Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   จับกระแสเลือกตั้งกรรมการอิสลามชายแดนใต้

 จับกระแสเลือกตั้งกรรมการอิสลามชายแดนใต้

            สำนักข่าวอะลามี่ : ความเคลื่อนไหวเงียบๆ แต่ส่งผลสะเทือนสูงที่ดำเนินอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ คือการเตรียมการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ พร้อมๆ กับการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอื่นๆ อีก 33 จังหวัดทั่วประเทศไทย

          "กระบวนการคัดเลือก" ซึ่งหลายคนเรียกว่าเป็น "การเลือกตั้ง" กำหนดหลักการและวิธีการไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 และกฎกระทรวง (พ.ศ.2542)

          โดยในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม หมวด 4 ว่าด้วยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มาตรา 23 บัญญัติว่า จังหวัดใดมีราษฎรนับถือศาสนาอิสลามและมีมัสยิดตามมาตรา 13 ไม่น้อยกว่า 3 มัสยิด ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกาศให้จังหวัดนั้นมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการมีจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คนแต่ไม่เกิน 30 คน

          การคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการให้อิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเป็นผู้คัดเลือก ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

          ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการด้วยกันเป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการและตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น

          ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในราชกิจจานุเบกษา


เปิดแคนดิเดต 3 จังหวัด 6 ทีม

          ต้องยอมรับว่ากระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากนัก โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สาเหตุประการหนึ่งอาจเป็นเพราะกฎหมายไม่ได้เปิดให้ประชาชนมีสิทธิร่วมคัดเลือกเป็นการทั่วไป ฉะนั้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย จึงร่วมกับสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยสาขายะลา สมาคมจันทร์เสี้ยวจังหวัดยะลา ชมรมนักธุรกิจจังหวัดยะลา และองค์กรภาคประชาชนมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเสวนาในหัวข้อ "บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่อการพัฒนาสังคม" ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยภายในงานได้เปิดให้ผู้ที่เสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้แถลงนโยบายและวิสัยทัศน์ ตลอดจนรณรงค์ให้กระบวนการคัดเลือกเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมด้วย

          นายนิมุ มะกาเจ ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดยะลา ซึ่งไปร่วมการเสวนาด้วย กล่าวว่า ขณะนี้มีทีมที่เสนอตัวเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละ 2 ทีม กล่าวคือ

          จ.ยะลา ได้แก่ ทีมอามานะห์ หรือทีมของนายวันอับดุลกอเดร์ แวมุสตอฟา กับทีมของ นายอับดุลเราะแม เจะแซ

          จ.ปัตตานี ได้แก่ ทีมของ นายแวดือราแม  มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่กำลังจะหมดวาระ กับทีมของ นายนิเดร์ วาบา นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตดาโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดปัตตานี

          จ.นราธิวาส ได้แก่ ทีมของ นายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กับทีมของ นายนิแวอาลี หะยีดอเลาะห์ ดาโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดนราธิวาส

          "คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเป็นผู้นำองค์กรศาสนาในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทแก้ไขปัญหาหลากหลายในท้องถิ่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเยาวชน ปัญหายาเสพติด ปัญหาเกี่ยวกับอาหารฮาลาล รวมทั้งสานสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการร่วมสถาปนาสันติสุขให้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" นายนิมุ กล่าว


ที่มา: คัดลอกบางส่วนจากสำนักข่าวอิศรา.