“นายกฯปู”สู้ภัยพิบัติ ทำไม..ไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
โดย : ผึ้งหลวง
สำนักข่าวอะลามี่ : สถานการณ์น้ำเหนือที่ค่อยๆรุกคืบเข้าตัวกรุงเทพฯชั้นในเริ่มขยายวงกว้างในพื้นที่หลายจุด จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนให้คำตอบกับประชาชนได้ว่า “มวลน้ำ” ที่เริ่มไหลเข้าสู่กรุงเทพฯมีปริมาณเท่าใด และจะท่วมขังอยู่ในกรุงเทพฯนานแค่ไหน
จนถึงขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว 28 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา นครนายก และจังหวัดปราจีนบุรี มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,469,639 คน และ มีผู้เสียชีวิต 356 ราย
ประชาชนคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ตื่นตระหนกกับสถานการณ์น้ำที่กำลังไหลเข้าสู่ตัวเมืองกรุงเทพฯ เห็นได้จากสินค้าจำพวก ข้าวสาร อาหารแห้งตามห้างสรรพสินค้าทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายแห่ง ถูกกว้านซื้อไปเกือบหมด สินค้าบางรายการถึงขั้นขาดตลาดเช่น น้ำดื่ม อาหารกระป๋อง
ความตื่นตระหนกของประชาชนส่วนใหญ่เกิดจากความไม่มั่นใจในข่าวสารที่ได้รับจากทางราชการ โดยเฉพาะ "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" (ศปภ.) ที่ประกาศเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เริ่มไหลบ่ามา "จ่อ" รอบๆ กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนคลายความวิตกกังวล
เพราะเห็นประสบการณ์จากเหตุน้ำท่วมจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ เช่น นครสวรรค์ ลพบุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันบางพื้นที่อพยพข้าวของไม่ทันต้องจ่มอยู่ใต้น้ำ
แม้ว่า “ศปภ.” จะมีการแถลงข่าวเป็นระยะเพื่อรายงานความคืบหน้าสถานการณ์น้ำที่เริ่มไหลเข้าท่วมบางพื้นที่ของกรุงเทพฯก็ตาม ประชาชนก็ยังไม่มีความมั่นใจในข้อมูลที่ได้รับจากรัฐบาลว่าเป็นข้อเท็จจริง 100% หรือไม่
ประกอบกับคนของ “ศปภ.” อย่าง “ปลอดประสพ สุรัสวดี” รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะ “หัวหน้าศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” ก็ยังเห็นว่า รัฐบาลควร ให้ความจริงกับประชาชน 100 % ไม่ต้องกลัวประชาชนจะหวาดกลัว เพราะวันนี้ที่ประชาชนรู้สึกกลัว เนื่องจากไม่รู้ข้อมูล ดังนั้นต้องบอกความจริงให้ประชาชนรู้ทั้งหมด เพราะหากรู้ ความกลัวก็จะค่อยคลาย และกลายเป็นความพยายามดิ้นรนต่อสู้
การที่รัฐบาลโดย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 หรือ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการออก“คำสั่ง” แก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
หากดูแล้วเจตนาในการออกประกาศดังกล่าว เพื่อต้องการบังคับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฎิบัติตาม “คำสั่ง” ของ “นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี” อย่างเคร่งครัด โดยหน่วยงานที่ตกเป็นเป้ามากที่สุดคือ “กรุงเทพมหานคร” ที่มี "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เป็น "ผู้ว่าฯ กทม."
สังเกตได้จากการให้สัมภาษณ์ระหว่าง “นายกฯยิ่งลักษณ์” กับ “คุณชายสุขุมพันธุ์” บางครั้งมักสวนทางกันอยู่เสมอโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำมีการตอบโต้กันผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้งจึงเชื่อว่าการออกประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฉบับนี้ออกมาเพื่อใช้บังคับให้ “กทม.” ปฎิบัติงานตามคำสั่งของ “นายกรัฐมนตรี” อย่างเคร่งครัด
จึงดูเหมือนประกาศดังกล่าวเป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาการบริหารงานระหว่างองค์กรที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมแต่ไม่ได้เป็นเครื่องมือโดยตรงใน การแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วม เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างมวลชนคนสองฟากฝั่งระหว่างพื้นที่น้ำท่วมกับพื้นที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม
เพราะไม่ว่าก่อนหรือหลังการประกาศ พ.ร.บ.ดังกล่าวปัญหาความขัดแย้งของมวลชนเกี่ยวกับคันกั้นน้ำก็ไม่ลดลงกลับทวีความรุนแรงในพื้นที่หลายจุด บางพื้นที่ถึงขั้นมีการใช้อาวุธปืนยิงขู่ฝ่ายตรงข้าม โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปตัดสิน
โดยเฉพาะ “ส.ส.” ในพื้นที่ก็ยังไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยว โดยเฉพาะพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตรับผิดชอบของตนเอง เพราะถ้าเข้าไปไกล่เกลี่ยก็ต้องเลือกข้างให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน นั่นย่อมทำให้ “เสียคะแนน” ในพื้นที่จึงไม่แปลกที่เหตุการณ์ลักษณะนี้จะไม่มี “ส.ส.” เสนอตัวเข้าไปแก้ปัญหา
ขณะเดียวกัน “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” เองก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะถ้ามีการปะทะกันเกิดขึ้นถึงขั้นมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิต “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ก็อาจถูกดำเนินคดี เพราะไม่มีกฎหมายใดมาช่วยคุ้มครองการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐแม้ว่าจะเป็นการปฎิบัติหน้าที่ทำตามคำสั่งของรัฐบาลก็ตาม
จึงเกิดคำถามตามมาว่ากรณีที่ “รัฐบาล” มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และพลเรือน ปฎิบัติหน้าที่ “เฝ้าระวัง” คันกั้นน้ำบางพื้นที่อย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้น้ำเข้าไปท่วมในพื้นที่ “เขตหวงห้าม” ที่รัฐบาลต้องป้องกันไว้ไม่ให้เกิดน้ำท่วม แต่มีประชาชนเข้าไปพังหรือรื้อคันกั้นน้ำจนเกิดการปะทะกันขึ้นจนทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสจะมีกฎหมายใดไปคุ้มครองการปฎิบัติเจ้าหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้อย่างไร
เพราะเพียงลำพังแค่ “พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” ไม่คุ้มครองเจ้าพนักงานที่ปฎิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง และเป็นกฎหมายที่ใช้ในภาวะปกติทั่วไป เพราะอำนาจการบริหารยังอยู่ที่ “องค์กรปกครองท้องถิ่น” เพียงแต่ การประกาศใช้พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้ "นายกฯยิ่งลักษณ์" มีอำนาจในการใช้ "คำสั่ง-ควบคุมและกำกับการทำงาน" ขององค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ กฎหมายฉบับนี้เพียงแต่ให้นายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจควบคุมทิศทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฎิบัติหน้าที่ตามนโยบาย หรือคำสั่งของส่วนกลางให้ได้เท่านั้น
แต่ในภาวะวิกฤติน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยในขณะนี้การประกาศใช้เพียงแค่พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอาจไม่เพียงพอกับการแก้ไขความขัดแย้งของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมไปถึงปัญหาสินค้าขาดตลาด การกักตุนสินค้า หรือแม้กระทั่งปัญหาอาชญากรรม ที่เกิดขึ้นระหว่างน้ำท่วมจนกระทั่งน้ำลด
มีบรรดานักวิชาการ นักการเมือง หรือข้าราชการบางกลุ่ม เสนอให้รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการบริหารบ้านเมืองที่กำลังประสบกับภัยพิบัติครั้งประวัติศาสตร์
ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่สามารถคลี่คลายไปได้ง่ายด้วยการบริหารบ้านเมืองแบบสถานการณ์ปกติทั่วไป เพราะน้ำท่วมครั้งนี้วิกฤติกว่าทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้น การทำงานเพียงแค่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานเหมือนที่ผ่านมาไม่น่าจะทำให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างรวดเร็ว
การแก้ไขปัญหาครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่นำ “ผู้รู้” หรือผู้เชี่ยวชาญมานั่งให้คำปรึกษาเท่านั้นทุกอย่างต้องบูรณาการเข้าไปอยู่ด้วยกันทั้งหมด โดยมี “นายกฯยิ่งลักษณ์” เป็นผู้สั่งการทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาวิกฤติในครั้งนี้ด้วย
ดังนั้นการใช้กฎหมายที่มีความเข้มข้น ขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปกป้องกันภัยพิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบกรณีใดๆ โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบแทน จึงจะทำให้ “เจ้าหน้าที่” ทำงานด้วยความสบายใจและมั่นใจในการปฎิบัติหน้าที่
กฎหมายจึงเป็นกรอบนำทางหรือเครื่องมือให้รัฐบาลทำงาน เวลานี้ “นายกฯยิ่งลักษณ์” ต้องใช้ภาวะผู้นำ นำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นไปให้ได้
การที่ “นายกฯยิ่งลักษณ์” กังวลว่าหากประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินฯ อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนทำให้ต่างชาติไม่มั่นใจไม่กล้ามาลงทุน แต่ถามว่าการทำงานของรัฐบาลในปัจจุบันสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน ดูได้จาก 7 นิคมอุตสาหกรรมที่ทรัพย์สินจมใต้น้ำ
ต้องถือว่าวินาทีนี้ประเทศไทยไม่มีทางให้เลือกมากนัก ...!
ขณะที่การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ นายกรัฐมนตรี จะสามารถระดม ทหาร ตำรวจ พลเรือน บุคคลที่เกี่ยวข้องให้มาช่วยเหลือได้หมด แต่ทุกวันนี้มีเฉพาะ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการบางกลุ่ม
เพราะไม่มีกฎหมายไปสั่งคนนอกสายงานบังคับบัญชาได้ หากมีเหตุจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากภาคเอกชน แต่เอกชนไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถไปบังคับได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ถ้ามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นายกรัฐมนตรี สามารถใช้อำนาจได้ภายใต้เงื่อนไขที่อีกฝ่ายไม่เสียเปรียบ เช่นการขอผันน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรของประชาชนโดยรัฐบาลจะชดเชยค่าเสียให้ เป็นต้น
จึงถือว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเหมือนเครื่องมือของนายกรัฐมนตรีในการบริหารงานในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องใช้การตัดสินใจเร่งด่วนทันที โดยมีกฎหมายมารองรับการใช้อำนาจภายใต้เงื่อนไขไม่ละเมิดสิทธิ หรือ ทำให้อีกฝ่ายถูกเอาเปรียบที่สำคัญการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งนี้นำมาใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่สู้รบที่ต้องให้อำนาจทหารในการตัดสินใจ
หากจะประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องไประแวงทหาร เพราะถ้าจะมีการปฎิวัติทั้งเงื่อนไขและเวลาถือว่าไม่เหมาะสมหากทหารจะออกมาปฎิวัติในขณะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วม ก็จะเกิดเสียงวิจารณ์ทางลบมากกว่าทางบวก และไม่มีประชาชนคนไหนให้การสนับสนุน
จึงเห็นว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศอยู่ตลอดเวลาว่า ทหารไม่ปฎิวัติ!
ประกอบกับอำนาจสั่งการครั้งนี้อยู่ที่ “นายกรัฐมนตรี” สามารถใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีสั่งการทุกกระทรวงได้ต่างจากพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ใช้แต่อำนาจของ “รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย” เท่านั้น
การจะประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ต้องกลัวเสียหน้าที่นำข้อเสนอของคนอื่นมาปฎิบัติ ให้คิดถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดกับส่วนรวมมากกว่าเรื่องใกล้ตัว
การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “นายกรัฐมนตรี” จะมีอำนาจเต็มที่ในการจัดการทั้งเรื่องแผนงาน คน และงบประมาณ
แต่สิ่งที่ “นายกรัฐมนตรี” ต้องพึงระวังหากตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ระวัง “บริวาร” ที่มักจะแอบอ้างนำ “อำนาจ” ของนายกรัฐมนตรี ไปใช้โดยพละการเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ “ศปภ.”