อัตลักษณ์อาเซียน:เอกภาพของไทย
โดย: อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง
abualuang@gmail.com
หากประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ได้เข้าใจร่วมกันอย่างเท่าทันกันว่า อีกสี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในสมาชิกของประชาคมอาเซียน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราเข้าใจกันว่า เขตแดนที่เคยถูกกำหนดว่า เป็นพื้นที่ของประเทศหนึ่งประเทศใด ดูจะต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
อาทิ ด่านตรวจคนเข้าเมืองของแต่ละประเทศอาจจะมีเพียง 2 ช่อง กล่าวคือ ช่องที่ 1 อาจจะเป็นการเข้าออกของพลเมืองของอาเซียน ที่อาจะใช้เพียงบัตรประชาชน หรือบัตรอย่างอื่นที่ใช้แทนหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต และช่องที่ 2 อาจจะใช้เฉพาะคนที่มาจากประเทศอื่นๆ เหมือนกับประชาชนในประชาคมยุโรปหรือที่เรียกว่า อียู
การเดินทางการถ่ายเทของผู้คน แรงงาน การศึกษา การขนส่ง วัฒนธรรมสารพัดจะผสมไปมาจนทำให้ประชาชนบางประเทศที่เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกมึนงงกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ประเทศที่ประชาชนมีฐานะยากจนกว่าก็จะเคลื่อนย้ายไปเข้าหางานและแสวงโชคในประเทศที่มีฐานะดีกว่า นั่นแสดงว่า ทุกชาติต้องเปิดกว้างในทุกเรื่องเพราะถือว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน แม้ในปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ แต่เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ทุกประเทศต้องปรับตัวเข้าหากันเป็นแน่
หากมองอย่างเป็นธรรมแล้วสามารถกล่าวได้ว่า พลเมืองไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงจะโชคดีกว่าเพื่อนพี่น้องในภูมิภาคอื่นๆของประเทศบ้าง เพราะประชาคมอาเซียนมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภาษาที่เหมือนกับคนที่นั่น ส่วนใหญ่ยังคงใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน
ความรู้สึกลึกๆของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายๆหน่วยงานไม่สบายใจมากนัก ที่จะส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษามลายูในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาของรัฐ
อีกทั้งยังคิดเลยเถิดว่า “คนไทยต้องพูดภาษาไทยเพียงภาษาเดียวเท่านั้น”
หากจะย้อนดูในช่วงที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติหรือ กอส. ได้ส่งรายงานและได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ข้อหนึ่งในหลายๆข้อคือการเปิดโอกาส “ ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงาน (Working language)” ในสถานที่ราชการด้วยอีกภาษาหนึ่ง ก็มี อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง กลับออกมาวิจารณ์ทันทีในวันรุ่งขึ้น และได้พูดว่า “คนไทยต้องพูดภาษาไทย”
และตามด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายต่อหลายคน ตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์ของคนไทยที่รักชาติ (ชาตินิยมหลงยุค) ในโลกออนไลน์โดยสรุปผลอย่างไม่อาจจะกล่าวไว้ในบทความนี้ เพราะความรุนแรงของการใช้ภาษาและตลอดจนการตีความไปไกลถึงขนาดว่า “ถ้าเขาไม่พูดภาษาไทยแล้วจะเป็นคนที่ไม่จงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง”
อย่างไรก็ตามผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นชนชาติพันธุ์มลายูนับถือศาสนาอิสลาม ที่เรียกว่า “มลายูมุสลิม”และมีการพูดภาษามลายูในชีวิตประจำวัน มีการถ่ายทอดภาษาผ่านกระบวนการศึกษา ผ่านงานเขียนหนังสือ และตำราศาสนาด้วยภาษามลายูอักขระญาวี ซึ่งงานเขียนในท้องถิ่นเกือบทั้งหมดจะเขียนเป็นภาษามลายูญาวี (คือ การเขียนโดยใช้อักขระภาษาอาหรับแต่อ่านเป็นภาษามลายู) งานเขียนเหล่านั้นได้เริ่มเขียนมาตั้งแต่ต้นคริสต์วรรษที่ 12 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ตำราศาสนาเหล่านั้นยังมีและใช้อยู่จวบจนปัจจุบัน ได้เผยแพร่ในโลกมลายู(Nusantara)คือในหมู่เกาะมลายูและในชุมชนมลายูมุสลิมตามคาบสมุทรอาหรับอีกมาก อีกทั้งยังเป็นข้อมูลอ้างอิงในแวดวงวิชาการศาสนาโดยทั่วไปด้วย
เหล่านี้คือทุนทางสังคมของพลเมืองไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่อย่างมากมาย แต่น่าเสียดายที่การตื่นตัวของการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษามลายูเป็นเพียงผิวเผิน หากเปรียบเทียบการส่งเสริมภาษาอื่นในสถาบันการศึกษาของรัฐเช่นการสอนภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมัน ดูเหมือนจะเน้นหนักเน้นหนา จนบางครั้งภาษาไทยของตนเองยังไม่สร้างให้เข้มแข็งเท่าที่ควรอย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า“เด็กไทยมีความรู้เรื่องภาษาไทยลดลง?” และยิ่งการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ภาษามลายู ที่มีพลเมืองอาเซียนใช้อยู่ในปัจจุบันกว่า 300 ล้านคนกลับถูกละเลยและไม่ให้ความสำคัญมากมายเลยและดูเหมือนจะให้การยอมรับภาษาอื่นๆในอาเซียนน้อยไปด้วย
อีก 4 ปีข้างหน้า เขตแดนการไปมาเสรีมากขึ้น ตลอดจนความเข้าใจเข้าถึงจิตใจเพื่อนบ้านเรือนเคียงที่เขาพูดภาษามลายูเกือบกว่าร้อยละ 80 เมื่อเป็นเช่นนี้ภาษาไทยของประเทศไทยจะยืนอยู่ ณ จุดสักกี่แห่งของภูมิภาค ภาษาไทยคือภาษาของชาติที่คนไทยทุกคนต้องพูดได้ อ่านออก เขียนได้ เฉกเช่นทุกชาติที่เขาต้องเน้นภาษาแห่งชาติ ณ เวลานี้เกือบทุกประเทศมีการส่งเสริมให้คนในชาติของเขาเรียนรู้ภาษาของเพื่อนบ้านอย่างจริงจังมาหลายเวลาแล้ว แต่ประเทศไทยได้ทำมามากน้อยเพื่อตามเพื่อนบ้านมากน้อยเพียงใด ?
กระทรวงศึกษาธิการน่าจะชิงความเป็นหนึ่งเดียวในการตั้ง“มหาวิทยาลัยนูซันตาราหรือมหาวิทยาลัยมลายูนูซันตาราในประเทศไทย...?” เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของประชาคมอาเซียนก่อนที่ประเทศอื่นๆ หรือ ยังหลับสัปหงกหาจุดยืนทางการเมืองของตนเองที่ยังไม่นิ่ง เรื่องการพัฒนาประชาชนและเรื่องความก้าวหน้าของประเทศชาติเป็นเรื่องที่ไปเร่งเร้าในการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งจะได้คะแนนเสียงมากกว่า
นีคือความเป็นเอกภาพของอาเซียนภายใต้อัตลักษณ์ของความหลากหลายในวัฒนธรรม ซึ่งประเทศไทยยังหลับใหลและหลงทิศผิดทางเรื่องนี้มากประเทศหนึ่งในโลก...