เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 บริษัท เทพา ทรานซิท เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ประกอบการกิจการท่าเทียบเรือ ในพื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ได้ว่าจ้าง บริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ต่อขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จัดขึ้น ณ อาคารลานจอดรถ องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง หมู่ที่ 1 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จากตัวแทนจากราชการ สถานพยาบาล สถานศึกษา กลุ่มประมง หน่วยงานภาคเอกชน ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กร ผู้นำศาสนาและตัวแทนจากชาวบ้าน ในรัศมี 5 กิโลเมตร กว่า 300 คน
นายอนุมัติ อาหมัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพา ทรานซิท เทอร์มินอล จำกัด กล่าวว่า โครงการท่าเทียบ เทพา ทรานซิท เทอร์มินอล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทพา (ฝั่งตะวันออก) เลขที่ 123 หมู่ที่ 4 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นท่าเรืออเนกประสงค์รับ-ส่งสินค้าทั่วไป ได้แก่ สินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ไม้สับ เป็นต้น และสินค้ากลุ่มงานก่อสร้าง เช่น หิน ปูนซีเมนต์บรรจุถุง เป็นต้น
นายอนุมัติ อาหมัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพา ทรานซิท เทอร์มินอล จำกัด
โดยท่าเทียบเรือ เทพา ทรานซิท เทอร์มินอล ได้รับอนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ จากสำนักงานเจ้าท่า ภูมิภาคที่ 4 และได้รับอนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือในเขตที่ดินกรรมสิทธิ์จากองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง สำหรับเป็นท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส เพื่อใช้เทียบเรือในการรับ-ส่งสินค้าทั่วไป ในปี พ.ศ. 2558
ในระหว่างนั้น กรมเจ้าท่า ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือที่มีใบอนุญาตใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส แต่มีใครงสร้างที่รองรับเรือเกินกว่า 500 ตันกรอส สามารถยื่นขอเปลี่ยน วัตถุประสงค์การใช้ท่าเทียบเรือ ให้รองรับเรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสได้ โดยได้ออกระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสได้ (พ.ศ. 2557) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้ท่าเทียบเรือที่มีอยู่เดิมและได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าแล้ว สามารถรองรับเรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส เข้าเทียบท่าเรือได้ โดยต้องไม่มีการก่อสร้างท่าเทียบเรือเพิ่มเติมไปจากใบอนุญาตเดิม และมีวิศวกรโยธาระดับวุฒิวิศวกรเป็นผู้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของท่าเทียบเรือว่าสามารถรองรับเรือขนาดเกินกว่า 500ตันกรอส เข้าเทียบท่าได้อย่างปลอดภัย ไม่กีดขวางการจราจรทางน้ำ และสามารถกลับลำเรือได้
ซึ่งท่าเทียบเรือของโครงการ ได้รับความเห็นชอบให้เปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือตามระเบียบดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการหรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 4ง ลงวันที่ 5 มกราคม 2567 โครงการลำดับที่ 22
โดยท่าเทียบเรือเทพา ทรานซิท เทอร์มินอล เป็นท่าเทียบเรือที่มีความประสงค์จะใช้เทียบเรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส ซึ่งมีความยาวหน้าท่าเท่ากับ 96.0 เมตร มีความกว้างของท่าเทียบเรือเท่ากับ 8.0 เมตร และมีพื้นที่ท่าเทียบเรือเท่ากับ 835.2 ตารางเมตร เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว และเพื่อนำไปประกอบการขออนุญาตเปลี่ยน วัตถุประสงค์หรือการใช้ท่าเทียบเรือตามระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสได้ พ.ศ. 2563 ต่อไปนั้น และเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและประกาศฯ ดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้ บริษัท สิ่งแวดล้อมสยาม จำกัด ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตั้งแต่เริ่มต้น
ทางโครงการจึงได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1) เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินงานของ โครงการท่าเทียบเรือ เทพา ทรานซิท เทอร์มินอล ตามแนวทางและวิธีการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด
2) เพื่อนำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปประกอบการขออนุญาตตามระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสได้ พ.ศ. 2563
3) เพื่อนำผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปปฏิบัติควบคู่กับการดำเนินโครงการต่อไป
นายนันต์อินทร์ ศิริรัตน์ ปลัดอำเภอเทพา เป็นผู้แทนจากนายอำเภอเทพา กล่าวว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการท่าเทียบเรือ เทพา ทรานซิท เทอร์มินอล ในวันนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส โดยมีความยาวหน้าท่าเท่ากับ 96.0 เมตร มีความกว้างของท่าเทียบเรือเท่ากับ 8.0 เมตร และมีพื้นที่ท่าเทียบเรือเท่ากับ 835.2 ตารางเมตร
นายนันต์อินทร์ ศิริรัตน์ ปลัดอำเภอเทพา
ซึ่งจากประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการกิจการหรือการดำเนินการฯ ที่ต้องจัดทำรายงาน EIA พ.ศ. 2566 และระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสได้ พ.ศ. 2563 ส่งผลให้ท่าเทียบเรือที่ประสงค์จะใช้เทียบเรือที่ขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส ท่าเทียบเรือของบริษัท เทพา ทรานชิท เทอร์มินอล จำกัด ต้องเข้าสู่กระบวนการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมถือเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน เนื่องจากจะมีเครื่องมือสำหรับใช้ควบคุมและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากการประกอบกิจการของท่าเทียบเรือในหลายมิติที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมเพื่อรับความคิดเห็นของประชาชนในวันนี้
“ ในฐานะผู้ดูแลและรับผิดชอบในพื้นที่อำเภอเทพา ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันจัดการประชุมในวันนี้ และขอขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วม เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอำเภอเทพาของเรา” นายนันต์อินทร์ กล่าว
นายณัฐพล หิมะเจริญ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม ผู้จัดการโครงการจาก บริษัทสิ่งแวดล้อมสยาม จำกัด กล่าวว่าการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบการยื่นขออนุญาต จึงเป็นที่มาว่าทำไมโครงการจะต้องทำรายงาน ซึ่งโครงการจะขออนุญาตตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าด้วยโครงการที่เข้าข่ายต้องทำรายงานสำหรับกรอบในการศึกษาจะประกอบด้วย ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ ในการศึกษาสภาพแวดล้อมโดยทั่วๆไป ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ ได้แก่ทรัพยากรทางน้ำ ชีวภาพทางน้ำบนบก ป่าไม้ สัตว์ป่าและคุณภาพการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นเรื่องระบบสาธารณูปโภคภายในบริเวณพื้นที่ศึกษาของโครงการ และความเป็นอยู่ของคนในชุมชน
นายณัฐพล หิมะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อม ผู้จัดการโครงการ บริษัท สิ่งแวดล้อมสยาม จำกัด
สำหรับการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในวันนี้นับเป็นประโยชน์กับโครงการ เราจะรวบรวมมาเป็นข้อมูลเพื่อนำไปลดผลกระทบจากโครงการ ซึ่งเวทีในวันนี้ชาวบ้านบางคน กังวลเรื่องเสียง มาตรการในการป้องกันฝุ่น รวมถึงเรื่องตะกอนในพื้นน้ำ เราจะหามาตรการป้องกันว่า ถ้าในอนาคตมีการขุดลอกจากกรมเจ้าท่า จะมีมาตรการยังไงได้บ้าง
“ สำหรับระยะเวลาการศึกษา เราจะศึกษาระยะเวลา 1 ปี เพราะว่าเราศึกษาอย่างน้อย 2 ฤดูกาล ครอบคลุมทั้งฤดูฝน ซึ่งจะยังอยู่ในช่วงนี้ และฤดูแล้งในช่วงของปีหน้า การจัดทำเพื่อศึกษาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอันนี้จะเป็นมาตรการที่ได้รับความเห็นชอบและเป็นเอกสารของทางราชการ ซึ่งไปบังคับใช้กับโครงการต่อไป ซึ่งโครงการจะต้องปฏิบัติตาม” นายณัฐพล กล่าว
นายกเทศบาลตำบลเทพา
นายก อบต. ปากบาง
ตัวแทนชาวบ้าน
ตัวแทนชาวบ้าน
ตัวแทนชาวบ้านติดโครงการท่าเทียบเรือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับฟังความคิดเห็นในวันดังกล่าว ชุมชนเสนอให้มีคณะกรรมการชุมชน เพื่อประสานงานกับโครงการ ในกรณีที่มีปัญหากระทบกับชาวบ้านในมิติต่างๆ โดยมีตัวแทนชุมชนเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อรับเรื่องร้องเรียน และนำไปสู่การเจรจาแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งทางผู้บริหารโครงการท่าเทียบเรือ เทพา ทรานซิท เทอร์มินอล ยินดีและพร้อมให้การสนับสนุนชาวบ้านเต็มที ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว