Thailand Halal Assembly 2022
โชว์ศักยภาพฮาลาลไทยต้นแบบของฮาลาลทั่วโลก
สำนักข่าวอะลามี่ : งาน “Thailand Halal Assembly 2022”โชว์ศักยภาพ “ฮาลาลเพชรประเทศไทย” (Thailand Diamond Halal) ผ่านการร่วมพลังสร้าง Soft Power ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมฮาลาล ให้โลกทั้งโลกได้เห็นถึงศักยภาพฮาลาลไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ มุ่งหวังสร้างมิติใหม่ของฮาลาลให้ฮาลาลไทยเป็นต้นแบบของฮาลาลทั่วโลก
การจัดสุดยอดงานฮาลาลที่ดีที่สุดในไทย การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “Thailand Halal Assembly 2022” ภายใต้แนวคิด Soft Powering of Halal Science, Technology and Innovation ระหว่างวันที่ 15 - 16 ธันวาคม 2565 ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) ชั้น 8 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทางออนไลน์ มุ่งหวังสร้างมิติใหม่ของฮาลาลให้ฮาลาลไทยเป็นต้นแบบของฮาลาลทั่วโลก
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานจัดงาน กล่าวว่า งาน Thailand Halal Assembly 2022” จัดขึ้นเป็นปีที่ 9 ซึ่งงานนี้นับเป็นงานระดับนานาชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านต่างๆ ของกิจการฮาลาลในประเทศไทย ผ่านแนวคิด Soft Powering of Halal Science, Technology and Innovation ที่ จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนารากฐานงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ การศึกษา ธุรกิจ อุตสาหกรรม สังคม ชุมชนในปัจจุบัน เพื่อก้าวสู่อนาคตยุคเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทย เพราะรับรู้กันว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คือวิทยาการอันนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมที่เด่นด้วยบุคลิกทางกายภาพอันสัมผัสได้ บ่งชี้ความเป็น “พลังกร้าน” (Hard Power) อย่างเด่นชัด ทว่าเมื่อหลอมรวมความเป็นฮาลาลเข้าไว้ภายใน ความกร้านเหล่านั้นกลับถูกแต่งแต้มด้วยคุณค่าเชิงจิตวิญญาณ แปรเปลี่ยนพลังกร้านเป็น “พลังละมุน” (Soft Power) ที่แสดงความสูงส่งทางคุณค่าเชิงสัญญะได้อย่างน่าอัศจรรย์ ยิ่งผสานความเป็นไทยเพิ่มเติมเข้าด้วยแล้ว วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาลแห่งแผ่นดินเหล่านี้ต่างเปล่งประกายแสดงความเป็น “ฮาลาลเพชรประเทศไทย” (Thailand Diamond Halal) ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
งาน “Thailand Halal Assembly 2022” เป็นงานที่รวมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการฮาลาล โดยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ภายในงานปีนี้ประกอบด้วย งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล The International Halal Science and Technology Conference (IHSATEC) 2022: the 15th Halal Science Industry and Business (HASIB)) Conference เป็นการประชุมที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 15 ซึ่งภายในงานมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญรับเชิญทั้งไทย มากกว่า 30 คน จาก 14 ประเทศ และยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการและวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ (Proceedings) รวมทั้งร่วมประกวดผลงานวิชาการ โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่
Session-1: Keynote Speech
“SOFT POWERING OF HALAL SCIENCE, TECHNOLOGY, AND INNOVATION”
Session-2:
"INNOVATIVE HALAL PRODUCTS THAT STEER THE FUTURE"
Session-3:
"TRACKING AND TRACING TECHNOLOGY FOR HALAL QUALITY CONTROL"
Session-4:
"BLOCKCHAIN-BASED TRACEABILITY FOR HALAL PRODUCTS AND SERVICES"
Session-5:
"FUTURE, CHALLENGES AND OPPORTUNITIES OF HALAL PRODUCTS"
และการประชุมนานาชาติว่าด้วยมาตรฐานและการตรวจรับรองฮาลาลครั้งที่ 8 (The 8th International Halal Standards and Certification Convention, IHSACC) ร่วมกับเลขาธิการกรรมาธิการวิชาการมาตรฐานฮาลาลภายใต้สถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาสำหรับประเทศอิสลาม เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้แทนขององค์กรรับรองฮาลาลประเทศต่างๆ กว่า 50 องค์กร ในธีมของ "การพัฒนามาตรฐานฮาลาลเพื่อรองรับแนวโน้มของผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ในอนาคต" โดยมีขอบข่ายการประชุม 8th IHSACC ดังนี้
1. นโยบายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบ การปรับเทียบ การให้การรับรอง การรับรองคุณภาพ และ มาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของมาตรฐานฮาลาลสำหรับแนวโน้มอาหารในอนาคต
3. การสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวฮาลาลและการบริการที่เกี่ยวข้อง
4. ระบบติดตามและระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับความยั่งยืนของฮาลาล
5. อดีต สถานะปัจจุบัน และสิ่งที่คาดหมายของมาตรฐานฮาลาลในอนาคต
และยังเชิญนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมยกร่างมาตรฐานมาร่วมบรรยายในครั้งนี้ด้วย
อีกทั้ง มีการจัดแสดงนิทรรศการวิชาการ ภายใต้หัวข้อ “Soft Powering of Halal Science, Technology, and Innovation” เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลถือเป็น Soft Power หรือ พลังละมุนของประเทศไทยที่มีต่อการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการฮาลาลสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อนานาประเทศ รวมถึงเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของฮาลาลประเทศไทย
ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทุกชุดได้ให้การสนับสนุนงานด้านฮาลาลด้วยดีมาโดยตลอด ทำให้พลังละมุน หรือ Soft Power นี้เกิดการขับเคลื่อนที่ทรงพลัง เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ประเทศไทยมีต่อ การพัฒนางานด้านฮาลาล ตลอดจนการส่งเสริมธุรกิจการค้าและบริการฮาลาลของประเทศ เพื่อให้งานพัฒนาฮาลาลประเทศไทยก้าวถึงระดับที่มุ่งหวัง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของการจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “Thailand Halal Assembly 2022” นั้นเอง รศ.ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย
สำหรับผลการสัมฤทธิ์การประชุมการจัดสุดยอดงานฮาลาลที่ดีที่สุดในไทย การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “Thailand Halal Assembly 2022” งานวันสุดท้าย 16 ธันวาคม 2565 เวลา 9.00 น. มีการลงนาม MOU ระหว่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ กับสามสถาบันประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ Universitas Islam Bandung (UNISBA), Universitas Muhammadiyah A.R. Fachruddin และ Research Synergy Foundation (RSF) ทางสองมหาวิทยาลัย จะส่งนักวิจัยร่วมงานกับทางศูนย์ ต่อไป