นักวิจัยแนะทบทวนโครงสร้างยางหวั่นกระทบทั้งระบบ
โดย: กิตติยาณีย์ สมหมาย
สำนักข่าวอะลามี: ท่ามกลางภัยพิบัติที่ประเทศไทยกำลังประสบในปลายปี 2554 นี้ถือหนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา ได้ส่งผลไปถึงไปถึงภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ทำให้การบริโภคในส่วนต่างๆ ลดลง ไม่เว้นแต่วัตถุดิบอย่างยางพารา ซึ่งส่งผลให้ราคาตกลง จนหลายฝ่ายกังวลและไม่มั่นใจในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกเองก็มีแนวโน้มจะถดถอยอย่างรุนแรงทั้งในอเมริกาและอียู ผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนจึงรวมตัวกันทบทวนถึงปริมาณการใช้ยางหรือการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าภายในประเทศ
นักวิจัยแนะยางราคาตกเป็นโอกาสทบทวนโครงสร้างทั้งระบบ
ผศ.ดร.เตือนใจ สมบูรณ์วิวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า ยางพารา พืชเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำอยู่ในขณะนี้ มีใครทราบบ้างหรือไม่ว่า การมองยางพาราทั้งระบบโซ่อุปทาน อาจจะช่วยแก้ปัญหาระยะยาวได้
งานวิจัยชั้นหนึ่งของสกว. ในปีทีผ่านมาระบุว่า ระบบห่วงโซ่อุปทาน และโลจิกติกส์ยางพารา มีการศึกษาการไหลของยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการแตกส่วนโซ่อุปทานยางพารา ออกเป็นเกษตรกร พ่อค้า สหกรณ์ โรงงานแปรรูปและส่งออก
งานวิจัยชั้นนี้เริ่มจาการศึกษาปัญหาทั้งสายโซ่ในทุกๆส่วนจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงผ่านการสัมภาษณ์และระดมสมองผู้ที่อยู่ในวงการทั้งยางพาราและโลจิกติกส์ของประเทศ ปรากฏว่า มีปัญหามากมายอีกทั้งซับซ้อนกันในหลายมิติ แต่เมื่อกรองลงไปพบว่าปัญหาย่อยๆ ตลาดเชื่อมโยงไม่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรขาดแหล่งรับซื้ออย่างเป็นธรรมเป็นต้น ขาดความเข้าใจในตลาดกลาง ขาดความเข้าใจในสหกรณ์ การแย่งตลาดระหว่างสหกรณ์และพ่อค้า
ผศ.ดร.เตือนใจ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการส่งออกยางพาราแปรรูป ต่อการแปรรูปในประเทศและส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ยางตั้งแต่ปี 2546-2550 เฉลี่ยแล้วคือ 88:12 นั้นคือ จากยางพารา 100 ส่วนของไทย เราแปรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกเพียง 12 ส่วน หรือ 88 ส่วน เราส่งออกเป็นยางพาราธรรมชาติไปเป็นวัตถุดิบหมด แต่เมื่อมาดูมูลค่าส่งออกรวมแค่ 61 % เท่านั้น
“ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางมากที่สุด และมีสัดส่วนการส่งออกสูงสุดถึง 68 % ของทั้งหมดคือ ยางพาหนะ รองลงมาคือถุงมือยาง 11 % ซึ่งการผลิตยางยานพาหนะนั้นมีปริมาณการใช้ยางและมูลค่าประมาณ 50 % ของผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมด คือยางพารา ที่ผลิตออกมาต้นน้ำนั้น ครึ่งหนึ่งของปริมาณการใช้ในประเทศทำผลิตภัณฑ์จะเข้าไปในอุตสาหกรรมนี้ “ผศ.ดร.เตือนใจ กล่าวและว่า
สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนายางพารา พ.ศ. 2552-2556 กำหนดว่า จะต้องเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติในประเทศ โดยเพิ่มปริมาณการใช้จาก397,495 ตันในปี 2551 เป็น 580,000 ตัน ในปี 2556 หรือเพิ่มจากร้อยละ 12.87 เป็นร้อยละ 17.00 ของผลผลิตปีเดียวกัน และเมื่อไปดูข้อมูลสถาบันวิจัยยางมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางสูงสุด 5 อันดับแรกในปี 2553 พบว่า ยางยานพาหนะ 82,285.75 ล้านบาท 2. ยางคอมพาวด์ 47,117.53 ล้านบาท 3. ถุงมือยาง 30,445.53 ล้านบาท 4. ท่อยาง 5,076.67 ล้านบาท และ 5. สายพาน 3,020.39 ล้านบาท
แนะเพิ่มการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม
ด้าน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เนื่องด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมูลค่ามหาศาล ดังเช่นปี 2553 ปริมาณผลผลิตยางในประเทศ 3.2 ล้านตัน ส่งออกในรูปยางดิบ 2.8 ล้านตัน คิดเป็นประมาณ 88% ของผลผลิตทั้งหมด สร้างรายได้ประมาณ 240,000 ล้านบาท ปริมาณที่เหลือใช้แปรรูปผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 4.5 แสนตัน คิดเป็นประมาณ 14 % ของผลผลิตทั้งหมด เพื่อส่งออกในรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางสูงถึง 203,000 ล้านบาท
จากตัวเลขทั้งหมดนี้ทำให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่จะเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกให้ได้ประมาณ 20 % ของประมาณการผลิตทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับยางพารามากกว่า 1 ล้านครอบครัว การจะเพิ่มการใช้ยางในประเทศได้นั้น ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์เดิมเพื่อเพิ่มมูลค่ามากกว่าการพึ่งพาการส่งออกวัตถุดิบ
ทั้งนี้นักวิจัยต้องผลิตผลงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมได้ และจำเป็นต้องมีการสร้างนักวิจัยใหม่ๆเพื่อรองรับกับภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตให้สร้างงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ควบคู่กันไป
แนวโน้มไทยปลูกยางสูงกว่าทั่วโลก
ขณะที่ นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวถึงสถานการณ์การปลูกยาง และการผลิตยางพาราของไทย ว่า พื้นที่ปลูกยางพาราของประเทศไทย พ.ศ. 2553 ภาคเหนือ 785,211 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,161,871 ไร่ ภาคตะวันออกรวมภาคกลาง 2,163,161 ไร่ และภาคใต้ 11,849,160 ไร่
“ปัจจัยที่ทำให้ความต้องการยางพาราขยายตัวเพิ่มขึ้น จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกและสต็อคน้ำมัน ที่มีอยู่ของโลก ปริมาณผลผลิตยางพาราของโลก “
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า โอกาสของยางพาราไทย นั้นเรามีพื้นที่ใหม่ในการสร้างสวนยางเพิ่มในอนาคตทางอีสานและเหนือ มีนโยบายของรัฐบาลให้การสนับสนุนชัดเจน มีข้อจำกัดด้านแรงงานน้อย มีปริมาณผลผลิตต่อไร่ต่อปีสูง แต่เราก็มีสิ่งท้าทายนั้นคือ พื้นที่ปลูกเพิ่มส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศไม่ค่อยเหมาะสม ให้ผลผลิตต่ำ เจ้าของสวนยางยังขาดประสบการณ์ในการทำสวนยาง
ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มีปัญหาเรื่องฝนตก และน้ำท่วม ซึ่งส่งผลต่อการเก็บน้ำยาง มีฤดูหนาวที่ยาวนานขึ้น เกษตรกรทางภาคใต้ หันไปปลูกพืชชนิดอื่น
ราคายางพาราที่มีแนวโน้มต่ำลงอาจจะเป็นช่วงเวลาและโอกาสสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนและพิจารณากันอย่างจริงถึงการแก้ปัญหายางทั้งระบบ ภายใต้งานวิจัยมากกมายที่ถ่ายทอดออกมา หากได้มีการผสมผสาน และหาทางออกที่ชัดเจนร่วมกัน อาจจะมีช่องทางในการเพิ่มการแปรรูปยางพาราภายในประเทศให้เพิ่มขึ้นได้
และนั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรชาวสวนยางพาราที่ดีขึ้น และความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของไทยเองที่จะก้าวไปข้างหน้า เพราะแม้วันนี้ไทยเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบมากที่สุด แต่ในอนาคตข้างหน้าหากเราเป็นเพียงผู้ส่งวัตถุดิบไปให้ประเทศอื่นแปรรูปสักวันหนึ่ง ไทยก็อาจจะไม่ใช่ที่ 1 ในโลกเรื่องยาง