วิกฤติ COVID-19
ภารกิจองค์กรมุสลิม
สู่สายเชือกแห่งศรัทธา
(ตอน 1)
สำนักข่าวอะลามี่ : สถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดนานร่วม 2 ปี ไม่เพียงทำลายระบบเศรษฐกิจ แต่ยังทำลายชีวิตมนุษย์ และยังกระทบต่อสภาพทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมมุสลิม ที่มีกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางความเชื่อศาสนา มีการสั่งปิดมัสยิด งดการละหมาดวันศุกร์ งดการรวมตัวทำกิจกรรมทางศาสนา
นายอิสม่าแอน หมัดอะด้ำ ประธานมูลนิธิคนช่วยคน หนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมของมุสลิม ที่มีทำงานค่อนข้างเด่นในพื้นที่ภาคใต้ เล่าถึงภารกิจของมูลนิธิคนช่วยคน ในสถานการณ์โควิด ในขณะนี้ว่า บทบาทของมูลนิธิคนช่วยคน ในฐานะองค์กรจิตอาสาภาคประชาสังคม ทำได้ตามศักยภาพ เช่น การบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องด้านการยังชีพ อาหารข้าวกล่อง ถุงยังชีพและน้ำดื่ม
ประการที่สอง สนับสนุนและช่วยเหลือเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับเจ้าหน้าที่จิตอาสาในพื้นที่ เช่น ชุด PPE ชุดป้องกันการทำงานและอื่นๆ ประการที่สาม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญคือ การช่วยเรื่องการจัดการศพหรือผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือแพทย์ ในการลำเลียงศพ และจัดการศพให้ถูกต้องตามศาสนาอิสลาม และประการที่สี่ คือ การสร้างคนหรือสร้างนักจิตอาสา เพื่อมากอบกู้วิกฤติให้เพียงพอ ในพื้นที่ต่างๆ
ประธานมูลนิธิคนช่วยคน ย้ำถึงการทำงานของมูลนิธิคนช่วยบคน จะเน้นการประสานงานกับองค์กรในพื้นที่ให้เกิดการทำงานที่เป็นเอกภาพ โดยเฉพาะการทำงานในจังหวัดสงขลาค่อนข้างชัดเจน คือเราประสานงานเชื่อมโยงกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุขจังหวัด( สสจ.)และหน่วยงานในพื้นที่
สำหรับมาตรการทำงานในเชิงรุก เมื่อทราบว่าหมู่บ้านไหนมีการติดเชื้อโควิด มูลนิธิฯจะทำการประสานงานองค์กรในพื้นที่ในการเข้าไปช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามความต้องการของแต่ละพื้นที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นกับต้นทุนของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้เราหารือร่วมกับแพทย์มุสลิม เพื่อให้พี่น้องเข้าถึงการรับวัคซีน เนื่องจากบางพื้นที่ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นเรื่องของวัคซีน เราก็จะเข้าไปทำความเข้าใจ พร้อมกับผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เช่น คุตบะฮ์โควิด(บรรยายธรรม)และคู่มือการปฏิบัติตัวในสถานการณ์โควิด
อีกทั้งยังผลิตรายการผ่านโซเซียลมีเดีย “ ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด” ทั้งนี้ เป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจในสถานการณ์โควิด เพื่อเป็นช่องทางให้พี่น้องได้แบ่งปัน จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบภัยจ่ากสถานการณ์โควิด และที่สำคัญต้องการใช้เป็นช่องทางสื่อสารความรู้จากบุคคลที่มีความรู้หรือทำงานในสถานการณ์จริงมาทำความเข้าใจกับประชาชนโดยตรง
อิสม่าแอน ยังได้ประเมินสถานการณ์จากประสบการณ์ทำงานโดยตรง ว่า ด้วยมูลนิธิคนช่วยคน เราเป็นองค์กรประชาสังคม มีงบประมาณที่จำกัดจึงไม่สามารถช่วยเหลือด้านงบประมาณตามความต้องการของประชาชนหรือผู้ได้รับความเดือดร้อนได้ทั้งหมด ดังนั้นภารกิจอีกด้านของคนช่วยคน จะผลักดันและกระตุ้นให้ใช้ทรัพย์กรในพื้นที่ให้คุ้มค่ามากที่สุด ให้องค์กรที่รับผิดชอบมีบทบาทขับเคลื่อนทำงานให้มากที่สุด
“ เรื่องที่เราถือว่ามีความสำคัญและตระหนักมาก คือ การเสียชีวิตจากโควิด เนื่องจากไม่มีคนกล้าเข้าไปช่วยจัดการศพ ภาระจึงตกหนักกับแพทย์ พยาบาบาล แต่กรณีในพื้นที่โรงพยาบาลห่างไกล เนื่องจากบุคลกรมีจำกัด บางพื้นที่มีคนเสียชีวิตหลายศพในวันเดียว การจัดการศพตามหลักศาสนาไม่เพียงพอ ล่าช้า เนื่องจากศพจากเชื้อโควิด ต้องรีจัดการให้มากที่สุด เราจึงจัดอบรมจิตอาสานำศพกลับบ้าน เพื่อเป็นการบรรเทาการทำงานของแพทย์”
อีกประเด็น ที่กำลังเร่งทำความเข้าใจคือในกรณีการเสียชีวิตที่บ้าน ที่ยังไม่มีการพิสูจน์ พี่น้องเข้าใจว่าไม่ได้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทั้งนี้ตามนโยบายศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งแพทย์เองก็มีมติว่าให้สันนิฐานว่าติดโควิดก่อน พร้อมนำไปชันสูจน์ศพ ก่อนจัดการศพตามพิธีทางศาสนา ซึ่งบางกรณีญาติไม่ยอม ก็ต้องให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้นำศาสนา ทำความเข้าใจ
สำหรับเครือข่ายของมูลนิธิคนช่วยคน ปัจจุบันเรามีเครือข่ายครอบครุมเกือบทั่วประเทศแต่บทบาทการทำงานขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเหตุการณ์โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เราลงปฏิบัติงานเองจึงทำให้การทำงานค่อนข้างเข้มข้น
“ ผมอยากให้ทุกภาคส่วนเข้าใจการทำงานของมูลนิธิคนช่วยคน เพราะเราเป็นองค์กรจิตอาสาภาคประชาสังคม ขณะที่หน่วยงานของรัฐก็ทำตามอำนาจของหน่วยงานรัฐ หากภาครัฐเปิดกว้างและเห็นความสำคัญของจิตอาสาภาคประชาชน เนื่องจากแต่ละองค์กรมีจุดแข็งต่างกัน หากเรามาเติมเต็มกันและกัน สุดท้ายสังคมได้ประโยชน์” นายอิสม่าแอน หมัดอะด้ำ ประธานมูลนิธิคนช่วยคน กล่าว
ติดตาม : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับสิงหาคม 2564