รายงานพิเศษ : การปะทะของชุมชนรอบใหม่ที่อำเภอจะนะ
โดย กองบรรณาธิการ
สำนักข่าวอะลามี่ : หนึ่งในกระบวนการผลักดันโครงการพัฒนาอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา คือ การจัดทำวางและการจัดทำผังเมืองรวมชุมชนจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อรับรองการพัฒนาเมกะโปรเจค นั่นคือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา
อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เคยมีประสบการณ์ความขัดแย้งของชุมชนจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยนั่นคือ โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย จากพื้นที่ JDA ที่เริ่มก่อตัวนับตั้งแต่ปี 2539 จากนั้น เมษายน 2541 คุณชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้น เดินทางไปลงนามความร่วมมือกับ ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย
โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เป็นโครงการที่นำไปสู่การกสร้างความขัดแย้งของชุมชนจะนะ อย่างหนัก จากกลุ่มที่เห็นต่าง ทั้งผู้สนับสนุนโครงการและกลุ่มคัดค้าน
นับตั้งแต่ ปี2539 เป็นต้นมา โครงการนี้ถูกพัฒนาไปจนถึงจุดแตกหักเมื่อ 20 ธันวาคม 2545 ในครั้งที่ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประชุม ครม.สัญจร ที่โรงแรมเจบี หาดใหญ่ มีการชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโครงการ นำไปสู่การแตกหักเมื่อมีการสลายกลุ่มผู้ชุมชนต่อต้าน และมีการดำเนินคดีฟ้องร้องที่ยื้อเยื้อมานานว่า 10 ปี
ในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งของชุมชนอำเภอจะนะ จากกลุ่มผู้เห็นต่างทั้งกลุ่มต่อต้านกับกลุ่มสนับสนุน ยังไม่ทันหาย วันนี้ (ปี 2563 ) ก็เกิดโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ภายใต้การบริหารประเทศของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยรัฐบาลอ้างว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ " สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน " ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ศอ.บต.มุ่งใช้แนวทางการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบและปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยมีการกำหนด " เมืองต้นแบบ " ประกอบด้วย อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขณะที่ อ.จะนะ เป็นเมืองต้นแบบลำดับที่ 4 ในฐานะ " เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต"
ทั้งนี้เพื่อให้แผนงานพัฒนา ”เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" ในพื้นที่อำเภอจะนะ เป็นไปตามแผนพัฒนา รัฐบาลจึงได้กำหนดเขตผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม เพื่อสอดรับกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่รออยู่
อภิมหาโปรเจค1.6 หมื่นไร่ ลงทุนร่วม 2 หมื่นล้านบาท
มีรายงานว่าภาพรวมโครงการ เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" ครอบครุมมีพื้นที่ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 100,000 อัตรา มีกิจกรรม 6 ประเภท คือ
1. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา จำนวน 4,253 ไร่
2. พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก จำนวน 4,000 ไร่
3. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวน 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์
4. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ จำนวน 2,000 ไร่
5. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า จำนวน 2,000 ไร่
6. พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่
เผย 3กลุ่มเคลื่อนไหวในจะนะ
สถานการณ์ในพื้นที่อำเภอจะนะ ตอนนี้พบว่าน่าเป็นห่วงอย่างมากประชาชนมีความสับสนในการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าปัจจุบันมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวแยกออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1. เป็นกลุ่มไม่เห็นด้วย เป็นกลุ่มคัดค้าน ไม่ต้องการให้ เกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้น. โดยกลุ่มนี้จะมีทั้งคนในพื้นที่ และคนนอกพื้นที่ที่มาเคลื่อนไหว รวมถึงกลุ่ม NGO คอยสนับสนุนการเคลื่อนไหวด้วย
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่เห็นด้วยกับการสร้างนิคมฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานบางหน่วยออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ กระจาย เวที เล็ก เพื่อขับเคลื่อนในพื้นที่ และพยายามนำผู้เห็นด้วยนำเสนอผ่านช่องทางสื่อต่างๆ
กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่เรียกร้องผลประโยชน์ให้ชาวบ้าน กลุ่มนี้เกิดมาจากลูกหลานชาวจะนะ ที่รวมตัวกันเพื่อคิดหาวิธีการในการเรียกร้องผลประโยชน์ให้มากที่สุดโดยนำบทเรียนจากกรณีโรงแยกแก๊สและโรงไฟฟ้าจะนะ มาถอดบทเรียน เพื่อแสวงหาทางออกโดยมองว่าให้ชาวบ้านได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงากรดังล่าว
อภิมหาโปรเจค “ เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต " ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เมืองต้นแบบ สี่เหลี่ยมมั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงน่าจะเป็นการปะทะรอบใหม่ของชุมชนในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้