วิเคราะห์การเลือกตั้งทั่วไปมาเลเซีย
เบื้องลึก เบื้องหน้า เบื้องหลัง ชัยชนะของ “มหาเธร์ โมฮัมหมัด”
By : Nik Rakib Nik Hassan
สำนักข่าวอะลามี่ : การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของประเทศมาเลเซียในครั้งนี้ ได้หักปากกาเซียนวิเคราะห์การเมืองในประเทศไทยมากมาย เพราะแต่ละคนฟันธงว่าพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะได้รับชัยชนะ เพียงว่าคะแนนอาจจะลดลงเท่านั้นเอง แต่ปรากฏว่า พรรคแนวร่วมแห่งชาติได้รับความพ่ายแพ้แก่พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) อย่างถล่มทลาย
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับการเลือกตั้งในประเทศมาเลเซีย การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก มีขึ้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 1955 ก่อนการประกาศเอกราชของประเทศ และก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 13 ซึ่งครั้งนั้น พรรคแนวร่วมแห่งชาติ ก็ยังครองเสียงส่วนใหญ่ และปกครองประเทศนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกจนครั้งที่ 13
โดยการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 เป็นการแข่งขันกัน 2 ขั้ว ประกอบด้วย พรรคแนวร่วมแห่งชาติ ที่มี ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค เป็นผู้นำ กับพรรคแนวร่วมประชาชน (Pakatan Rakyat) ซึ่งประกอบด้วยพรรคความยุติธรรมของประชาชน (Parti Keadilan Rakyat) ของ ดาโต๊ะสรีอันวาร์ อิบราฮิม พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Parti Islam SeMalaysia) หรือ รู้จักในนามพรรคปาส (Parti Pas) และ พรรคกิจประชาธิปไตย (Democratic Action Party) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน
โดยพรรคแนวร่วมประชาชน (Pakatan Rakyat) นี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ 11 เมษายน 2008 และเลิกกลุ่มพรรค เมื่อ 16 กรกฎาคม 2015 การเลือกตั้งครั้งที่ 13 นั้น แม้ว่าพรรคแนวร่วมแห่งชาติ จะชนะการเลือกตั้งได้ 133 ที่นั่ง ส่วนพรรคแนวร่วมประชาชน ได้ 89 ที่นั่ง แต่เสียง Popular vote ปรากฏว่า พรรคแนวร่วมแห่งชาติ ได้น้อยกว่าพรรคแนวร่วมประชาชน
โดยพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ได้ 5,237,699 เสียง คิดเป็น 47.38 % มีเสียงลดลงจากการเลือกตั้งครั้งที่ 12 คิดเป็น 2.89 % ส่วนพรรคแนวร่วมประชาชนได้ 5,623,984 เสียง คิดเป็น 50.87 % มีเสียงมากขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่ 12 คิดเป็น 4.12 %
การเลือกตั้งในประเทศมาเลเซียนั้น จะเป็นการเลือกตั้ง 2 ระดับ คือ การเลือกตั้งระดับประเทศ เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกคณะผู้บริหารประเทศ เป็นรัฐบาลกลางต่อไป และการเลือกตั้งระดับรัฐ เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ เพื่อเลือกคณะผู้บริหารรัฐ เป็นรัฐบาลท้องถิ่น
ด้วยระบบการปกครองของมาเลเซียเป็นการปกครองแบบสหพันธรัฐ จึงมีการกำหนดอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น สำหรับรัฐบาลท้องถิ่นในประเทศมาเลเซีย ก็คล้ายองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ของประเทศไทย แต่รัฐบาลท้องถิ่นของประเทศมาเลเซีย จะมีอำนาจที่มากกว่า มีการปกครองตนเอง มีอำนาจในการออกกฎหมายอิสลาม โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐ อำนาจด้านที่ดิน การเกษตร และการป่าไม้ หน่วยงานบริหารท้องถิ่น และอีกอื่น ๆ
การสมัครรับเลือกตั้งในประเทศมาเลเซียนั้น ผู้สมัครสามารถที่จะสมัครในระดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และระดับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งสองระดับ หรือระดับใดระดับหนึ่งก็ได้ และจะสังกัดหรือจะสมัครอิสระก็ได้
โดยผู้สมัครระดับชาติ หรือ สภาผู้แทนราษฎร จะต้องวางเงินประกัน จำนวน 10,000 ริงกิต และผู้สมัครระดับรัฐ หรือ สภานิติบัญญัติแห่งรัฐ จะต้องวางเงินประกัน จำนวน 5,000 ริงกิต ผู้ลงคะแนนต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป ส่วนผู้สมัครรับการเลือกตั้งก็มีอายุ 21 ปีขึ้นไปเช่นกัน
สำหรับผู้สมัครที่ได้คะแนนไม่ถึง 1 ใน 8 หรือ ไม่ถึง 12.5 % ของคะแนนทั้งหมด เงินประกันจะถูกริบ เวลาของการสมัครรับเลือกตั้งค่อนข้างจะสั้นกว่าของประเทศไทย คือ ระหว่างเวลา 09.00-10.00 น. และเวลาของการตรวจสอบเอกสารและการคัดค้านการรับสมัคร ระหว่างเวลา 10.00-11.00 น.
และในการรับสมัครการเลือกตั้งในครั้งที่ 14 นี้ กกต.ของมาเลเซีย ค่อนข้างจะเข้าข้างพรรคแนวร่วมแห่งชาติของรัฐบาลอย่างเห็นชัด อย่างคู่แข่งของมุขมนตรีรัฐนัครีซัมบีลัน เพียงลืมนำบัตรผู้สมัครที่ออกให้ แม้ว่าจะจ่ายค่าประกันผู้สมัครแล้ว ก็ได้รับการคัดค้านจากฝ่ายตรงข้าม จนมุขมนตรีรัฐนัครีซัมบีลัน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นอดีตมุขมนตรีไปแล้ว กลายเป็นผู้ชนะรับเลือกตั้งโดยไม่มีคู่แข่ง
เรามารู้จักพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 กันครับ
พรรคการเมืองกลุ่มแรก คือ พรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1973 แต่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อ 1 มิถุนายน 1974 ในฐานะเป็นพรรคการเมืองหนึ่ง เป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นโดย ตุนอับดุลราซัค ฮุสเซ็น อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นบิดาของ ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัด นายิบ ตุนอับดุลราซัค
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ เป็นพรรคที่รับช่วงต่อจากพรรคพันธมิตร (Parti Perikatan) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ 30 ตุลาคม 1957 ซึ่งประกอบด้วย พรรคสหมลายูแห่งชาติ หรือ พรรคอัมโน (United Malays National Oganisation) พรรคสมาคมจีนมาเลเซีย (Malaysia Chinese Association) และพรรคสภาอินเดียมาเลเซีย (Malaysia Indian Congress) เมื่อมาเป็นพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ก็มีสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมี 13 พรรค
ความจริงยังมีพรรคการเมืองอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมแห่งชาติ แต่เมื่อได้รับการคัดค้านจากพรรคใดพรรคหนึ่งใน 13 พรรค ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วม เช่น พรรคสภาอินเดียมุสลิมมาเลเซีย หรือ Kongres India Muslim Malaysia (Kimma) โดยพรรคสภาอินเดียมาเลเซีย (Malaysia Indian Congress) คัดค้านว่า ตัวแทนกลุ่มชาวอินเดียมีอยู่แล้ว ถ้าจะเข้าร่วมก็สลายกลุ่มเข้ามาผ่านพรรคสภาอินเดียมาเลเซีย
ส่วนพรรคการเมืองที่สังกัดพรรคแนวร่วมแห่งชาติก็มีเข้าออก เช่น พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย ก็เคยเข้าร่วมกับพรรคแนวร่วมแห่งชาติ จนลาออกจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติครั้งเกิดความขัดแย้งเรื่องการบริหารรัฐกลันตัน ในปี 1978
กลุ่มพรรคการเมืองที่สองคือ พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) เป็นกลุ่มที่รวมตัวกัน เมื่อ 22 กันยายน 2015 เป็นกลุ่มพรรคการเมืองที่ประกอบด้วยพรรคกิจประชาธิปไตย (DAP-Democratic Action Party) พรรคความยุติธรรมของประชาชน (Parti Keadilan Rakyat) และ พรรคคนงานมาเลเซีย (Parti Pekerja Pekerja Malaysia)
แต่ต่อมาพรรคคนงาน ถูกแทนที่โดย พรรคอามานะห์แห่งชาติ (PAN-Parti Amanah Negara) ภายใต้การนำของ นายมูฮัมหมัด ซาบู ซึ่งเป็นพรรคที่แตกออกมาจากพรรคปาส
สำหรับพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) เป็นกลุ่มพรรคที่รับช่วงต่อมาจากกลุ่มพรรคการเมืองที่ชื่อว่า พรรคแนวร่วมประชาชน (Pakatan Rakyat) โดยพรรคแนวร่วมประชาชนประกอบด้วย พรรคกิจประชาธิปไตย (DAP-Democratic Action Party) พรรคความยุติธรรมของประชาชน (Parti Keadilan Rakyat) และพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือพรรคปาส พรรคแนวร่วมประชาชนสลายตัว เมื่อพรรคอิสลามแห่งมาเลเซียออกจากกลุ่มพรรคแนวร่วมประชาชน ในปี 2015
สำหรับพรรคภูมิบุตรสามัคคีแห่งมาเลเซีย (Bersatu – Parti Pribumi Bersatu Malaysia) ซึ่งเป็นพรรคภายใต้การนำของ ตุนมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี และตันสรีมุฮยิดดิน ยัสซิน อดีตรองประธานพรรคอัมโน และอดีตรองนายกรัฐมนตรีที่ถูก ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค ปลดออกจากตำแหน่ง กรณีเขากังขาความบริสุทธิ์ของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค ที่มีต่อการคอรัปชั่นบริษัทของรัฐที่มีชื่อว่า 1MDB (1 Malaysia Development Berhad) ที่เกิดความเสียหายเป็นหนี้ 4 หมื่นกว่าล้านริงกิต
พรรคภูมิบุตรสามัคคีแห่งมาเลเซีย ถือว่าเป็นพรรคที่แตกออกมาจากพรรคอัมโน และอีกพรรคหนึ่งคือ พรรคมรดกซาบะห์ (Parti Warisan Sabah) เป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นในรัฐซาบะห์ โดย ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดชาฟีอี อัปดาล อดีตรัฐมนตรีพัฒนาชนบทและดินแดน และผู้ช่วยประธานพรรคอัมโน ที่ถูกปลดในกรณีเกี่ยวกันกับ ตันสรีมุฮยิดดิน ยัสซิน พรรคมรดกซาบะห์ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง แต่เป็นพรรคพันธมิตรของพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง
สำหรับพรรคภูมิบุตรสามัคคีแห่งมาเลเซีย ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ 8 กันยายน 2016 แต่ พรรคภูมิบุตรสามัคคีแห่งมาเลเซีย ถูกสำนักงานจดทะเบียนองค์กร (Registry of Society) สั่งให้ยุบพรรคเป็นการชั่วคราว เมื่อ 5 เมษายน 2018 ด้วยเหตุผลไม่สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด
การที่สำนักงานจดทะเบียนองค์กร (Registry of Society) สั่งยุบพรรคเป็นการชั่วคราว ได้รับการโจมตีจากหลายฝ่าย โดยกล่าวว่า ทางสำนักงานจดทะเบียนองค์กร (Registry of Society) ได้รับใบสั่งจากทางรัฐบาล ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค เคยท้าทาย ตุนมหาเธร์ มูฮัมหมัด ให้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา พอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ก็ทำทุกวิธีทางในการสกัดพรรคการเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมา
ดังนั้นแม้โดยทางการพรรคภูมิบุตรสามัคคีแห่งมาเลเซีย ไม่สามารถจะเป็นส่วนหนึ่งของพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง แต่โดยพฤตินัย สมาชิกพรรคและกลไกพรรคภูมิบุตรสามัคคีแห่งมาเลเซีย เป็นส่วนหนึ่งของพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง
กลุ่มพรรคการเมืองที่สาม คือ แนวร่วมแห่งสันติสุข (Gagasan Sejahtera) เมื่อพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย อกจากพรรคแนวร่วมประชาชน จึงออกมาจัดตั้งกลุ่มพรรคของตนเอง เรียกตัวเองว่า กลุ่มทางเลือกที่สาม ประกอบด้วยพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย ภายใต้การนำของฮัจญีอับดุลฮาดี อาวัง
พรรคพันธมิตรแห่งชาติมาเลเซีย (Ikatan – Parti Ikatan Bangsa Malaysia) ภายใต้การนำของตันสรีอับดุลกาเดร์ เชคฟาดีร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงประชาสัมพันธ์ ยุค ตุนอับดุลลอฮ บาดาวี เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคแนวร่วมอิสลามแห่งมาเลเซีย (Berjasa – Barisan Jemaah Islamiah SeMalaysia) เป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นโดย ดาโต๊ะฮัจญีมูฮัมหมัด บินนาเซร์ อดีตมุขมนตรีรัฐกลันตัน เมื่อปี 1977 ครั้งที่ ดาโต๊ะฮัจญีมูฮัมหมัด บินนาเซร์ ถูกขับออกจากพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย
สำหรับพรรคแนวร่วมอิสลามแห่งมาเลเซียก็มีการลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 แต่ไม่ได้รับเลือก และพรรครักมาเลเซีย (Parti Cinta Malaysia) เป็นพรรคเล็กๆที่รวมตัวจากกลุ่มคนที่ลาออกจากพรรคเดิมของตนเอง รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) นับร้อยกลุ่มที่รวมตัวในนามของสภาประชาชน (Kongres Rakyat) แต่โดยทั่วๆไป คนจะรู้จักพรรคแนวร่วมอิสลามแห่งมาเลเซียมากกว่าชื่อของแนวร่วมแห่งสันติสุข (Gagasan Sejahtera)
การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศมาเลเซีย จะแตกต่างจากประเทศไทย นั้นคือจะไม่ใช้หมายเลขในการลงคะแนน แต่จะใช้สัญลักษณ์ของพรรคการเมืองแทน หรือ ผู้สมัครอิสระก็จะใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ช้าง ถ้วย รถจักรยาน และอื่นๆ ผู้เขียนคิดว่าสำหรับผู้เฒ่า คนแก่ จะเหมาะกว่าการใช้หมายเลข
สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 นี้ กลุ่มพรรคการเมืองที่ชื่อพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ทั้ง 13 พรรค จะใช้สัญลักษณ์เดียวกัน นั้นคือ ตราชั่ง ส่วนกลุ่มพรรคการเมืองที่รวมตัวในนามของพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง รวมทั้งพรรคภูมิบุตรสามัคคีแห่งมาเลเซีย จะใช้สัญลักษณ์ของพรรคความยุติธรรมของประชาชน ของดาโต๊ะสรีอันวาร์ อิบราฮิม สำหรับแนวร่วมแห่งสันติสุข (Gagasan Sejahtera) แม้จะเป็นการรวมตัวของหลายพรรคก็ตาม แต่พรรคหลักคือพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย ดังนั้นสัญลักษณ์ของกลุ่มพรรคการเมืองนี้ จึงใช้สัญลักษณ์ของพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย
แต่ในรัฐซาบะห์ ทางพรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) และพรรคความยุติธรรมของประชาชน (PKR) ได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง แต่ว่าแต่ละเขต พรรคจะใช้สัญลักษณ์ของพรรคตัวเอง ในบางเขตจะเป็นการแข่งขันกันสามฝ่าย ทั้งจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง และกลุ่มพรรคแนวร่วมแห่งสันติสุข
ดังนั้นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ในครั้งนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งที่ค่อนข้างดุเดือด จนถือเป็นการยากที่จะวิเคราะห์ว่าบางเขตฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะ เพราะมีการตัดคะแนนกันเอง พรรคอัมโนก็แตกออกมาเป็นพรรคภูมิบุตรสามัคคีแห่งมาเลเซีย ส่วนพรรคอิสลามแห่งมาเลเซียเอง ก็แตกออกมาเป็นพรรคอามานะห์แห่งชาติ
ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 นี้ ไม่เพียงจะเป็นการตัดคะแนนกันไปมาระหว่างกลุ่มพรรคการเมืองที่แตกตัวออกมา แต่มีการเจรจากันทางลับ ระหว่างพรรคอิสลามแห่งมาเลเซียกับพรรคอัมโน โดยตัวแทนพรรคทั้งสองได้เจรจาถึงโอกาสในการร่วมมือกัน
และก่อนการลงคะแนนเพียง 1 วัน ทางพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย โดย ดาโต๊ะสรีฮัจญีอับดุลฮาดี อาวัง ประธานพรรค ได้ออกหนังสือเวียนถึงผู้สนับสนุนพรรคว่า ในเขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครพรรคได้รับเสียงสูง ก็ให้สนับสนุนพรรคอย่างเต็มที่ แต่ในกรณีที่ผู้สมัครของพรรคมีเสียงที่ไม่ดีนัก ก็ขอให้ผู้สนับสนุนพรรคลงคะแนนให้พรรคแนวร่วมแห่งชาติ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการป้องกันพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง โดยผู้สมัครจากพรรคอามานะห์แห่งชาติ จะชนะการเลือกตั้ง
คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มาเลเซีย ได้กำหนดให้เปิดสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 28 เมษายน 2018 และมีการลงคะแนนล่วงหน้าในวันที่ 5 พฤษภา 2018 สำหรับบุคคลต่างๆ เช่น ทหาร ตำรวจ ผู้สื่อข่าวและผู้ที่อยู่ในต่างประเทศ เจ้าหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุข เจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิง เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และอื่นๆ ตามที่กำหนด และให้ลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภา 2018 ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. โดยมีเวลาในการหาเสียง 11 วัน
บางครั้งเราอาจสงสัยว่าทำไมเวลาค่อนข้างสั้นมาก เราต้องเข้าใจว่า ระบบกพรรคการเมืองของประเทศมาเลเซียนั้น จะเป็นแบบพรรคมวลชน หรือ Mass party นั่นคือ ในแต่ละพื้นที่ จะมีสาขาพรรค กลไกพรรคกระจายไปทั่วประเทศ สาขาพรรคจะทำหน้าที่เคลื่อนไหวตลอด แม้มีเวลาหาเสียงก็จริง แต่พรรคสาขาพรรค กลไกพรรคมีการเคลื่อนไหว หาเสียงมาเป็นเวลานับเดือน นับปีแล้ว
ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 มีผู้ลงคะแนนทั้งหมด 14,940,624 คน โดยในการเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 222 ที่นั่ง และสมาชิกสภานินิบัญญัติแห่งรัฐจำนวน 505 ที่นั่ง ยกเว้นสภานินิบัญญัติแห่งรัฐของรัฐซาราวัค เพราะมีการเลือกตั้งแล้วเมื่อปี 2017
สำหรับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้หักปากกาเซียนนักวิเคราะห์การเมืองเป็นแถว โดยผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 มีดังนี้
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 79 166
พรรคปาส 18 90
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 113 226
พรรคมรดกซาบะห์ 8 21
ผู้สมัครอิสระ 3 -
อื่นๆ 1 2
รวม 222 505
รัฐที่ฝ่ายพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ชนะสามารถจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่น
รัฐปาหัง
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 9 25
พรรคปาส - 8
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 5 9
รวมที่นั่ง 14 42
รัฐเปอร์ลิส
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 2 10
พรรคปาส - 2
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 1 3
รวมที่นั่ง 3 15
รัฐที่ฝ่ายพรรคแนวร่วมแห่งชาติชนะ แต่เพียงเป็นการเลือกตั้งในระดับสภาผู้แทนราษฎร ส่วนระดับ
สภานิติบัญญัติแห่งรัฐ มีการเลือกตั้งแล้วในปี 2017
รัฐซาราวัค
ชื่อพรรคการเมือง ระดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระดับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 19 -
พรรคปาส - -
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 4 -
พรรคกิจประชาธิปไตย 6 -
ผู้สมัครอิสระ 2 -
รวมที่นั่ง 31 -
ดินแดนที่ฝ่ายพรรคแนวร่วมแห่งความหวังชนะ แต่เพียงเป็นการเลือกตั้งในระดับสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีที่นั่งสำหรับสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ประกอบด้วยกัวลาลัมเปอร์ เมืองปุตราจายา และลาบวนดินแดนสหพันธรัฐ
ชื่อพรรคการเมือง ระดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระดับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 2 -
พรรคปาส - -
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 10 -
ผู้สมัครอิสระ 1 -
รวมที่นั่ง 13 -
รัฐที่ฝ่ายพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง ชนะสามารถจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่น
รัฐปีนัง
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 2 2
พรรคปาส - 1
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 11 37
รวมที่นั่ง 13 40
รัฐสลังอร์
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 2 4
พรรคปาส - 1
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 20 51
รวมที่นั่ง 22 56
รัฐนัครีซัมบีลัน
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 3 16
พรรคปาส - -
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 5 20
รวมที่นั่ง 8 36
รัฐมะละกา
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 2 13
พรรคปาส - -
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 4 15
รวมที่นั่ง 6 28
รัฐโยโฮร์
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 8 19
พรรคปาส - 1
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 18 36
รวมที่นั่ง 26 56
รัฐที่ฝ่ายพรรคอิสลามมาเลเซีย ชนะสามารถจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่น
รัฐกลันตัน
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 5 8
พรรคปาส 9 37
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง - -
รวมที่นั่ง 14 45
รัฐตรังกานู
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 2 10
พรรคปาส 6 22
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง - -
รวมที่นั่ง 8 32
รัฐที่ฝ่ายทั้งฝ่ายพรรคแนวร่วมแห่งชาติและพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง มีที่นั่งสูสีกัน ล่าสุด ดาโต๊ะสรีมุคริซ บุตรชายตุนมหาเธร์ มูฮัมหมัด ก็เข้ารับตำแหน่งมุขมนตรีเป็นสมัยที่สอง หลังจากการเป็นมุขมนตรีในสมัยแรก ต้องลาออกจากการถูกบีบโดยฝ่าย ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค
รัฐเคดะห์
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 2 3
พรรคปาส 3 15
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 10 18
รวมที่นั่ง 15 36
รัฐเปรัค
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 11 27
พรรคปาส - 3
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 13 29 -
รวมที่นั่ง 24 59
สำหรับรัฐเปรัค เป็นที่ชัดเจนว่า พรรคที่เป็นผู้กำหนดทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่น คือ 3 เสียงของพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย และทางพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย ได้ร่วมกับพรรคแนวร่วมแห่งชาติ เป็น 27 เสียงบวกกับ 3 เสียง เป็น 30 เสียง จากเสียงทั้งหมด 59 เสียง เกินครึ่งเพียง 1 เสียง ถือเป็นรัฐบาลท้องถิ่นที่ค่อนข้างเสี่ยง
รัฐที่ฝ่ายทั้งฝ่ายพรรคแนวร่วมแห่งชาติและพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง พรรคพันธมิตรของพรรค แนวร่วมแห่งความหวัง (พรรคมรดกซาบะห์) มีที่นั่งสูสีกัน
รัฐซาบะห์
ชื่อพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ 10 29
พรรคปาส - -
พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง 3 2
พรรคมรดกซาบะห์ 8 21
พรรคกิจประชาธิปไตย 3 6
พรรคสตาร์ 1 2
รวมที่นั่ง 25 60
การที่รัฐซาบะห์ มีพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง พรรคมรดกซาบะห์ พรรคกิจประชาธิปไตย รวมกันมี 29 เสียง และฝ่ายพรรคแนวร่วมแห่งชาติ มี 29 เสียง มีเสียงที่สูสีกัน และปรากฏว่า พรรคสตาร์ ซึ่งเป็นพรรคท้องถิ่นของรัฐซาบะห์ มี 2 เสียง ได้เข้าร่วมสนับสนุนพรรคแนวร่วมแห่งชาติ รวมกันเป็น 31 เสียง ถือเป็นเสียงส่วนใหญ่ โดยการเข้าเฝ้าประมุขของรัฐซาบะห์ ได้จัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่น
แต่เพียงวันเดียว เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อต่อมาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ จากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ที่มาจากพรรคอัมโน ประกอบด้วย ดาโต๊ะฮัจญีอับดุลมูอิส ปีจู ดาโต๊ะฮัจญะห์ฮามีซา ซามัต ดาโต๊ะออสมาน ยามาล และพรรค UPKO พรรคของชาวกาดาซานดูซุน และชาวมูรุต จำนวน 6 คน ได้เปลี่ยนขั้วมาสนับสนุนพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง พรรคมรดกซาบะห์ พรรคกิจประชาธิปไตย ทำให้สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2018 ตุนมหาเธร์ มูฮัมหมัด ก็ได้ทำพิธีสาบานตนต่อพระราชาธิบดี เพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นสมัยที่สอง นับเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศมาเลเซีย ที่มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวแต่ดำรงตำแหน่งสองสมัย เหมือนเช่น สุลต่านอับดุลฮาลิม สุลต่านแห่งรัฐเคดะห์ รัฐบ้านเกิดของตุนมหาเธร์ มูฮัมหมัด ที่พระองค์ก็เป็นพระราชาธิบดีสองสมัยเช่นกัน
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้พรรคแนวร่วมแห่งชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่มีส่วนในการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศมาเลเซีย และพรรคเองมีเครือข่าย กลไกกระจายในทุกระดับสังคมของมาเลเซีย
สิ่งแรกน่าจะเป็นการที่รัฐบาลประกาศเก็บภาษีแบบ GST โดย GST คือ การเก็บภาษี “Goods and Services Tax” (ภาษีการขายและการบริการ) เป็นระบบภาษีทางอ้อมที่รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 โดยจัดเก็บจากทุกครั้งที่มีการชำระเงินเพื่อซื้อขายสินค้าหรือบริการ ในอัตราร้อยละ 6 ของมูลค่าสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ทำให้สินค้าราคายิ่งสูงขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากการบริหารการจัดการของรัฐบาลมากกว่า
โดยภาพรวมของการเริ่มจัดเก็บ GST เห็นได้ว่า การเพิ่มจำนวนของร้านค้าเป็นไปอย่างราบรื่น แม้ร้านค้ารายย่อยบางแห่งยังประสบปัญหาในการปรับปรุงระบบการคำนวณภาษี ขณะที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่บางส่วนยังประสบปัญหาในการปรับเปลี่ยนป้ายราคา นอกจากนี้ สินค้าหลายชนิดที่มีการจัดเก็บ GST เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด ปลากระป๋อง กระดาษชำระ ผ้าอนามัย มีการปรับราคาสูงขึ้นตามอัตรา GST บางส่วนยังฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าในวงกว้าง เคยเกิดกรณีแม้แต่ข้าวแกงก็มีการฉวยโอกาส
ดังนั้นพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง จึงใช้การจัดเก็บภาษี GST เป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลมาเลเซีย ว่าเป็นความล้มเหลวของการบริหารและการผลักภาระด้านงบประมาณให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมคะแนนนิยมที่กำลังลดลงของนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัด นาจิบ ตุนอับดุลราซัค ทำให้ค่าครองชีพของชาวมาเลเซียสูงขึ้น
และเมื่อตุนมหาเธร์ มูฮัมหมัด เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง หนึ่งในสิ่งที่ตุนมหาเธร์ มูฮัมหมัด ประกาศว่า 100 วัน ของการเป็นนายกรัฐมนตรี คือ การยกเลิกการเก็บภาษีแบบ GST
สิ่งต่อมาที่ทำให้ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค มีคะแนนเสียงที่ลดลง คือภรรยา มีการกล่าวเสมอว่า ตุนอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวี มีคะแนนเสียงลดลง ก็มาจากบุตรเขยของตนเอง ที่ชื่อว่า ไครี ยามาลุดดิน หัวหน้าปีกเยาวชนของพรรคอัมโน และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและการกีฬาในรัฐบาลของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนาจิบ ตุนอับดุลราซัค
เขาและเพื่อนพ้องเป็นมันสมองของตุนอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวี โดยเข้าไปวางแผน เข้าไปแทรกแซงการบริหารของตุนอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวี จนเสียงสนับสนุนลดลง ในที่สุดก็จำเป็นถูกบีบให้ลาออกจากนายกรัฐมนตรี
สำหรับภรรยาของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค ก็เช่นกัน ทำให้สังคมทั่วไปได้รับรู้ว่าภรรยาของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค คือ ดาตินโรสมะห์ มันซูร์ เป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงของประเทศมาเลเซีย ยังเป็นที่สงสัยว่า การเสียชีวิตของนางแบบชาวมองโกเลีย ที่ชื่อว่า ชารีบูกิน อัลตันตูยา จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ดาตินโรสมะห์ มันซูร์
สำหรับดาตินโรสมะห์ มันซูร์ จะมีชื่อเสียงในเรื่องของการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย บางสื่อบอกว่า ดาตินโรสมะห์ มันซูร์ จะซื้อของแต่ละครั้งนับล้านๆบาท
สำนักข่าวรอยเตอร์เขียนว่า Malaysia’s first lady linked to $30 million worth of jewelry bought with 1MDB funds ทำนองว่า ดาตินโรสมะห์ มันซูร์ ใช้เงินจากบริษัท 1MDB ที่มีปัญหาในการซื้อเครื่องเพชรราว เกือบ 30 ล้านดอลลาร์
ครอบครัวดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค กับดาตินโรสมะห์ มันซูร์ ถือเป็นครอบครัวที่ลึกลับ แม้ว่าจะเป็นที่รู้ว่าดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัด นายิบ เป็นบุตรชายของ ตุนอับดุลราซัค อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เบื้องหลังของทั้งสองคน ก็สร้างความเสื่อมศรัทธาแก่ชาวมาเลเซียจำนวนหนึ่ง
ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค เป็นสามีคนที่สองของดาตินโรสมะห์ มันซูร์ ส่วนสามีคนแรกก็ยังเป็นที่ปริศนากันว่าคือใคร ใครคือ นายอับดุลอาซีซ นองจิก บางส่วนว่ายังมีสามีคนที่สองเป็นผู้อ่านข่าวอาวุโสท่านหนึ่งของทีวีมาเลเซีย แต่ที่สังคมมาเลเซียรับรู้คือ ดาตินโรสมะห์ มันซูร์ มีบุตรกับสามีคนแรก 2 คน คือ นางอัซรีนี โซรายา อับดุลอาซีซ และ นายรีซาล ชาห์รีซ อับดุลอาซีซ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนี้ของบริษัท 1 MDB
สำหรับ ดาตินโรสมะห์ มันซูร์ มีบุตรกับดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัด นายิบ 2 คน คือ นายนอร์อัสมาน และ นางนูรยานา นาร์จาวา ซึ่งแต่งงานกับชาวกาซัคสถาน
สำหรับดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัด นายิบ ก็มีประวัติด้านครอบที่ค่อนข้างจะไม่เป็นที่รับรู้ของสังคมมาเลเซีย การแต่งงานที่เป็นทางการครั้งแรกของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ คือการแต่งงานกับ เต็งกูปุตรีไซนะห์ เต็งกูอิสกันดาร์ ชารีฟุดดิน เชื้อพระวงศ์รัฐกลันตัน โดยมีบุตร 3 คน คือ มูฮัมหมัดนีซาร์ ปุตรีนอร์ลีซา และมูฮัมหมัดนาซีฟุดดิน และดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ มีชื่อในเรื่องของการเป็นนักเพลย์บอย ในสมัยยังเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ก็มีคนแรกที่กลายว่าอยู่ด้วยกัน ชื่อว่า ติม
ในยุคของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ เป็นนายกรัฐมนตรี ถือว่าการคอรัปชั่นสร้างคะแนนเสียงลดลงแก่รัฐบาลเป็นอย่างมาก ไม่ว่าการสร้างหนี้ราว 42 หมื่นล้านริงกิตในบริษัท 1MDB ซึ่งมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ การไหลของเงินบริษัท 1MDB ราว 2.6 พันล้านริงกิต สู่กระเป๋านักการเมืองเบอร์ 1 ของประเทศมาเลเซียและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการปลดผู้ตรวจสอบการไหลเวียนของเงินดังกล่าว
ตลอดจนการแทรกแซงการทำงานของสำนักงานปราบปรามการคอรัปชั่น การแทรกแซงธนาคารแห่งชาติ ซึ่งผลของการสอบสวนไม่อาจสร้างความเชื่อถือของประชาชน นายไครี ยามาลุดดิน บุตรเชยตุนอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวี ก็เป็นนายหน้าที่ทำให้ บริษัท เตอมาซิคโฮลดิง จากสิงคโปร์ สามารถซื้อหุ้น 1.5 พันล้านริงกิตจากบริษัทเทเลคอมมาเลเซีย
นายราฟีซี รัมลี รองประธานพรรคความยุติธรรมของประชาชน กล่าวว่า การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้ กลุ่มพรรคการเมืองที่รวมตัวภายใต้ชื่อแนวร่วมแห่งความหวัง พรรคได้รับชัยชนะ มาจากหลายปัจจัย โดยนอกจากได้แรงหนุนจากกลุ่มชาวจีนที่ส่วนใหญ่สนับสนุนฝ่ายค้าน โดยผ่านพรรคกิจประชาธิปไตยแล้ว ยังเกิดสึนามิชาวมลายู โดยชาวมลายูในเมือง รวมทั้งชาวมลายูกึ่งเมือง ส่วนชาวมลายูในชนบทนั้นจะยึดมั่นกับพรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือไม่ก็พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย
ผลของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 นี้ การสำรวจโพลล์ของสำนัก Invoke ค่อนข้างใกล้เคียงมากที่สุด ไม่เพียงจะหักปากกาเซียนวิเคราะห์การเมืองเท่านั้น แต่ยังสร้างความผิดคาดให้เกิดขึ้นอีกด้วย เมื่อ พรรคอามานะห์แห่งชาติ ที่แยกตัวออกจากพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย ไม่สามารถจะเป็นที่ยอมรับของชาวมลายูชายฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู แม้ว่านายนิโอมาร์ บุตรชายคนโตของ ดาโต๊ะนิอับดุลอาซีซ อดีตผู้นำจิตวิญญาณ และอดีตมุขมนตรีแห่งรัฐกลันตัน จะเข้าร่วมกับพรรคอามานะห์แห่งชาติก็ตาม ซึ่งแสดงถึงความยึดมั่นของผู้สนับสนุนพรรคอิสลามแห่งชาติที่มีต่อพรรคมากกว่าตัวบุคคล
นักวิชาการชาวมาเลเซียกล่าวว่า ชัยชนะของกลุ่มพรรคแนวร่วมแห่งความหวังในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อตุนมหาเธร์ มูฮัมหมัด แม้ช่วงที่ ดาโต๊ะสรีอันวาร์ อิบราฮิม ต่อสู้กับรัฐบาล ก็ยังไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ นายราฟีซี รัมลี รองประธานพรรคความยุติธรรมของประชาชน กล่าวว่า ทางพรรคฝ่ายค้านจำเป็นต้องยกบุคคลที่มีบารมีพอที่จะต่อสู้กับรัฐบาลได้ ในพรรคฝ่ายค้านไม่มีผู้ใดที่จะมีบารมีพอ ดังนั้นต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางพรรครวมฝ่ายค้านจึงมีมติเลือก ตุนมหาเธร์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้ง การชู ตุนมหาเธร์ ให้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็มีผลทำให้ชาวมาเลเซียเลือกพรรคฝ่ายค้านเป็นรัฐบาล เพื่อสร้างประเทศมาเลเซีย ที่ตกต่ำที่สุด ให้กลับมาเป็นเสืออีกครั้ง
ภายหลังพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งครั้งที่ 14 ทางตุนมหาเธร์ ก็ได้ประกาศว่า ใน 100 วันของการเป็นรัฐบาล พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง จะดำเนินการ 5 ประการ ในการต่อต้านการคอรัปชั่น
สิ่งแรก คือ จับ Malaysia Official 1 ตามชื่อที่ปรากฏในคดี 1DB ซึ่งก็คือ ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ฐานคอรัปชั่น สิ่งที่สอง คือ จัดตั้งคณะกรรมการที่เรียกว่า Royal Commision Inquiry เพื่อสอบสวนการใช้เงินผิดในบริษัท 1 MDB และ Felda (Federal Land Development Autority)
สิ่งที่สามคือ จัดตั้งคณะกรรมการอิสระ เพื่อนำทรัพย์สินของประชาชนที่ได้มาจากการคอรัปชั่น สิ่งที่สี่ คือ การนำหน่วยงานปราบปรามการคอรัปชั่น ให้ขึ้นตรงต่อสภาผู้แทนราษฎร เป็นการป้องกันการแทรกแซงจากนักการเมือง
และสิ่งที่ห้า คือ การยกเลิกการเจรจาสัญญาต่างๆที่ทำโดยตรงกับรัฐบาล ซึ่งป้องกันการที่รัฐบาลได้ทำสัญญาต่างๆกับบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะที่ได้รับการโจมตีเมื่อรัฐบาลยุคดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัด นายิบ ได้ทำสัญญากับบริษัทจีน จนเกิดการโจมตีว่ารัฐบาลเสียเปรียบ และปล่อยให้บริษัทจีนครอบครองที่ดิน โดยรัฐบาลไม่สามารถจะมีอำนาจในที่ดินที่มอบให้บริษัทจีน
เชื่อว่า ตุนมหาเธร์ มูฮัมหมัด จะสามารถกอบกู้ชื่อเสียงของประเทศมาเลเซียกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง และ นับจากนี้ ประเทศมาเลเซียเข้าสู่ยุคใหม่ เชื่อว่าประเทศมาเลเซีย จะกลับมามีบทบาทในภูมิภาคอาเซียและโลกมุสลิมอีกครั้ง