Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   เปิดใจ สมาน อาดัม ประธานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮ.ศ.1439

เปิดใจ ”สมาน อาดัม” ประธานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮ.ศ.1439

+++ รวมพลผู้นำศาสนา 39 จังหวัด นำร่องสู่แนวทางสร้างเอกภาพองค์กร สู่สันติสุขในพหุวัฒนธรรม

 

           (19 เมษา 61)  สำนักข่าวอะลามี่ : งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยในแต่ละปีจะมีรูปแบบงานที่แตกต่างกันไป แต่ยังยึดโยงบทบาทของท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.) กับมนุษยชาติ ปีนี้ก็เช่นเดียวกันแต่จะมีความต่างของกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง โดยปีนี้จะมีการนำคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 39 จังหวัด ร่วมสัมมนากำหนดทิศทางเพื่อหวังสร้างเอกภาพในการบริหารองค์กรศาสนา ตาม พรบ.การบริหารกิจการศาสนาอิสลาม

            นายสมาน อาดัม รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2561 (ฮิจเราะห์ศักราช 1439) กล่าวถึง กาจัดงานเมาลิดกลางฯ ปีนี้ว่า หลังจากที่ได้รับฉันทามติ จากคณะอำนวยการงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ซึ่งมีประธานกรรมการอิสลามจากทั่วประเทศ และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นคณะกรรมการอำนวยการ โดยมี ท่านจุฬาราชมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้งานออกมาเรียบร้อยและสมบูรณ์ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนงาน

             โดยรูปแบบการจัดงานในปีนี้ ยึดจากพระมหาคำภีร์อัลกุรอาน โองการที่มีใจความว่า..“ อัลเลาะห์ ได้ส่งท่านนบีมูฮัมมัด(ซ.ล.) มาเพื่ออื่นใด  นอกจากเพื่อความเมตตาธรรมต่อมนุษยชาติ“..เราะห์มาตัลลินอาลามีน..”.

              ดังนั้น สิ่งที่อัลเลาะห์ (ซ.บ.) ทรงได้ส่งท่านนบีมุฮัมหมัด(ซ.ล.) เป้าหมาย คือ (เราะห์มาตัลลิลอาลามีน) ซึ่งหมายถึง ความเมตตาธรรม ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะมุสลิมเท่านั้น ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.) เป็นผู้เมตตาธรรมต่อมวลมนุษยชาติทั้งปวง 

              ด้วยหลักการของศาสนาอิสลาม อัลเลาะห์(ซ.บ.) ได้ทรงสร้างมนุษย์จากชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง จากสมัยท่านนบีอาดำ จนกระทั่งมาถึงในยุคของสมัยท่านศาสดามุฮัมมัด(ซล.) จะเห็นได้ว่าหลักการของศาสนาอิสลาม กับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ที่เป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรม เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

              นายสมาน กล่าวว่า “ งานเมาลิดปีนี้ จึงยึดหลักของโองการนี้ เพราะงานเมาลิดกลางเป็นงานที่มีความสำคัญขององค์กรศาสนาในประเทศไทย ตั้งแต่กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการประจำจังหวัด และกรรมการประจำมัสยิด สถานศึกษา มูลนิธิ สมาคม ต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้ได้มีส่วนร่วมในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยอย่างพร้อมเพรียงกัน ”


              ไม่เพียงเท่านั้น งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเป็นการสร้างสายสัมพันธ์และยึดโยงมุสลิมไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมาเป็นองค์ประธานงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ทุกปี และในปีนี้นับเป็นปีที่ 56 ของการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

               “ การจัดงานในปีนี้ จึงนำรูปแบบ “...มุฮัมมัด(ซ.ล.) ศาสดาผู้เมตตาธรรม นำสัจธรรมสู่สังคม…” คือสังคมของความเป็นมนุษย์ เป็นพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์อัลเลาะห์ (ซ.ล.) ที่ได้ส่งท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.) มาเป็นแบบอย่างให้กับมวลมนุษยชาติ ทั้งนี้หากผู้คนในโลกนี้นำจริยวัตรของท่านศาสดา ไปเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ อีกทั้งเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต ก็จะเกิดความสันติสุข ”

              นายสมาน กล่าวว่า การจัดงานเมาลิดกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เราพยายามดึงเอาหลักการของศาสนาอิสลาม มาใช้ในสังคมที่แตกต่างและหลากหลาย หรือที่เรียกว่า สังคมพหุวัฒนธรรม แม้จะมีความแตกต่างกัน แต่เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ซึ่งอันนี้เป็นหลักการและแนวทางของอิสลาม ที่ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.) ได้วางเอาไว้ เพื่อความเมตตาธรรมต่อมวลมนุษยชาติ

             สำหรับคำว่า “เมาลิด” เป็นภาษาอาหรับแปลว่า …วันเกิด หรือวันคล้ายวันประสูติ… ซึ่งเราไม่ได้จัดตรงกับวันประสูติของท่านนบีมุฮัมมัด คือ วันที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล แต่เราจัดตามความเหมาะสม จึงเรียกกันว่า “ งานเมาลิด โดยเฉพาะงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ”  องค์กรศาสนาในทุกภาคส่วนจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างพร้อมเพรียงกัน

             ส่วนของสาระสำคัญและกิจกรรมหลักในการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย จะมีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิเช่น การทดสอบทักษะของเยาวชน การทดสอบการอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานในประเทศไทย เพื่อคัดเลือกผู้แทนจากในงานเมาลิดกลาง ทั้ง ชายและหญิงฝ่ายละ 1 ท่าน ไปเป็นตัวแทนประเทศไทย เพื่อเข้าทำการทดสอบในระดับนานาชาติที่ประเทศมาเลเซีย

              นอกจากนี้งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ยังเป็นเจ้าภาพในการจัดทดสอบกอรีนานาชาติของภูมิภาคอาเซียน จาก 10 ประเทศ นับเป็นอีกหนึ่งเวทีหนึ่งที่จะเป็นการประกาศให้ นานาชาติได้รู้จักประเทศไทยผ่านเวทีนี้ แม้ว่าประเทศไทยมีมุสลิมเป็นประชากรส่วนน้อย แต่เป็นการบ่งบอกถึงความใจกว้างของประเทศไทยและรัฐบาลไทย ตลอดจนสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่มีต่อมุสลิมไทย

            “ การเชิญนักกอรีจากประเทศอาเซียนมาร่วม เพื่อเป็นการประกาศให้รู้ว่า ประเทศไทย แม้ไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่เราได้รับเกียรติจากรัฐบาลไทยในการเปิดกว้างเสรีทางความเชื่อของแต่ละศาสนา อีกทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาชาติ โดยใช้องค์กรศาสนาเป็นกลไกและเป็นสะพานเชื่อมประเทศไทยสู่อาเซียนอีกด้วย ”

             ประธานการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย กล่าวย้ำว่า ปีนี้จะมีอีกหนึ่งที่มีไฮไลท์ ที่มีความสำคัญพอสมควร คือ “ การจัดประชุมคณะกรรมการประจำจังหวัดทั่วประเทศ จาก 39 จังหวัด  มาร่วมสัมมนาเพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารองค์กรศาสนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ เป็นผู้บริหารองค์กรศาสนาอิสลามที่ถือว่ามีความสำคัญขององค์กรอิสลามในประเทศไทย

           “ การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อแสวงหาแนวทางจะทำอย่างไรเพื่อลดช่องว่างระหว่างกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติองค์กรศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนสังคมในทุกๆ ด้าน ทั้งนี้มี 3 องค์กรหลัก ประกอบด้วย คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด  ”

            ไม่เพียงเท่านั้น องค์กรเหล่านี้ ยังต้องทำหน้าที่ทางด้านวิชาการศาสนา ด้านสังคม ด้านสตรี และอีกหลายๆ ด้าน ในการที่จะขับเคลื่อนสังคม องค์กรเหล่านี้จะต้องรับผิดชอบ รวมถึงการจัดการด้านการศึกษา ก็เป็นหน้าที่ของกรรมการจังหวัด เราได้เห็นความสำคัญขององค์กร จึงจัดสัมมนาหรือประชุมร่วมกัน เพื่อหาจุดยืนในการที่จะขับเคลื่อนองค์กรในการพัฒนาด้านต่างๆ ให้ไปในแนวทางเดียวกัน ทำให้เกิดการวะดะห์  หรือเอกภาพขององค์กร ภายใต้พระราชบัญญัติองค์กรบริหารกิจการศาสนาอิสลาม

              นายสมาน กล่าวอีกว่า ในฐานะประธานจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1439 เราคาดหวังว่า “ เวทีนี้จะเป็นการจุดประกาย ที่จะนำจริยวัตร ของท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.) ในการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างที่แท้จริง และนำเป็นหลักการในการดำเนินชีวิต ถือว่าเป็นหลักการของมุสลิมที่ควรถือปฏิบัติ ”

              “ สิ่งที่มีความสำคัญอยากจะได้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมมุสลิม การมีส่วนร่วมขององค์กรศาสนาในรูปของปัจเจกชน หรือ ในรูปของสังคม จะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้มาก ทำให้แต่ละองค์กรในประเทศไทย ได้มีการมูซาวาเราะห์ (ประชุมหารือ) และมีการปรึกษาในเรื่องของการพัฒนาองค์กร และสังคมของเราให้มีความเจริญยิ่งขึ้น ”

              สำหรับเป้าหมายสำคัญอีกเรื่องคือ อยากจะเห็นสังคมของเรามีความเป็นเอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว อาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อาจหมายถึงการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อจะทำให้องค์กรเกิดความเข้มแข็ง ซึ่งจะนำพาองค์กร อื่นๆ ในสังคมเข้มแข็งตามมาด้วยเช่นกัน

              สำหรับการจัดงานเมาลิดกลาง ในแต่ละปี สิ่งที่เห็นคือมวลมหาประชาชนจะมาร่วมจากทั่วทุกภาค โดยแต่ละปีคาดว่าจะมีผู้มาร่วมไม่ต่ำกว่าแสนคน ซึ่งปีนี้เราได้ประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าอย่างกว้างขวาง มั่นใจว่าประชาชนมาร่วมไม่น้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

               งานเมาลิดกลางปีนี้ เราจัด 3 วัน 14-16 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ คลองเก้า หนองจอก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเรามีสถานที่รองรับอย่างกว้างขวาง โดยในงานนอกจากจะมีมุสลิมทั่วประเทศมาร่วมงาน ในแต่ละปีจะเห็นว่ามีผู้บริหารหน่วยงานราชการ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนบรรดาทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ มาร่วมจำนวนมาก ถือว่าเป็นงานสำคัญที่สุดของสังคมมุสลิมในประเทศไทยก็ว่าได้


              “ ในงานวันนั้นเราจะเห็นภาพที่สวยงามจากกิจกรรมต่างๆ ที่เราพยายามถ่ายทอดผ่านรูปแบบงานที่ว่า “..ท่านศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล.) ผู้เมตตาธรรม นำสัจธรรมสู่สังคม..” เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ดีต่อพี่น้องต่างศาสนิก ให้เราอยู่ด้วยกันอย่างสันติบนโลกใบนี้ต่อไป

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกนิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับมีนาคม 2561

•