Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ตามดูเยาวชน นำ 3Rs ปฏิบัติจริง สู่เป้าหมายโรงเรียนปลอดขยะ ซีพีเอฟ ปลูกจิตสำนึกน้องๆต่อเนื่อง


ตามดูเยาวชน นำ 3Rs ปฏิบัติจริง สู่เป้าหมายโรงเรียนปลอดขยะ ซีพีเอฟ ปลูกจิตสำนึกน้องๆต่อเนื่อง 

               สำนักข่าวอะลามี่ : ประเทศไทยกำหนดให้ วันที่ 20 กันยายนของทุกปีเป็น วันเยาวชนแห่งชาติ ด้วยเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา ให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง สังคม และมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป

                วันนี้พามาดูตัวอย่างของเยาวชนที่ร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ จากการตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะ ที่กลายเป็นวาระแห่งชาติและต้องเร่งแก้ไข พวกเขาเริ่มต้นกิจกรรมที่โรงเรียน ด้วยแนวคิดการใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse and Recycle) หรือ 3Rs ผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วมและปลูกจิตสำนึก นำไปสู่ โรงเรียนปลอดขยะ (Zero waste School) ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

 

              ภาคเอกชนอย่าง ซีพีเอฟ หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ตระหนักถึงปัญหานี้ และได้มีส่วนเข้าไปสนับสนุนโรงเรียนหลายแห่งในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีบุคลากรของบริษัท เป็นกำลังสำคัญในการฝึกอบรมการแยกขยะที่ถูกต้อง จัดให้มีถังขยะแยกประเภท เน้นนำขยะมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ

                นางพรจิต ทรวงทองหลาง ผู้อำนวยการ รร.บ้านลาดบัวขาว ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา บอกว่า การบูรณาการร่วมกันระหว่างโรงเรียนและซีพีเอฟ เริ่มจากการที่บริษัทเข้ามาสนับสนุน โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต เพื่อให้โรงเรียนมีแหล่งอาหารที่มั่นคง มีอาหารปลอดภัยจากฝีมือการปลูกและการเลี้ยงสัตว์ของนักเรียนเอง เป็นอาหารกลางวันที่ยั่งยืนให้กับทุกคน และกลายเป็นห้องเรียนอาชีพของเด็กๆ ที่พัฒนาสู่ต้นแบบแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและบุคคลภายนอก ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายยังเล็งเห็นปัญหาร่วมกันด้านการจัดการขยะที่ยังไม่มีระบบที่ดีพอ ซีพีเอฟจึงจัดอบรมให้เด็กๆด้วยกิจกรรมที่สนุกสนาน ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว

                โดยโรงเรียนจัดตั้งธนาคารขยะ มีบัญชีรายบุคคล และโครงการอิ่มสุขฯ สนับสนุนรางวัลในกิจกรรมขยะแลกไข่ไก่ และมอบก้อนเชื้อเห็ดเพื่อนำไปเพาะที่บ้าน ยังมีการจับรางวัลเป็นประจำเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วม ที่สำคัญคือการนำขยะมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยโรงเรียนผูกเรื่องนี้เข้ากับโครงงานอาชีพ วันนี้เด็กๆยังส่งต่อความรู้ไปถึงครอบครัว ทำให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการช่วยแยกขยะพร้อมกับบุตรหลานด้วย

 

              ทางด้าน ด.ช พงศพัศ วงศ์ดี หรือน้องฟลุ๊ค นักเรียนชั้นม.1 รร.บ้านลาดบัวขาว เล่าว่า โครงการนี้ช่วยสอนให้รู้จักนำขยะมาใช้ประโยชน์ ผมนำความรู้ที่ได้ไปบอกพ่อแม่ เพื่อแยกขยะที่บ้าน พ่อกับแม่ช่วยผมรวบรวมขยะด้วย ทุกวันจะสังเกตขยะข้างทางเวลาที่ปั่นจักรยานมาโรงเรียน และเก็บมาเข้าธนาคารขยะ กิจกรรมนี้ทำให้ทุกคนช่วยกันทำให้โรงเรียนสะอาด ในชุมชนเป็นระเบียบ ที่บ้านเรียบร้อยเพราะเราแยกขยะเป็น

 

 

             ส่วน โรงเรียนท่าจีนอุดมวิทยา ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นางปัณฑินา ชะตารัตน์ อำนวยการ บอกว่า เรื่องขยะเป็นศูนย์เป็นสิ่งที่ทำได้ เริ่มจากความรู้ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกคน โดยโรงเรียนจัดทำโครงการ ลดขยะ ลดโรค ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เริ่มต้นจากการแยกขยะก่อนทิ้งและส่งเสริมการทำปุ๋ยจากใบไม้ ที่ซีพีเอฟมาจัดอบรม ทำให้นักเรียนแยกขยะได้อย่างถูกต้องและมีปุ๋ยไว้ใช้เองในโรงเรียน ขอบคุณซีพีเอฟที่เข้ามาสร้างประโยชน์ให้โรงเรียน และยังช่วยสนับสนุนเป้าหมายโรงเรียนปลอดขยะด้วย

                  ด.ญ.นภาพร นวลทุ่ม หรือ น้องน้ำหวาน อายุ 10 ปี นักเรียนชั้นป.5 รร.ท่าจีนอุดมวิทยา เล่าว่า ได้นำความรู้ที่ได้รับจากโรงเรียนไปต่อยอดที่บ้าน โดยแยกถังขยะเป็นประเภทเช่น ขยะพลาสติก กระดาษ สามารถนำไปขายเป็นรายได้ ส่วนการทำปุ๋ยหมักจากใบไม้ก็นำไปใช้กับแปลงผักสวนครัวที่บ้าน ช่วยลดรายจ่าย และได้รับประทานผักปลอดภัย

                ขณะที่ โรงเรียนชุมชนบ้านน้ำน้อย ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งซีพีเอฟจะเน้นในเรื่องการรณรงค์สร้างจิตสำนึกการกำจัดขยะด้วยหลัก 3Rs โดยนำขยะบางส่วนมาประดิษฐ์ในวิชาการงานอาชีพ และรีไซเคิลเป็นขวดน้ำยาล้างจานเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ปกครองผ่านสหกรณ์ ส่วนใบไม้นำไปหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้ในแปลงผักโครงการอิ่มสุขฯ และวางแผนจำหน่ายในอนาคต

                 ส่วน โรงเรียนบ้านใหม่สำโรง ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ที่ให้ความสำคัญกับการนำขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยบรรจุเข้าสาระงานประดิษฐ์ อาทิ ทำเป็นสื่อการเรียนการสอน ทำดอกไม้จากถุงพลาสติก นำขวดน้ำทำกระถางต้นไม้และใช้บรรจุน้ำยาล้างจานที่ผลิตเอง และยังมีโครงการ ถังหมักรักษ์โลก เศษอาหารจะสลายตัวเป็นดินใช้ในการเพาะชำต้นไม้ การนำใบไม้มาหมักเป็นดินและปุ๋ยใส่ต้นไม้ และยังนำก้อนเชื้อเห็ดที่เสื่อมสภาพไปทำปุ๋ยหมักขายที่สหกรณ์โรงเรียน

                  ทางด้าน ศูนย์ปัญจวิทยาคาร ต.บางปิด อ.แหลมงอบ จ.ตราด ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 4 ต้นแบบแหล่งเรียนรู้ของโครงการอิ่มสุขฯ ที่ได้ต่อยอดสู่การบูรณาการด้านการจัดการขยะร่วมกับซีพีเอฟ จนเด็กๆสามารถนำความรู้เรื่องการคัดแยกขยะไปทำเองที่บ้าน ขายเองและเกิดรายได้ ส่วนธนาคารขยะของโรงเรียนก็สร้างรายได้จากขยะที่นักเรียนนำมาฝาก พร้อมทั้งนำขยะบางส่วนเข้าชุมนุมหัตถกรรม นำไปรีไซเคิล และทำผลิตภัณฑ์ Upcycling สร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างดี เรื่องนี้ ด.ช.ศิลาพัฒน์ เวชกุล หรือน้องเนม อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นป.6 บอกว่า เมื่อได้เรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะ ก็ได้นำกลับไปทำที่บ้าน มีการแยกขวดพลาสติก ขวดสี ขวดแก้ว พ่อกับแม่ก็ช่วยแยกด้วย จึงทำให้มีขยะมาฝากธนาคารขยะที่โรงเรียน ได้คะแนนสะสมแลกเป็นอุปกรณ์การเรียน กิจกรรมนี้ดีมากที่ช่วยลดขยะและลดโลกร้อนได้ ส่วน ด.ช.สัญชัย กลิ่นพิมล หรือน้องโอ เสริมว่า เขาได้เรียนรู้ว่าการคัดแยกขยะเป็นเรื่องง่าย การนำไปกำจัดหลังจากนี้ก็จะง่ายขึ้น และจะทำกิจกรรมทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านแบบนี้ต่อไป

                  นางสาวพรทิพย์ ธนะประสพ CSR Leader โรงเพาะฟักลูกกุ้งภาคตะวันออก ซีพีเอฟ จ.ตราด เล่าว่า จากแนวคิด WASTE...ไม่ใช่ขยะ นำไปสู่การศึกษาและพัฒนา เปลี่ยน WASTE  เป็น VALUE ช่วยลดปัญหาขยะ โดยบุคลากรของซีพีเอฟนำหลักการ 3Rs ที่ใช้ในโรงงานอยู่แล้ว ขยายผลสู่เยาวชนในสถานศึกษาที่อยู่ใกล้กับสถานประกอบการ โดยร่วมกับโรงเรียนเปิดพื้นที่ในการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์แก่เยาวชน ด้วยการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับขยะแก่เยาวชน ให้พวกเขาได้ปฏิบัติจริงในโรงเรียนและสามารถต่อยอดไปสู่ครอบครัวและชุมชน สำคัญที่สุดคือการทำให้เขาเห็นว่าการแยกขยะเป็นเรื่องง่าย ผ่านกิจกรรมที่สนุกสนาน เริ่มตั้งแต่การสอนให้รู้จักแยกขยะ เห็นคุณค่าว่าขยะสามารถนำมาใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี เพื่อการแก้ปัญหาขยะที่ยั่งยืน

                   ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างกิจกรรมสร้างสรรค์ของเยาวชน ที่ซีพีเอฟร่วมส่งเสริมและปูพื้นฐานแก่น้องๆนักเรียน ในการร่วมกันทำภารกิจจัดการขยะในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุน โรงเรียนปลอดขยะ สู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน