พยาบาลจ้างเหมาชายแดนใต้เรียกร้องรัฐบาล
หลังจากทำงานในพื้นที่มากว่า 10ปีไร้หลักประกัน
สำนักข่าวอะลามี่ : ตัวแทนจากชมรมพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือน ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และ4อำเภอของจังหวัดสงขลา ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่าน พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เรียกร้องให้พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีสิทธิคัดเลือกเป็นข้าราชการตำแหน่งพยาบาลวิชีพปฏิบัติการ ให้เป็นไปตามคณะรัฐมนตรี 7 เมษายน 2563 โดยวิธีการคัดเลือกด้วยกรณีที่มีเหตุพิเศษ
ด่วนที่สุด
ที่ทำการชมรมพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือน
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา
193 ถ.ตะลุบัน ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 94110
...........................................................................................................................................................................
13 เมษายน 2563
เรื่อง โปรดพิจารณาให้พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีสิทธิคัดเลือกเป็นข้าราชการตำแหน่งพยาบาลวิชีพปฏิบัติการ ให้เป็นไปตามคณะรัฐมนตรี 7 เมษายน 2563 โดยวิธีการคัดเลือกด้วยกรณีที่มีเหตุพิเศษ
เรียน รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ./ประธาน คปร. /เลขาธิการ ก.พ./เลขาธิการ ศอ.บต.
อ้างถึง 1.มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 เมษายน 2563
2.หนังสือ ก.พ.ด่วนที่สุด ที่ นร 1008.3.3/28 ลงวันที่ 3 เมษายน 2563
3.เอกสารแสดงรายชื่อพยาบาลวิชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา
ตามที่อ้างถึง 1 คณะรัฐมนตรี เมื่อคราวที่ประชุมวันที่ 7 เมษายน 2563 วาระพิจารณาลำดับที่ 17 เรื่องกระทรวงสาธารณสุข ขออนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข รองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019หรือ โควิด19มีมติ “อนุมัติในหลักการอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานด้านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019หรือโควิด19ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 24 สายงาน รวมทั้งสิ้น 38,105 อัตรา และอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 จำนวน5สายงาน รวมทั้งสิ้น 7,579 อัตรา ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.)ไปพิจารณาในรายละเอียด ซึ่งรวมถึงมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย”
และตามที่อ้างถึงหนังสือ ก.พ. ด่วนที่สุด ที่ นร.1008.3.3/28 ลงวันที่3 เมษายน 2563 เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง “ขออนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรสาธารณสุขรองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 โดยสำนักงานก.พ. เสนอความเห็นประกอบการพิจาณาของคณะรัฐมนตรี ตามข้อ 2 ความว่า ...
2.การสรรหาและบรรจุลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเข้ารับราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในอัตราที่ได้รับจัดสรร ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการสอบแข่งขัน หรือคัดเลือกเพื่อบรรจุในแต่ละสายงาน ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข ที่ก.พ.กำหนด
ทั้งนี้เมื่อบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งที่ได้รับจัดสรรแล้ว ให้ยุบเลิกตำแหน่งพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราวตามจำนวนที่ต้องบรรจุ และให้กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงรูปแบบการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นเฉพาะการจ้างงานสนับสนุนทั่วไปเท่านั้น”
จากความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ข้อ 2 ให้สรรหาและบรรจุลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น โดยไม่มีการระบุตำแหน่งพยาบาลจ้างเหมาบริการรายเดือน ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งมีอยู่ราว 183 อัตรา ตามที่แนบท้ายหนังสือแสดงรายชื่อพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือน ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนใต้และส่วนหนึ่งของจังหวัดสงขลา
ซึ่งหากเป็นเช่นนี้พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนจะไม่สามารถได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการโดยวิธีการดังกล่าวได้ อีกทั้งยังไม่สามารถบรรจุเป็นลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานราชการได้เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวจะถูกยุบเท่าจำนวนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการ
อีกทั้งตลอดระยะเวลาราว 10 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้ มีการบรรจุพยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการจำนวนน้อยมาก เนื่องจากถูกมองว่าพยาบาลวิชาชีพมีจำนวนที่เพียงพอด้วยเหตุที่มีพยาบาลในโครงการ3,000 อัตรา ที่ได้รับการบรรจุตามมติคณะรัฐมนตรีในปี2550 อนุมัติโครงการผลิตพยาบาลระดับปริญญาตรี 3,000 คนของกระทรวงสาธารณสุขที่เมื่อจบการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในพื้นที่ จึงมีการกันตำแหน่งข้าราชการไว้ในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลทำให้ผู้ที่จบพยาบาลในปีถัดจากนั้น หมดโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในพื้น3จังหวัดชายแดนใต้
แต่ในความเป็นจริงจำนวนพยาบาลในพื้นที่ยังไม่เพียง ทำให้โรงพยาบาลในพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลา มีการว่าจ้างพยาบาลในรูปแบบตำแหน่งจ้างเหมาบริการรายเดือน ที่แทบไม่มีสวัสดิการใดๆ และไม่มีความมั่นคงในการทำงานแต่ปฏิบัติงานที่ไม่ต่างจากพยาบาลวิชาชีพในตำแหน่งอื่นๆ และปฏิบัติงานท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบของพื้นที่และท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด19 ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลา ล้วนมีความตั้งใจในการทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพ และมีความทุ่มเท เสียสละ และอุทิศตนสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองอย่างเต็มความสามารถ
ด้วยเหตุนี้ทางชมรมฯ เล็งเห็นว่าการบรรจุข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 เมษายน 2563 ครั้งนี้จะเกิดขึ้นเหมือนตลอด10ปีที่ผ่านมา ที่ตำแหน่งจะลงมาในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนใต้น้อยมาก หรือมีเฉพาะ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้นที่มีสิทธิคัดเลือกเป็นข้าราชการและทำให้พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนปฏิบัติงานในพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลาที่มีประมาณ 183คนไม่มีสิทธิบรรจุเป็นข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้
ด้วยเหตุนี้ชมรมพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนจึงขอเสนอเพื่อพิจารณา
1.ดำเนินการให้พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้และส่วนหนึ่งของจังหวัดสงขลา มีสิทธิคัดเลือกแต่งตั้งเป็นข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 เมษายน 2563
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือเป็นอย่างสูง
ชมรมพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือน
ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และ4อำเภอของจังหวัดสงขลา