Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   จุฬาราชมนตรี วินิจฉัย ผลิตภัณฑ์จากกัญชง กัญชา ฮารอม ยกเว้นเพื่อทางการแพทย์

จุฬาราชมนตรี วินิจฉัย ผลิตภัณฑ์จากกัญชง กัญชา ฮารอม ยกเว้นเพื่อทางการแพทย์

                 สำนักข่าวอะลามี่ : ท่านจุฬาราชมนตรี วินิจฉัยการใช้กัญชง กัญชา เพื่อสันทนาการและความสราญใจถือเป็นฮารอม (สิ่งต้องห้าม)  ยกเว้นนำมาใช้ในทางการแพทย์ การรักษา หากมีความจำเป็นเท่านั้น


                สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ออกประกาศคำวินิจฉัยท่าน ท่านจุฬาราชมนตรีและคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี  ประกาศฉบับที่ 8/2564 โดย ฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

                เรื่อง พิจารณาการใช้ กัญชง กัญชา เมล็ดกัญชง กัญชา น้ำมันจากเมล็ดกัญชง กัญชา โปรตีนจากเมล็ดกัญชง กัญชา และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง กัญชา เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล

                ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขและประกาศที่เกี่ยวข้อง เรื่องการอนุญาตการใช้กัญชง กัญชา เมล็ดกัญชง กัญชา น้ำมันจากเมล็ดกัญชง กัญชา โปรตีนจากเมล็ดกัญชง กัญชา และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง กัญชา ให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายดังกล่าวนี้ ส่งผลต่อกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล เนื่องจากผู้ประกอบการมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบกัญชง กัญชา ในการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและผลิตภัณฑ์ทั่วไป

              ทั้งนี้ฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอแก่ท่านจุฬาราชมนตรีและคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ทำการพิจารณา และได้ออกคำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรี สรุปดังนี้คือ


            1. การใช้กัญชง กัญชาเพื่อสันทนาการและความสราญใจ เช่น การกิน การดื่ม สูบ เคี้ยว ดม หรือวิธีใดก็ตาม ถือเป็นฮารอม (สิ่งต้องห้าม) ฐานเดียวกับการดื่มสุรา

            2. การใช้กัญชง กัญชา เพื่อการรักษา เป็นข้อยกเว้นสำหรับการนำมาใช้ในทางการแพทย์การรักษาหากมีความจำเป็น

             จากการวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรี ดังกล่าวมีผลต่อการรับรองกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลและเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้มีความสอดคล้องกับระเบียบและประกาศต่างๆ ของ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการต้องพิจารณาดำเนินการดังนี้

             1) การใช้วัตถุดิบกัญชง กัญชา เมล็ดกัญชง กัญชา น้ำมันจากเมล็ดกัญชง กัญชา โปรตีนจากเมล็ดกัญชง กัญชา และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง กัญชา มาใช้ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล ไม่เป็นที่อนุญาตฮารอม (สิ่งต้องห้าม) ไม่สามารถรับรองให้เป็นผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้

           2) กรณีผู้ประกอบการฮาลาลที่มีความประสงค์ที่จะนำผลิตภัณฑ์ในกลุ่มกัญชง กัญชา มาผลิตในกระบวนการเดียวกันกับการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล ผู้ประ กอบการต้องทำหนังสือขออนุญาตและต้องได้รับการพิจารณาอนุญาตจากคณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลฯ เป็นลายลักษณ์อักษร

           3) ผู้ประกอบการต้องมีการแจ้งถึงสถานที่ กระบวนการ วัตถุดิบ ที่ใช้สำหรับการดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้มีการพิจารณาอนุมัติอย่างครอบคลุม และไม่มีการปกปิดข้อมูลอันเป็นผลกระทบต่อกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล

            4) จากข้อที่สาม ผู้ประกอบการต้องมีการพิจารณาดำเนินการดังนี้

             4.1 ผู้ประกอบการต้องจัดทำขั้นตอนกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์กัญชง กัญชา ตลอดห่วงโซ่ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ฮาลาล

             4.2 ผู้ประการต้องจัดทำบันทึกแผนการควบคุมการล้างทำความสะอาด บันทึกการจัดเก็บ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนข้ามสำหรับผลิตภัณฑ์ฮาลาลกับผลิตภัณฑ์ฮารอม ให้คณะกรรมการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลพิจารณา และผู้ประกอบการต้องจัดทำบันทึกแผนการตรวจผลิตภัณฑ์ฮาลาลในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการปนเปื้อนวัตถุดิบจากกัญชง กัญชา เมล็ดกัญชง กัญชา น้ำมันจากเมล็ดกัญชง กัญชา โปรตีนจากเมล็ดกัญชง กัญชา และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง กัญชา จากกระบวนการที่ถูกผลิตร่วมด้วย

             5) ข้อพิจารณาการห้ามนี้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ฮาลาลทุกประเภท เช่น กลุ่มผลิภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่ออุปโภค ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้อง

             6) กรณีผู้ประกอบการฮาลาลที่มีความประสงค์จะนำผลิตภัณฑ์ในกลุ่มกัญชง กัญชา มาผลิตในกระบวนการเดียวกับการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล โดยผู้ประกอบการไม่ได้ขออนุญาตเป็นลักษณ์อักษร หรือมีเจตนาในการปกปิดการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต วัตถุดิบส่วนผสมใดๆ แก่ คณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลฯ กรณีดังกล่าวนี้อาจส่งผลให้คณะกรรมการฯ พิจารณายกเลิกการรับรองฮาลาลได้

             จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

              ประกาศ ณ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564

                   (รองศาสตราจารย์ ดร.อิสมาแอ อาลี)

                         ประธานฝ่ายกิจการฮาลาล

                  คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย