นิคมไฮเทค คืนสู่ภาคการผลิตแล้ววันนี้!!
สำนักข่าวอะลามี่ : กระทรวงแรงงาน ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดงาน “คืนสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม” หรือ RESTART TO OPERATION ณ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้าหรือไฮเทค อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา หลังนิคมถูกน้ำท่วม การจัดงานครั้งนี้ เป็นการประกาศความพร้อมของการกลับมาผลิตของโรงงานต่าง ๆ ในนิคมแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งหมด 143 โรงงาน เงินลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท มีการจ้างงาน 60,000 คน ขณะนี้มีโรงงานเริ่มผลิตแล้วประมาณ 90 แห่ง หรือร้อยละ 62
นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ บางปะอิน บ้านหว้าหรือไฮเทค เริ่มกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว ทางภาครัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รวมถึงรัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องต่างก็ได้พยายามเร่งฟื้นฟู
สำหรับพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมจะเร่งสูบน้ำออกโดยไม่ให้กระทบกับพี่น้องประชาชน สำหรับมาตรการต่างๆ ในการฟื้นฟูช่วยเหลือนายจ้าง/ลูกจ้างที่ประสบอุทกภัยของกระทรวงแรงงาน อาทิ ให้นายจ้างกู้เพื่อฟื้นฟูกิจการไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนลูกจ้างกู้เพื่อซ่อมแซมบ้านไม่เกินรายละ 50,000 บาท และสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องการจ้างงาน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งล่าสุดบอร์ดประกันสังคมได้ให้ความเห็นชอบโดยในส่วนนี้จะเริ่มกู้ได้ในวันที่ 1 ม.ค. 2555 ส่วนลูกจ้างที่ยังไม่ เลิกจ้าง จะมีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อหาตำแหน่งงานรองรับแก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้เข้าทำงานเป็นการชั่วคราวในสถานประกอบกิจการใกล้เคียง
" ขณะนี้มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการแล้วราว 600 แห่ง ลูกจ้างกว่า 7 หมื่นคน โดยมีสถานประกอบกิจการรับลูกจ้างเข้าทำงานแล้วราว 101 แห่ง ลูกจ้าง 11,348 คน "นายอนุสรณ์ กล่าวและว่า
ส่วนโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง สำหรับสถานประกอบกิจการที่ไม่เลิกจ้างและยังคงจ่ายค่าจ้าง ให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างเดิม โดยรัฐช่วยสมทบการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างคนละ 2,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน และมีข้อตกลงว่าจะไม่เลิกจ้าง หากเลิกจ้างแล้ว จะได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง จากนายจ้าง ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กรณีไม่ได้รับ กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะจ่ายให้ในอัตราไม่เกิน 60 เท่าของค่าจ้างรายวัน
ด้าน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธี เปิดเผยว่า หลังนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า หรือไฮเทค อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม และน้ำแห้ง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนจึงร่วมกันจัดงานคืนสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือ RESTART TO OPERATION ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) เพื่อประกาศความพร้อมของการกลับมาผลิตของโรงงานต่างๆ
" ในนิคมแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งหมด 143 โรงงาน เงินลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท มีการจ้างงาน 60,000 คน ขณะนี้มีโรงงานเริ่มผลิตแล้วประมาณ 90 แห่ง หรือร้อยละ 62" นายวิทยา กล่าว
ขณะที่ นายทวิช เตชะนาวากุล ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กล่าวว่า งานวันนี้แสดงความเชื่อมั่นต่อทุกฝ่ายในการกลับคืนมาผลิตหลังเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ จากปัญหาน้ำท่วมคาดว่าจะมีโรงงานย้ายไปประเทศอื่นประมาณร้อยละ 3 ของโรงงานทั้งหมดซึ่งถือเป็นอัตราต่ำ นอกจากย้ายฐานจากปัญหาน้ำท่วมแล้วยังต้องการย้ายไปสู่ประเทศที่มีการจ้างงานอัตราต่ำกว่า
ส่วนการป้องกันน้ำท่วมในอนาคตทางนิคมฯ วางแผนลงทุนเพิ่มในการสร้างคันเขื่อนถาวร โดยสิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็น คือ ความชัดเจนของแผนบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลควรประกาศแผนให้ชัดภายในสิ้นปีนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกฝ่าย
นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม คาดว่านิคมและสวนอุตสาหกรรมทั้ง 5 แห่งในอยุธยาจะกลับมาเดินเครื่องปกติตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ขณะนี้พื้นที่ทุกแห่งเริ่มแห้งแล้ว ยกเว้นนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร คาดว่าจะสูบแห้งภายในวันที่ 5 ธันวาคม ทำความสะอาดครั้งใหญ่หรือบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ วันที่ 7 ธันวาคม ทุกแห่งถือว่าแห้งเร็วและสามารถกลับมาผลิตเร็วกว่าแผนเดิมที่คาดว่าจะเริ่มวันที่ 16 ธันวาคม ส่วนที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจก้าจะมีการให้เงินกู้ยืมพิเศษ 500 ล้านเยน เพื่อสร้างคันเขื่อนป้องกันน้ำในนิคมฯ โดยจะเลือกเพียง 1 แห่ง คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเลือกได้ว่าเป็นนิคมใด
ด้าน นายดอน พร้อมเจริญ หัวหน้าแผนก บริษัทแมริกอท ผลิตเครื่องประดับส่งออก กล่าวว่า มีลูกจ้างกว่า 3,000 คน บริษัทหยุดดำเนินการมาประมาณ 1 เดือนครึ่ง แต่ทุกคนได้รับค่าจ้าง 100% ขณะน้ำท่วมทุกคนได้รับแจ้งข้อมูลข่าวสารของบริษัทผ่านฝ่ายบุคคล คาดว่าจะเปิดทำการได้ประมาณ 6 ธันวาคม อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือดูแลในการเดินทางมาทำงานเพราะบ้านถูกน้ำท่วมทำให้เดินทางไป-กลับมีความลำบาก ค่าโดยสารมีราคาแพงกว่าปกติ
คุณสุภาพร หอมสุวรรณ พนักงานธุรการ บริษัทฟูจิโมโต ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่งให้บริษัทรถยนต์ฮอนด้า กล่าวว่า พนักงานทุกคนยังคงได้รับเงินเดือน 100% และยังไม่มีสัญญาณการเลิกจ้างจากนายจ้าง ทุกคนได้รับการดูแลทั้งเรื่องสวัสดิการและค่าเช่าบ้านคนละ 1,500 บาท และบริษัทยังมีเบี้ยเลี้ยงให้สำหรับคนที่มาทำงานช่วงน้ำท่วม ขณะนี้บริษัทเปิดดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน อยากให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านพักอาศัยและสิ่งของที่ถูกน้ำท่วม
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานยังมีการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้การดูแลเยียวยาภาคประชาชนและภาคแรงงาน ในหลายกิจการ อาทิ การจัดหน่วยเคลื่อนที่และคลีนิกช่าง ฝึกอบรมอาชีพเสริม จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประกันสังคม ผลิตสุขา ลอยน้ำ และเครื่องกรองน้ำ เพื่อมอบให้ผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งหลังจากเปิดงานแล้วได้มีการตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการ ได้แก่ แคนนอน แอปปิโกไฮเทค โดยโรงงาน 2 แห่ง มีการจ้างงานรวมเกือบ 8,000 คน สถานประกอบกิจการในอยุธยา มี 5,364 แห่ง ลูกจ้าง 380,000 คน.