Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ศูนย์วิทย์ศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ รับรางวัล เลิศรัฐ ระดับดีเด่น ด้านนวัตกรรมการบริการภาครัฐ

ศูนย์วิทย์ศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ รับรางวัล เลิศรัฐ ระดับดีเด่น ด้านนวัตกรรมการบริการภาครัฐ

เรื่อง H-Number นวัตกรรมระบบค้นหาวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลแม่นยำ เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต

           
                  สำนักข่าวอะลามี่ :  ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับ
รางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น ด้านนวัตกรรมการบริการภาครัฐจากผลงาน เรื่อง H-Number นวัตกรรมระบบค้นหาวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลแม่นยำ เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต

            เมื่อวันที่ 16 ก.ย.63  ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2563  ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชานเลนเจอร์ ชั้น 1 อิมแพค เมืองทองธานี

            ดร.วิษณุ กล่าวว่า รางวัลเลิศรัฐ ถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มอบให้หน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูหน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานภาครัฐ โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ สาขาบริการภาครัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม

            ทั้งนี้รางวัลดังกล่าว เพื่อกระตุ้นส่งเสริมสนับสนุนหน่วยงานของรัฐพัฒนาปรับปรุงตนเอง เพื่อตอบสนองความต้องการประชาชน ให้มีการบริการที่มีประสิทธิภาพ ตามแนวคิด ธรรมาภิบาลและการบริหารราชการที่ดี จึงนำมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินรางวัล “เลิศรัฐ”

            “ รางวัลเลิศรัฐ” เป็นรางวัลที่หน่วยงานของรัฐที่มีความเป็นเลิศในรัฐหรือในประเทศ โดยมีคณะกรรมการวัดประเมินรอบด้าน ทั้งการบริหารจัดการและเรื่องธรรมาภิบาล หน่วยงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ จะต้องมีความภาคภูมิใจ ซึ่งบางปีอาจไม่มีหน่วยงานไหนได้รับรางวัลเลิศรัฐ เลยก็มี” ดร.วิษณุ กล่าว

           โดยในปีนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณฺมหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลเลิศรัฐ รางวัลดีเด่น ด้านงานนวัตกรรมการบริการภาครัฐ โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล เป็นผู้รับจาก ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนรี

           รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล กล่าวว่า สำหรับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณฺมหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลดังกล่าว สืบเนื่องมาจาก การพัฒนาระบบรหัสสารเคมี (database) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร จำพวกวัตถุเจือปนอาหาร เป็นระบบที่จัดทำขึ้นโดยแบ่งหมวดหมู่ตามลักษณะการใช้งานของสารเคมีแต่ละชนิด เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและสะดวกในการนำไปใช้ประโยชน์

            ระบบรหัสสารเคมีที่กล่าวถึงนี้คือ E number กำเนิดขึ้นครั้งแรกโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ (expert committee) เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้ เช่น วัตถุประสงค์การใช้งาน และปริมาณการใช้สำหรับรหัสสารแต่ละรายการ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียอันเนื่องมาจากการใช้ที่ผิดวิธี หรือ ผิดวัตถุประสงค์ โดยมีรายละเอียดการใช้งานตามระบุในมาตรฐาน codex ซึ่งข้อมูลมีการปรับปรุงให้เหมาะสม และทันสมัยอยู่เสมอ

           สำหรับอุตสาหกรรมฮาลาล ข้อจำกัดของการใช้ประโยชน์จากรหัสสารเคมีตามระบบ E numbers นี้คือความซับซ้อนของกระบวนการ และแหล่งที่มาของรหัสสารเคมีแต่ละตัว การใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลดังกล่าวจึงทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ต้องใช้กระบวนการทางห้องปฏิบัติการเป็นเครื่องมือช่วยยืนยันอีกทางหนึ่ง ทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียเวลา และค่าใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันเชิงต้นทุนของสินค้าฮาลาลไม่เป็นที่ได้เปรียบเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่มีการรับรองฮาลาล

             “ ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสประชุมร่วมหารือกับนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการจากหลายประเทศ อาทิเช่น ปากีสถาน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในการประชุม ณ ประเทศปากีสถาน เมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่ประชุมต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงความจำเป็นในการจัดทำระบบรหัสสารเคมีฮาลาลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมฮาลาล และทำให้สามารถแข่งขันได้ในเชิงต้นทุน ทั้งยังมีความได้เปรียบในเชิงมาตรฐานและคุณภาพ

           รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่า จากแนวความคิดในการจัดทำฐานข้อมูลรหัสสารเคมีฮาลาล ถูกนำเสนอและได้รับอนุมัติในที่ประชุมคณะทำงานด้านฮาลาล IMT-GT ในปีถัดมาโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในนามผู้แทนประเทศไทย ภายใต้โครงการ “Identification of Query Raw materials for Assuring Halalness; IQRAH” และ ได้เริ่มต้นโครงการนับแต่ปีนั้นเป็นต้นมา

              โดยในปีนี้ ( พ.ศ.2563)  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบหมายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ส่งชิ้นงานเข้าประกวด ผลสรุปออกมาว่างานเรื่อง “H-Number นวัตกรรมระบบค้นหาวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลแม่นยำเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ” ได้รับการตัดสินจาก คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ให้รับรางวัลเลิศรัฐระดับดีเด่นด้านนวัตกรรมการบริการภาครัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลระดับสูงสุด

              ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยรับ “รางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่นด้านนวัตกรรมการบริการภาครัฐ” มาแล้วกับผลงาน “HAL-Q นวัตกรรมระบบบริหารจัดการคุณภาพความปลอดภัยผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลครบวงจร” ใน พ.ศ.2556 

            ครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งกับรางวัลระดับเกียรติยศ ร่วมแสดงความยินดีกับเราที่พัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลสร้างสรรค์หลากหลายผลงานให้กับวงการฮาลาลประเทศไทย กระทั่งได้รับรางวัลในระดับชาติและระดับโลก