มุขมนตรีเปอร์ลิส ถกคืบหน้า "โครงการสตูล-เปอร์ลิส"
สำนักข่าวอะลามี่: มุขมนตรีรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย เข้าหารือรักษาการผู้ว่าฯจังหวัดสตูล ติดตามความคืบหน้า “โครงการก่อสร้างถนนสายสตูล - รัฐเปอร์ลิส" เบื้องต้นมาเลเซียสนใจ แต่ต้องให้ไทยมีความชัดเจนเรื่องเส้นทางก่อน เผยเส้นทางเลือกที่ 3 ก่อสร้างสะพานเริ่มต้นทางที่บ้านตำมะลัง เชื่อมต่อกับตำบลปูยู และ รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย น่าจะมีโอกาสเ พราะกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้(9 ธ.ค.54) ที่ห้องประชุมโต๊ะพญาวัง ศาลากลางจังหวัดสตูล จ.สตูล ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารจากรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย กับหัวหน้าส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องของ จ.สตูล โดยฝ่าย จ.สตูล นำโดย นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รอง ผวจ.สตูล นายธานินทร์ ใจสมุทร ส.ส.สตูล โดยฝ่าย จ.สตูล มีประมาณ 30 คน ส่วนฝ่ายมาเลเซีย นำโดย ดาโต๊ะ มูฮำหมัดอีซา ซาบู มุขมนตรรีรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย พร้อม เจ้าหน้าที่จากรัฐเปอร์ลิส ประมาณ 40 คน ทั้งนี้ได้มีการประชุมปรึกษาหารือถึงความคืบหน้าการสร้างถนนสายสตูล-เปอร์ลิส
ที่ประชุมโดย ฝ่ายประเทศมาเลเซีย ระบุว่า การมาในครั้งนี้เพื่อมารับฟังโครงการขุดเจาะอุโมงค์มุดภูเขาสันกาคีรี ที่ในพื้นที่ ต. คลองขุด และ ต. ปูยู อ.เมืองสตูล ไปจะไปโผล่ในฝั่งประเทศมาเลเซีย ซึ่งทางฝ่ายไทยต้องการให้เกิดเส้นทางคมนาคมทางบก เชื่อมระหว่างสองประเทศ จึงอยากให้จังหวัดสตูลเร่งแจกแจงและทบทวนเส้นทางของโครงการฯ ดังกล่าวใหม่ เพราะพบว่าเส้นทางที่จังหวัดคิดไว้นั้นกระทบกับสิ่งแวดล้อมฯ
ขณะที่ตัวแทนจากจังหวัดสตูล ระบุว่า ขณะนี้ได้กำหนดไว้ 3 เส้นทางเลือก คือ เส้นทางเลือกที่ 1 จะใช้เส้นทางสายควนสตอ-บ้านวังประจัน อ.ควนโดนที่มีอยู่แล้วเพียงแต่ปรับปรุงขยายช่องทางจราจรให้กว้างกว่าเดิม และ เส้นทางเลือกที่ 2 เจาะอุโมงค์ มุดภูเขาสันกาลาคีรีผ่านทะลุมาเลเซีย และเส้นทางเลือกที่ 3 ก่อสร้างสะพานเริ้มต้นทางที่ บ้านตำมะลัง เชื่อมต่อกับตำบลปูยูและ กับรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลอนุมัติงบศึกษาความเป็นไปได้แล้ว 35 ล้านบาท
นายเหนือชาย กล่าวว่า จังหวัดสตูลต้องการมีเส้นทางบกเชื่อมต่อระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เพื่อการไปมาสะดวก แต่จังหวัดสตูลไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องนี้ การตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาลกลางว่าจะสร้างหรือไม่ โดยจังหวัดสตูล เป็นเพียงผู้เสนอเรื่องงบประมาณ 35 ล้านบาท เพื่อให้ฝ่ายเกี่ยวข้องทำการศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามจังหวัดสตูลเอง ก็ต้องศึกษาโครงการดังกล่าวกันละอียด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่โครงการผ่าน
ขณะที่ ดาโต๊ะ เซอรี่ ดร.มูฮาหมัด อีซา กล่าวว่า ประเทศมาเลเซียยังไม่มีคำตอบได้ว่า รัฐบาลมาเลเซีย เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวนี้หรือไม่ โดยยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นได้เช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าเส้นทางที่เลือกที่มีความเหมาะสมที่สุด น่าจะเอาเส้นทางเลือกที่ 3 ก่อสร้างที่ตำบลตำมะลังเชื่อมกับ ตำบลปูยู ก่อนจะไปเชื่อมต่อกับ รัฐเปอร์ลิส ของมาเลเซีย โดยจะเป็นเส้นทางเลียบพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันซึ่งกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ส่วนการขุดอุโมงค์ฯนั้นเชื่อว่า จะกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ เพราะต้องระเบิดภูเขาด้วย
ด้าน นายมาเลย์ โต๊ะดิน นายกอบต.ปูยู กล่าวว่า หากรัฐบาลมาเลย์และรัฐบาลไทย จ.สตูล ส.ส.สตูล มีความเห็นชอบ ที่จะทำโครงการก่อสร้างสะพานปูยู-รัฐเปอร์ลิส ซึ่งชาวเกาะปูยู และคนสตูลทั้งหมด ก็คงเห็นด้วยกับรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวไม่มีแรงต่อต้านจากทุกฝ่าย
" มติประชุมดังกล่าวในวันนี้ จะได้เสนอต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ทราบถึงความประสงค์ของชาวสตูลและรัฐเปอร์ลิส ที่ได้ให้ความสำคัญกับโครงการสตูล-เปอร์ลิส " นายมาเลย์ กล่าวและว่า
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานปูยู-รัฐเปอร์ลิส เชื่อว่าจะสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับมาเลเซียและประเทศไทยรวมถึงการพัฒนาสมาคมอาเซียน ได้เป็นอย่างดียิ่ง และคนปูยู ทั้งหมดจำนวน 3,500 คน จะมีความสุขอย่างแน่นอน