ศอ.บต.พัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่ สร้างมิติการทำงานไร้รอยต่อ
สำนักข่าวอะลามี่ : ศอ.บต. ประชุมขับเคลื่อนเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จชต. พร้อมเดินหน้าตามนโยบายการพัฒนาไร้ร่อยต่อมิติใหม่การพัฒนาชายแดนใต้ เน้นย้ำประชาชนในพื้นที่จะต้องมีอาชีพมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมหารือเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ( 21 พฤศจิกายน 2561 ) ณ ห้องประชุมปัญจเพชร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจรุ่นใหม่ (YES) กลุ่มผู้ประกอบการ Startup และกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเชื่อมโยงการประกอบธุรกิจแบบไรรอยต่อ และเปิดโอกาสให้กลุ่มได้นำเสนอการดำเนินกิจการ ปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ โดยมี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายธีรพงศ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. นายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมรับฟังการดำเนินกิจการของนักธุรกิจรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้
ทั้งนี้เป้าหมายของ ศอ.บต. คือ ต้องการขับเคลื่อนในส่วนที่เป็นช่องว่างหรือการดำเนินกิจการที่ขาดช่วงในแต่ละกลุ่ม แต่ละคน แต่ละธุรกิจ จากนั้น ศอ.บต.จะดำเนินการหาวิธีการเชื่อมโยงและเดินหน้าให้เป็นระบบ โดยเฉพาะการแปรรูปสินค้าส่งออกต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามจากการทำงานที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มยังประสบปัญหาอุปสรรคด้านการตลาดบ้าง วัตถุดิบบ้าง บรรจุภัณฑ์บ้าง การหารือในวันนี้จะเป็นช่องทางในการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้เกิดการพัฒนาให้ตรงจุดและเป็นขั้นเป็นตอน สามารถที่จะหนุนเสริมซึ่งกันและกันได้ต่อไป
สำหรับการประชุมหารือในครั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จชต. ได้นำเสนอถึงกิจการและธุรกิจของแต่ละกลุ่มที่มีความหลากหลายทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การประมง การค้า การท่องเที่ยว การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และธุรกิจออนไลน์ ส่วนสำคัญคือการส่งเสริมด้านการศึกษาและสร้างความเข้าใจให้คนในพื้นที่มีความรักและห่วงแหนบ้านเกิด ดึงเอาศักยภาพของพื้นที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย
นอกจากนี้ กลุ่มนักธุรกิจและผู้ประกอบการยังได้มีข้อเสนอแนะให้ มีการเพิ่มศักยภาพและให้ความรู้แก่แรงงานในพื้นที่ด้านวิชาชีพและธุรกิจออนไลน์เป็นอีกช่องทางการตลาดที่มีความรวดเร็วและสร้างรายได้ดีในยุคไทยแลนด์ 4.0
อย่างไรก็ตามการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องเดินหน้าด้วยการบูรณาการกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนนักธุรกิจและผู้ประกอบการในทุกๆ ด้าน ให้สามารถต่อยอดให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับธันวาคม 2561