ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล โชว์งานวิจัยเวที IMT-GT
ทดสอบการปนเปื้อนเจลาตินสุกรในวัคซีนโควิด-19
สำนักข่าวอะลามี่ : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) นำเสนอโครงการทำการวิจัยทดสอบการปนเปื้อนเจลาตินสุกรในวัคซีนโควิด-19 ประชุมวางแผนยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT (14th IMT-GT Strategic Planning Meeting) เพื่อความมั่นใจและการยอมรับของประชากรมุสลิมในการได้รับวัคซีนที่ฮาลาล
วันที่ 16 มีนาคม 2564 รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) พร้อมด้วย นางสาวสุลิดา หวังจิ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการฯ และ คณะทำงาน อีกทั้ง รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร เข้าร่วมประชุมวางแผนยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT (14th IMT-GT Strategic Planning Meeting) ในระดับคณะทำงาน (The breakout Working Group Session) ของคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ผ่านระบบประชุมทางไกล (Zoom Meeting)
การประชุมครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของประเทศสมาชิก ตามแผนการดำเนินงาน IB2017-2021 และนำเสนอโครงการใหม่เพื่อเสนอเข้าในแผนงาน 5 ปีต่อไป (IB2022-2026) เพื่อเตรียมนำเสนอต่อเจ้าหน้าที่อาวุโส (Plenary Session) ในวันที่ 9 เมษายน 2564
ซึ่ง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ได้นำเสนอโครงการใหม่ คือ โครงการ Laboratory Surveillance for Forbidden Substances in COVID-19 vaccines สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีหนทางที่จะกำจัดเชื้อไวรัสให้หมดไปได้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถลดความรุนแรงของอาการป่วยและลดการเสียชีวิตได้
ตามนโยบายของรัฐบาลไทยมีการพิจารณานำเข้าวัคซีน ในบรรดาคนไทยเกือบ 70 ล้านคน ประมาณ 4-5 ล้านคนเป็นมุสลิม จึงมีประเด็นคำถามเกิดขึ้น เกี่ยวกับ วัคซีนโควิด-19 ฮาลาลสำหรับมุสลิมหรือไม่ สิ่งที่เป็นข้อห้ามในทางศาสนาอิสลามที่เป็นประเด็นในกรณีวัคซีนคือ การใช้เจลาติน (Gelatin) จากสุกรเพื่อรักษาสภาพของวัคซีน (Stabilizer) ซึ่งวิธีนี้ใช้กันทั่วไปในการผลิตวัคซีน
และด้วย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) มีห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล ซึ่งพันธกิจหลักคือการบริการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลามในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ฮาลาล ที่เป็นอาหารและมิใช่อาหาร ในหลากหลายการทดสอบ โดยเฉพาะการทดสอบการปนเปื้อนเจลาติน และมีความพร้อมเรื่องเครื่องมือ และเทคนิคที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์เจลาตินอยู่หลายเทคนิคด้วยกัน เช่น เทคนิคทางด้านโปรตีน LC-MS/MS และเทคนิคทางด้านดีเอ็นเอ Real-Time PCR
จึงขอนำเสนอโครงการเพื่อทำการวิจัยทดสอบการปนเปื้อนเจลาตินสุกรในวัคซีนโควิด-19 เพื่อความมั่นใจและการยอมรับของประชากรมุสลิมในการได้รับวัคซีนที่ฮาลาล ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่รวมถึงประชากรทั้งโลกอีกด้วย