4 ปีการศึกษา พัฒนาชายแดนใต้
สำนักข่าวอะลามี่: “ งาน 4 ปีการศึกษา พัฒนาชายแดนใต้ ” เป็นภาพสะท้อนความพยายาม และความเอาใจใส่ของหน่วยงานทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการศึกษา สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ที่วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมวิชาการและวิชาชีพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2562 “ 4 ปีการศึกษา พัฒนาชายแดนใต้ ” พร้อมด้วย พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ (หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ) ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้พัฒนาความสามารถด้านวิชาการ การแสดง และทักษะด้านวิชาชีพ เพื่อจัดเวทีให้นักเรียนได้แสดงออกถึงความสามารถที่เป็นเลิศ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอ และเผยแพร่ผลงานของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ปรากฏต่อสาธารณชน
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความชื่นชมและยินดีกับผู้ที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ เกียรติบัตร และรางวัลทุกประเภท และ กล่าวว่า ความรู้ความสามารถที่นักเรียนทุกคนได้รับจากการศึกษานั้น เป็นภาพสะท้อนความพยายาม และความเอาใจใส่ของหน่วยงานทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการศึกษา
“ ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ทุกวันนี้ นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งหมดนั้น แสดงให้เห็นการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมีการปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้าน ซึ่งงานด้านการศึกษาก็เป็นงานสำคัญด้านหนึ่ง ” พลอากาศเอก ประจิน กล่าวและว่า
สำหรับการศึกษาในยุคประเทศไทย 4.0 นั้น รัฐบาลได้มุ่งเน้นให้เยาวชนได้พัฒนาตนเองสู่การมีอาชีพและมีงานทำตามความถนัดและความต้องการของตนเอง โดยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน
อย่างไรก็ตาม ในการที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพจนส่งผลให้ชุมชนและประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นั้น ต้องอาศัยกลไกที่เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในทุกระดับตามกลไกประชารัฐ และจากการรายงานและการติดตามกำกับดูแลการบริหารงานด้านการศึกษาในระดับประเทศจนถึงระดับพื้นที่ พบว่า การศึกษาไทย ถือได้ว่ามีการพัฒนาอย่างเป็นระบบและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศมากยิ่งขึ้น
โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี แผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี การขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคใต้ชายแดน) รวมทั้งแผนการพัฒนาการศึกษาในระดับจังหวัด รองรับอย่างเป็นระบบ
พลอากาศเอก ประจิน กล่าวอีกว่า การพัฒนาการศึกษาที่ตอบสนองต่อบริบทในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์อย่างมากมาย อาทิ โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้, โครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้, โครงการยกระดับการใช้ภาษาไทย, โครงการในการแก้ไขปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาของ กศน. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับการชื่นชมจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) โครงการ 1 ครูอาสา กศน. ต่อสถานศึกษาปอเนาะ ชุมชนต้นแบบตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา การจัดการอาชีวศึกษาเพื่ออาชีพและการมีงานทำ
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำว่า ขอให้ทุกภาคส่วนได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1.) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2.) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม 3.) มีงานทำ-มีอาชีพ และ 4.) เป็นพลเมืองดี
ทั้งนี้ได้ทำพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ เกียรติบัตร และรางวัลแก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับรางวัลทุกประเภท
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับพฤษภาคม 2562