ครบรอบ 19 ปี “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ”
เปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล”
++ ถ่ายทอดความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ชุมชม เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำพิธีเปิด “ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” และเปิดอาคารเอร์ฟาน-ยุพา ดะห์ลัน อย่างเป็นทางการ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 89 หมู่ 4 ตำบลชุมพล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก บนพื้นที่ 4 ไร่ 1 งาน โดยได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่ในการดำเนินงานจากมูลนิธิมุฮัมมดียะฮฺ
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตอย่างยั่งยืน “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ” ผู้นำในด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล พัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสร้างผลงานที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับสู่สังคม มีนโยบายที่จะขยายขอบเขตสู่การบริการภาคชุมชน และงานด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างนวัตกรรมและสร้างธุรกิจฐานรากในชุมชน จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” หวังนำองค์ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 19 ปีของการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยแนวนโยบายของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะขยายขอบเขตงานสู่การบริการภาคชุมชนและงานด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างนวัตกรรม สร้างธุรกิจฐานรากในชุมชน และภายในวันครบรอบการจัดตั้งศูนย์ฯ ในวันที่ 13 สิงหาคม 2565 นี้ ทางศูนย์ฯ พร้อมทำพิธีเปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” และพิธีเปิดอาคารเอร์ฟาน-ยุพา ดะห์ลัน อย่างเป็นทางการ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่ในการดำเนินงาน จากมูลนิธิมุฮัมมดียะฮฺ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 89 หมู่ 4 ตำบลชุมพล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
จากโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม
เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรด้วยการแปรรูป รวมถึงการปรับเปลี่ยนสินค้าเกษตรไปสู่การผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีการเกษตรและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่เป็นที่ต้องการของตลาดจากวัตถุดิบทางการเกษตรและพืชในท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แพลนต์เบส ดังนั้นการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาลสามารถช่วยในการเพิ่มมูลค่าผลิตทางการเกษตรได้
“ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” (Halal Innovation Community Learning Center) เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย มูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺ ซึ่งมีนโยบายร่วมกันที่จะสร้างศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ภาคชุมชน เป็นการต่อยอดภาคทฤษฎี สู่ภาคปฏิบัติ เน้นพัฒนาธุรกิจฮาลาลเพื่อเป็นโอกาสในการขยายตลาดของประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นศูนย์ฝึกในการพัฒนานวัตกรรมฮาลาลในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบการเกษตร งานพัฒนาผลิตภัณฑ์คอสเมติก เป็นต้น “รศ.ดร.วินัย กล่าวและว่า
อีกทั้งยังเป็นส่วนช่วยในการให้ความรู้กับประชาชนสู่ชุมชนในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมีแผนงานที่ร่วมกับมูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺ เพื่อทำโรงเรียนสอนคิด (Thinking School) ให้กับเยาวชนในชุมชน เพื่อสร้างรากฐานกระบวนการคิดที่เป็นระบบ การสอนเพื่อให้เกิดการตั้งคำถาม เพื่อสร้างคนคุณภาพสู่สังคมต่อไป