วันที่ 4 เมษายน 2561 นายสืบพงษ์ บูรณศิรินทร์ รองผู้ว่าการกิจการสังคม
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาชุมชนและเครือข่าย
มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ร่วมกับ รศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เพื่อร่วมกันสร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นชุมชนต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ใกล้เคียง กฟผ. ทั่วประเทศ
นำร่องภูมิภาคละ 1 แห่ง ทั่วทั้ง 4 ภูมิภาค โดยมีนายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ.
และ ผศ.ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 203 สำนักงานกลาง กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
นายสืบพงษ์ บูรณศิรินทร์ รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. เปิดเผยว่า
"กฟผ.ไม่เพียงแต่มีภารกิจในด้านการผลิต การจัดหาและจัดส่งไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้แก่ประเทศ
แต่ยังมีภารกิจในด้านความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมด้วย กฟผ.จึงมีแนวคิดจะพัฒนาพื้นที่บริเวณแนวสายส่งและโรงไฟฟ้าของ กฟผ.
ที่มีอยู่ทั่วภูมิภาคในประเทศไทย ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
เพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาสังคม และมีเครือข่ายที่ทำงานเพื่อชุมชนทั่วประเทศ มาร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ
บูรณาการและถ่ายทอดองค์ความรู้ตามบริบทที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค ทั้งด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากร ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชน"
สำหรับพื้นที่นำร่องพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ จะแบ่งออกเป็น 4 ภูมิภาค ภาคละ 1 แห่ง
ซึ่งจะมีแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างกันออกไป โดยในภาคเหนือ จะเน้นการเรียนรู้เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตต้นแบบการเกษตรอินทรีย์ นำร่อง
ที่ชุมชนบ้านนาบุญ นาขุม จ.พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นแบบการพัฒนาเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร ดิน ป่า น้ำ และป่าชุมชน ที่บ้านห้วยยาง
จ.ขอนแก่น ภาคตะวันออก เน้นการพัฒนาด้านการเกษตรหรือท่องเที่ยวการเกษตรนำร่องในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าบางปะกง และภาคใต้
เป็นต้นแบบของการส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสมุนไพรในท้องถิ่นภายใต้แนวสายส่ง จ.สงขลา และ จ.สตูล โดยจะเริ่มดำเนินการทันทีภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือ
และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564
“ กฟผ. และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ต้องการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต
สามารถพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน เป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่น สามารถนำแนวทางไปปรับและขยายผล
ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทางศาสตร์พระราชาอย่างยั่งยืนต่อไป ” นายสืบพงษ์ กล่าวในตอนท้าย