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจว.ทุกแห่ง มีส่วนสำคัญในการผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และ ศอ.บต.ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชน โดยมีนโยบายเน้นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ การอำนวยความเป็นธรรม การให้ความยุติธรรมในชุมชน ตรวจสอบการกระทำที่ผิดกฎหมายของจนท.รัฐ ตลอดจนการพัฒนาด้านการศึกษา การส่งเสริมกิจการฮัจย์
ขณะที่ นายปัญญา หวังพิทักษ์ ประธานชมรมมุสลิมเพื่อการศึกษาและพัฒนาผู้ต้องขัง กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการอิสลามปัตตานีร้องเรียนเรื่องนักโทษถูกจำกัดการปฎิบัติศาสนกิจ ว่า เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นไปตามที่มีการร้องเรียนหรือไม่ เพราะหากเป็นตามข่าวที่ร้องเรียนจริง นับเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่จะเข้าข่ายการ ลิดรอนสิทธ์ของผู้ต้องขัง อีกทั้งยังขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกด้วย
“ที่ผ่านมาทางชมรมฯได้ทำงานเกี่ยวกับผู้ต้องขังและมีการประสานงานกับเรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศ พบว่าได้รับความร่วมมืออย่างดี โดยเฉพาะในเรือนจำใหญ่ในกรุงเทพฯ ทั้งที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คลองเปรม บางขวาง หรือที่เรือนจำมีนบุรี ได้อำนวยความสะดวกผู้ต้องขังให้ทำการละหมาดทั้ง 5เวลา รวมถึงการละหมาดวันศุกร์ด้วย”นายปัญญา กล่าวและว่า
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดปัตตานี เชื่อว่าหากเจ้าหน้าที่เรือนจำหรือผู้คุมเข้าใจและการทำงานของกรมราชทัณฑ์ เพราะในหนังสือกรมราชทัณฑ์ ได้บอกถึงแนวทางและวิธีการปฎิบัติกับนักโทษมุสลิมไว้อย่างครอบครุม และชัดเจน ดังนั้นเรื่องนี้ หากเจ้าหน้าที่เรือนำสงสัย หรือละเว้นการปฎิบัติกผ่สามารถเอาหนังสือเล่มดังกล่าวมาอ้างอิงได้