Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   การทูตฮาลาล : สะพานเชื่อมสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ

“การทูตฮาลาล” สะพานเชื่อมสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ” ร่วมขับเคลื่อน

            สำนักข่าวอะลามี่ :  ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์ ร่วมขับเคลื่อน ชู “ การทูตฮาลาล “เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ของสองประเทศ หลังสองประเทศลดระดับทางการทูตมายาวนานกว่า 30 ปีให้กลับสู่ปกติ


            รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  หลังจากที่ ซาอุดิอาระเบียกับประเทศไทย ความสัมพันธ์ห่างเหินมานานกว่า 30 ปี ทำให้ประเทศไทยเสียหายทางเศรษฐกิจน่าจะมีมูลค่านับล้านบาท ในอดีตมีคนงานไทยไปทำงานในซาอุฯ นับแสนคน หลังจากมีปัญหา ทำให้ไทยเสียตลาดแรงงานสำคัญส่งผลให้เสียหาทางเศรษฐกิจจำนวนมาก

             อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณในทางบวกของสองประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในครั้งนี้ ต้องยกผลประโยชน์ให้กับ “ฮาลาลไทย” เป็นอีกช่องทาง ซึ่งความสัมพันธ์ครั้งนี้เริ่มต้นจากที่การประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ “ Thailand Halal Assembly 2518 : THA 2018 ” ได้จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา

             “ การจัดงาน THA 2018  เราได้เชิญ องค์กรสันนิบาตมุสลิมโลก Muslim World League-MWL โดยมี ดร.อับดุลเราะฮมาน บิน อับดุลเลาะฮ  อัล ซาอิด ( Dr. Abdul Rahman bin Abdullah Al Zaid ) ผู้ช่วยเลขาธิการ เลขาธิการสันนิบาตมุสลิมโลก ( Muslim World League Conferences) เดินทางมาร่วม ในฐานะตัวแทนของมกุฎราชกุมาร แห่งซาอุดิอาระเบีย ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นโดยใช้ เรื่องฮาลาล เป็นสะพานเชื่อมในความสัมพันธ์ของสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น “

            นอกจากนี้ ดร.อับดุลเราะฮมาน อับดุลเลาะฮ อัล ซาอิด ยังได้เดินทางมาเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ชื่นชมถึงการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย และเชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นต้นแบบในการวางรากฐานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลให้กับประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้เป็นอย่างดี ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย ที่จะดีขึ้นตามลำดับอย่างแน่นอน

              รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลซาอุฯ ปรับเปลี่ยนการดำเนินการทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ไม่พึ่งพาเฉพาะน้ำมันเหมือนอดีตที่ผ่านมา แต่จะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาล โดย รัฐบาลซาอุฯจัดตั้งองค์กร “ มักกะฮ์ อัล มูกัรรอมะฮ์ ฮาลาล คอมพานี ลิไมเตท  “ (Makkah Al-Mukarramah Halal Co. Limited)  ภายใต้การบริหารขององค์กรสันนิบาตมุสลิมโลก เป็นผู้ขับเคลื่อน โดยจะดูเรื่องคุณภาพด้านฮาลาลของผลิตภัณฑ์ ที่จะส่งเข้าไปในซาอุดิอาระเบีย  

            “ องค์กรที่จัดตั้งใหม่นี้ จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการส่งออกไทย โดยไม่จำเป็นต้องส่งผ่านประเทศอื่น เราสามารถส่งเข้าซาอุฯ โดยตรง  “


            นอกจากนี้สัญญาณทางบวกอีกอย่างคือ รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการและบุคคลอีก 6 กลุ่ม สามารถขอวีซ่า เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างอิสระ นับเป็นสัญญาณบวกที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากการจัดงาน THA 2018 ที่ผ่านมา

             รศ.ดร.วินัย  กล่าวว่า ปัจจุบัน ซาอุดิอาระเบีย กำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมให้เป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร โดยพยายามเปลี่ยนแปลงบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่โซนตะวันตกของประเทศ ให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยให้ประเทศไทยเป็นพี่เลี้ยงในด้านเกษตรกรรม

             “ อยากให้ ฮาลาลไทย หรือ เรียกว่า การทูตฮาลาล เป็นสะพานเชื่อมให้รัฐบาลไทย กับซาอุดิอาระเบีย มีความสัมพันธ์ที่ปกติ หลังจากที่ลดความสัมพันธ์ทางการทูต มายาวนานร่วม 30 ปี ทั้งนี้ภายใต้การปกครองของ กษัตริย์โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล-ซาอูด (Mohammed bin Salman al-Saud, MBS) พระองค์ท่านมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างจากผู้บริหารในอดีต ที่มีแนวคิดเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า เชื่อว่า ความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้ จะเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้  “ รศ.ดร.วินัย กล่าว.


             ทั้งนี้สัญญาณสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลดีกับประเทศไทย มีรายงานว่า ประเทศซาอุดิอาระเบีย กำลังพิจารณาผ่อนปรนให้พลเมืองซาอุฯที่เข้าเกณฑ์ 6 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มแรก คือ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลที่จะเดินทางมาร่วมงานสัมมนา งานประชุมในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ รวมถึงนักกีฬา

              กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย โดยสามารถแสดงหลักฐานที่รับรองโดยหอการค้าหรือตัวแทนการค้า

             กลุ่มที่ 3 เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่ประสงค์เข้ามาตรวจสอบ รับรองผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยเพื่อส่งออกไปยังซาอุดิอาระเบีย

             กลุ่มที่ 4 การเดินทางเพื่อรักษาพยาบาลหรือดูแลผู้ป่วยระหว่างทาง กลุ่มที่ 5 การเดินทางพบญาติที่เป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯในกรุงเทพ และ กลุ่มที่ 6 คือ เยี่ยมเยียนผู้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดในไทย

             ทั้งหมดเป็นสัญญาณเชิงบวกที่คาดว่าความสัมพันธ์ของสองประเทศ จะเริ่มกลับมาดีขึ้น จนสู่เข้าสู่ภาวะปกติในระยะอันใกล้นี้ นับตั้งแต่ปี 2533 ซาอุดิอาระเบีย ได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมสั่งห้ามคนในประเทศเดินทางเข้าไทย จากกรณี เพชรซาอุ”และคดีอุ้มฆ่านักการทูตซาอุฯ เป็นเวลานานกว่า 30 ปี

 หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับมีนาคม 2562