Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   วิเคราะห์ : สุรินทร์ ปาลาเร่ ว่าที่ ส.ส.สงขลา ฝ่ากระแสประชาธิปัตย์ ตกต่ำทีชายแดนใต้

วิเคราะห์ :  สุรินทร์ ปาลาเร่ 

ว่าที่ ส.ส.สงขลา ฝ่ากระแสประชาธิปัตย์ ตกต่ำทีชายแดนใต้

 โดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้  Shukur2003@yahoo.co.uk,

            ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน



           
           พลตำรวจตรีสุรินทร์ ปาลาเร่
หรือ บังโซบ เป็น 1 ใน 2 ของผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชนะการเลือกตั้งที่ชายแดนใต้ และ 1ใน 3 ที่สามารถรักษาเก้าอี้อดีต ส.ส.ของจังหวัดสงขลาจาก 8 เก้าอี้ หลังจากที่แพ้ให้พลังประชารัฐ และ ภูมิใจไทย ในสนามเลือกตั้งในสงขลา รวมทั้งเป็นอีก หนึ่งว่าที่ ส.ส. จากภาคใต้ ในยุคสึนามิทางการเมืองเล่นงานพรรคประชาธิปัตย์ที่ภาคใต้

            อะไรเป็นสาเหตุให้ท่านยังคงแข็งแกร่งทัดทานกระแสความตกต่ำของพรรคได้และสามารถคว้าคะแนน ห้าหมื่นกว่าคะแนนทิ้งห่างอันดับสองอย่างไม่เห็นฝุ่น

             จากที่ผู้เขียนเป็นคนจะนะ จังหวัดสงขลาด้วยกันสามารถวิเคราะห์ได้ว่าปัจจัยหลักมาจากความสามารถส่วนตัวของท่านที่ทำงานมวลชนในพื้นที่ตลอดระยะเวลาก่อนเล่นการเมือง เล่นการเมืองหรือช่วงสุญญากาศทางการเมืองภายใต้รัฐบาล คสช.
             
            หากดูประวัติท่านไม่ธรรมดา พลตำรวจตรีสุรินทร์ ปาลาเร่  เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และปริญญาโท จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็น อดีตข้าราชการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ.2549 ด้วยคะแนนเสียงอันดับหนึ่งของจังหวัด

             จากนั้นก็ได้พ้นจากตำแหน่ง หลังจากมีการรัฐประหารโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จากนั้นจึงเข้าร่วมกับนายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอะ จัดตั้งกลุ่มสัจานุภาพ และ เข้าสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 แต่ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พล.ต.ต.สุรินทร์ ไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ได้คะแนนเป็นอันดับสอง พ่ายแพ้ต่อ นายนาราชา สุวิทย์ อดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ 2 สมัย อย่างสูสี  ทำให้ท่านกลับเข้ารับราชการต่อจนเกษียณอายุราชการ

           ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ.2554 พลตำรวจตรีสุรินทร์  ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดสงขลา อีกครั้ง โดยสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์  และชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนอย่างท้วมท้น แม้ ปี 2557 คสช.ปฏิวัติรัฐประหาร ท่านก็ยังทำงานมวลชนตลอดโดยเฉพาะในนามเลขาธิการคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย เปรียบเสมือนแม้บ้านของ สำนักจุฬาราชมนตรี ที่มีบทบาทในสังคมมุสลิมไทย

            ในช่วงนี้เองท่านมีเวลามากทำงานพัฒนาสังคมมุสลิมขึ้นเหนือล่องใต้ ไปทุกชุมชนของมุสลิมและยังเป็นตัวประสานหลักกับหน่วยงานราชการ รวมทั้งต่างประเทศโดยเฉพาะโลกมุสลิม

             ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ท่านเป็นผู้ประสานงานทุนการศึกษาจากตุรกี  อียิปต์ ซูดานและอินโดนีเซีย ในนามองค์กรมุสลิม คือ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย

            สำหรับพื้นที่เขต 8 จังหวัดสงขลา (จะนะและเทพา) ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของท่าน มีบทบาทหนุนเสริมโรงเรียนสอนศาสนาประจำมัสยิด(ตาดีกา) มีการจัดเวทีวิชาการด้านกิจการฮาลาล ให้กับผู้นำชุมชนสตรี เยาวชน

             เกือบทุกเวทีงานมุสลิมเชื้อเชิญท่านเปิดหรือร่วมงานตลอดและเป็นผู้ประสานหลักที่สามารถให้รัฐบาลตุรกี มาเป็นผู้สนับสนุนสร้างมัสยิดกลางอำเภอจะนะ หลายสิบล้านบาท นำคนในพื้นที่ให้ได้รับทุนการศึกษาที่ประเทศตุรกี หากมีผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายความมั่นคง ชาวบ้านมักนึกถึงท่านเป็นชื่อแรกๆ ให้ช่วยเหลือคดี

               ดังนั้นถึงแม้กระแสพรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำ กระแสพรรคประชาชาติ และอนาคตใหม่ ฟีเวอร์  รวมทั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่มี นายอนุมัติ อาหมัด เป็นแกนนำ (ข่าวเชิงลึกท่านอนุมัติ มีสัญญาใจกับท่าน ไม่ขอช่วยพรรคพลังประชารัฐในพื้นที่ดังกล่าว อันเนื่องมาจากท่านอนุมัติกับท่านสุรินทร์ ทำงานร่วมกันใน ตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย และเพื่อนสนิท) ก็ไม่สามารเจาะคะแนนเสียงท่านหรือคว่ำท่านได้

             ดังนั้นก็ขอให้ท่านทำงานในตำแหน่งตัวแทนประชาชนในเขต 8 สงขลา ตามที่ท่านได้สัญญาไว้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน