" อาหรับ สปริง"ส่งผลให้บทบาทและอิทธิพลของสหรัฐ ในโลกอาหรับเปลี่ยนแปลงไป
สำนักข่าวอะลามี่ : ในช่วงประมาณ 18 เดือน ก่อนที่จะเกิดคลื่นการปฏิวัติ หรือ อาหรับสปริง ในอิยิปต์ ที่นำไปสู่การล่มสลายของประธานาธิบดีฮอสนีย์ มูบารัค ได้มีเอกสารลับของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐส่งจากกรุงไคโร พูดถึง นายมูบารัค มีแนวโน้มจะเป็นประธานาธิบดีไปตลอดชีวิต
และศักยภาพของระบอบของเขา ในการข่มขวัญพวกที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และการใช้กลโกงการเลือกตั้งยังคงแข็งแกร่งเหมือนที่เคยเป็น
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น นักการทูตคนหนึ่ง ที่เดินทางจากสถานทูตสหรัฐในตูนิเซีย กลับคาดการณ์สถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ ถึงการปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อไป โดยระบุว่า ประธานาธิบดีซีนเอล อาบิดีน เบน อาลี เข้าไม่ถึงประชาชน และเผชิญความโกรธแค้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จากผู้คนบนท้องถนน
เอกสารลับเหล่านี้ ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซท์วิกิลีคส์ และก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่า สหรัฐมีความรู้สึกอย่างไร ต่อสถานการณ์อาหรับสปริง เหมือนถูกโจมตีจากทิศทางที่มองไม่เห็น หรือ มัวแต่หลบอยู่ในบังเกอร์
ซึ่งกรณีนี้ ถือว่าสหรัฐถูกโจมตีโดยไม่ทันตั้งตัว และจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับอิทธิพลที่ลดลงในตะวันออกกลาง ที่จะมีการลำดับความสำคัญใหม่ แต่ก็ยังมีทางเลือกสำหรับเหตุการณ์ ที่ถือเป็นมหากาพย์ยิ่งใหญ่แห่งปี 2554 ที่สหรัฐจะฉวยโอกาสเข้าไปมีบทบาทในดินแดนที่กำลังโหยหาประชาธิปไตย และนวัตกรรม รวมถึงการสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ใหม่ๆ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สหรัฐ ได้รับผลกระทบจากการล่มสลายของพันธมิตรอย่าง อิยิปต์และตูนิเซีย การปฏิวัติทำลายความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างระบอบเดิมกับสหรัฐ และเปิดทางให้กับกลุ่มมุสลิม ที่ไม่เคยไว้เนื้อเชื่อใจสหรัฐ แต่แม้อาหรับสปริงจะถูกมองว่า มาพร้อมกับอิทธิพลที่ถดถอยของสหรัฐ แต่ก็ยังมีสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม นั่นคือ อิทธิพลที่ยังคงอยู่ในตะวันออกกลาง
โดยเฉพาะในแถบอ่าวเปอร์เซีย สหรัฐ มีสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ นักการทูตที่เป็นสมาชิกในพระราชวงศ์ ทั้งระดับเจ้าชายและเจ้าผู้ครองนคร ที่ยังห่างไกลการถูกโค่นอำนาจ แต่กำลังมีอิทธิพลทางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในโลกอาหรับ
ชาติอาหรับในอ่าวเปอร์เซีย และสหรัฐ ถือเป็นคู่ที่ไม่อาจแยกจากกันในประเด็นนโยบายต่างประเทศ ทั้งสองฝ่าย ต่างมีความเห็นต่อต้านความทะเยอทะยานทางทหารและโครงการนิวเคลียร์ ของอิหร่าน
นอกจากนี้ อ่าวเปอร์เซีย ยังเป็นที่ตั้งฐานทัพสหรัฐที่สำคัญ รวมทั้งกองเรือที่ 5 ในบาห์เรน และกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ได้กำหนดให้เป็นเป็นจุดยุทธศาสตร์ในพิมพ์เขียว หลังจากสหรัฐถอนทหารจออกจากอิรักในปีนี้ จึงสรุปได้ว่า แม้ว่า อิทธิพลของสหรัฐจะกระทบกระเทือนเพราะการปฏิวัติที่เรียกว่า อาหรับสปริง แต่ก็ยังคงหลงเหลือและแนบแน่นกับผู้ทรงอิทธิพลที่เป็นดาวดวงใหม่แห่งตะวันออกกลาง
นักวิเคราะห์ จากศูนย์ยุทธศาสตร์ศึกษาของคูเวต มองว่า แม้สหรัฐจะเสียพันธมิตรอย่างมูบารัค แต่ก็ยังมีพันธมิตรหน้าใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งเจ้าของผู้ครองนครที่มีฐานะมั่งคั่งอย่างการ์ต้า และซาอุดิอาระเบีย
การใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อลิเบีย ในนามขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ได้รับการสนับสนุนจากเครื่องบินรบของกาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่ 6 ชาติ สมาชิกสันนิบาตอาหรับ ได้ช่วยเจรจากับอดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ที่เจอคลื่นการประท้วง จนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
และในที่สุด ก็ยอมสละอำนาจ และ 6 ชาติ ยังช่วยกดดันประธานาธิบดีบาชาร์ อัสซาด ของซีเรีย ที่ได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของอิหร่านด้วย
ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงเตือนมาจากคนวงในของสหรัฐเองเช่นกันว่า ไม่มีใครมีภูมิคุ้มกันจากคลื่นของความเปลี่ยนแปลง ทำให้บรรดาผู้ปกครองทั้งหลายของชาติอาหรับจำเป็นต้องยอมรับการปฏิรูป ส่วนเรื่องอาหรับ สปริง ก็เป็นบทเรียนที่สอนเรื่องการทูตที่เปราะบางของสหรัฐ ทั้งในเรื่องของความอดกลั้นและการมองโลกอย่างมีมิติ ซึ่งการหวนกลับไปในภูมิภาคแห่งนี้ หลังยุคอาหรับ สปริง สหรัฐจะต้องทำให้ดีกว่าเดิม แต่ไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องแข็งแกร่งกว่าเดิม
คนวงในยังเตือนด้วยว่า สหรัฐจะต้องทำงานหนักมากขึ้นในด้านข่าวกรอง ความสัมพันธ์ทางการทูต และการทำข้อตกลงในด้านพาณิชย์ งานใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้า น่าจะเป็นเรื่องของอิรักและการแข่งขันด้านอิทธิพล กับเพื่อนบ้านอย่างอิหร่าน หลังจากสหรัฐ ถอนทหารออกหมดแล้ว
นอกจากนี้ อิรักกับอิหร่าน อาจแย่งกันขยายอิทธิพลไปยังซีเรีย ที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอิหร่าน ซึ่งจะก่อให้เกิดความวิตกในหมู่เจ้าผู้ครองนครหลายประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ความเป็นผู้นำของสหรัฐ ยังคงมีความสำคัญ แต่อาหรับ สปริง ได้ก่อให้เกิดนักการทูตที่มีความคิดอิสระมากขึ้นในหลายประเทศ และเกิดพลังในหมู่คนอาหรับรุ่นใหม่
นั่นหมายความว่า สหรัฐยังคงมีฐานะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคแห่งนี้ แต่ไม่ใช่ "พี่ใหญ่ "อีกต่อ")
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์