ผู้แทนพิเศษประชุมเสริมสร้างฯครั้งที่ 9
กระตุ้นขับเคลื่อนแก้ปัญหาชายแดนใต้
สำนักข่าวอะลามี่ : การประชุมเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามกลไกประชารัฐ ครั้งที่ 9/2562 ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 24 มกราคม 2562 โดย พลเอกสรุเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลและรัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมฯ
การประชุมในครั้งนี้ โดยมีผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ผู้แทนหน่วยงานราชการ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักศึกษา และ ผู้แทนภาคประชาชน มาร่วมการประชุมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 600 คน
โดยเชิญ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ ยุทธศาสตร์พระราชทาน “ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ” กับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเข้าใจและน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา สามารถนำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ยุทธศาสตร์พระราชา “ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ” เป็นวิธีการแห่งศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เป็นวิธีการทรงงานมาโดยตลอด ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ถือว่าเป็นผู้ที่ ได้สนองงานอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำเร็จแห่งศาสตร์พระราชา จึงได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบ และรักษาความเป็นพหุวัฒนธรรมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน ให้มีความเป็นเอกภาพกลับมาซึ่งสันติสุขและยั่งยืนต่อไป
พลเอกสรุเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กล่าวในโอกาสพบกับผู้เข้าร่วมประชุม ว่า ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลมีภารกิจ 3 ด้าน โดยแบ่งงานตามกลุ่มภารกิจ เป็น 7 กลุ่มภารกิจ อย่างไรก็ตาม จากการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 พบว่าผู้เข้าประชุมมีความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยให้ทีมที่ปรึกษาของผู้แทนพิเศษในแต่ละด้าน ทำหน้าที่รวบรวมปัญหาทุกเรื่องที่มีทั้งหมดมารวมกัน เพื่อพิจารณาแก้ไขร่วมกันคลี่คลายปัญหาไปเป็นระดับ
โดยได้มีการประชุมและพบปะทุกภาคส่วน เช่น ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ทุกระดับ รวมทั้งประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการพัฒนาในด้านต่างๆ รวมทั้งจัดการเรื่องทุนการศึกษา เพื่อให้ประชาชนและยาวชนเข้าถึงระบบการศึกษามากขึ้น
“ เราทำงานร่วมกันทั้งวิทยาลัยอาชีวะ ส่งเสริมให้เรียนแล้วมีงานทำ มีอาชีพ ส่วนการศึกษานอกระบบ หรือ กศน. จะดูแลนักศึกษานอกระบบ นำประชากรในวัยเรียนกลับเข้ามาในระบบแล้วกว่าร้อยละ 90 จนได้รับการชื่นชมจากองค์กรยูเนสโก ว่าเป็นต้นแบบการศึกษา “
พลเอกสุรเชษฐ์ กล่าวว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดผลสัมฤทธิ์จึงได้มอบหมายให้รายงานการปฏิบัติงานและการขับเคลื่อนเป็นรายวัน เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์และขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด.