"ปลดเฟาซัน" พ้นอิหม่ามมัสยิดต้นสน
สู่เกมเลือกตั้งกรรมการอิสลามฯรอบใหม่
สำนักข่าวอะลามี่ : ข่าวการปลดอิหม่ามเฟาซัน แห่งมัสยิดต้นสน ไม่เพียงแต่สะเทือนในเฉพาะชุมชนเท่านั้น แต่ยังสะเทือนถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ด้วย เพราะนี่คือสิ่งที่ถูกเรียกว่า เกมทางการเมือง ในองค์กรศาสนา ที่ยากปฎิเสธ
ล่าสุด ผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาชี้แจงกรณีการปลดนายพัฒนา หรือ อิหม่ามเฟาซัล หลังปูเตะอิหม่ามมัสยิดต้นสน เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นายวิศรุต เลาะวิถี นายอารี วงศ์บุญเกิด นายมานิต ทองแสง รองประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และนายอาหะหมัด ขามเทศทอง เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
โดยระบุว่า บัดนี้ คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้ว สืบเนื่องจาก นายมนูญพันธ์ รัตนเจริญ ในฐานะสัปปุรุษประจำมัสยิดต้นสน ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ให้พิจารณาถอดถอนอิหม่ามประจำมัสยิดต้นสน
โดยอ้างว่า มีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสียหาย บกพร่องต่อหน้าที่ และกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและประโยชน์ของมัสยิดต้นสน ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา นายพัฒนา หลังปูเต๊ะ ได้บริหารมัสยิดเพียงคนเดียว เนื่องจากคอเต็บ บิหลั่น และกรรมการอิสลามประจำมัสยิดว่างลงทุกตำแหน่ง อิหม่ามประจำมัสยิดต้นสน ไม่สนใจที่จะดำเนินการคัดเลือกบุคคลแทนตำแหน่งที่ว่างดังกล่าว ตามที่กฎหมายกำหนด และตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย และของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร กลับดำเนินกิจการมัสยิดต้นสนเพียงลำพังโดยพลการ ใช้เงินของมัสยิดต่างกรรมต่างวาระ เป็นจำนวนเงินมากกว่า 10 ล้านบาท โดยไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นผู้รับผิดชอบ
นอกจากนี้ เมื่อคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร เชิญตัวให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริงก็พยายามบ่ายเบี่ยง บิดพลิ้ว ไม่ยอมไปชี้แจง โดยมีพฤติกรรมในลักษณะปกปิดความผิดของตนเอง ในที่สุดคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดผลเสียต่อกิจการศาสนาอิสลามและกิจการของมัสยิดต้นสน จึงได้มีมติเอกฉันท์ ให้ถอดถอน นายพัฒนา หลังปูเต๊ะ ออกจากตำแหน่งอิหม่ามมัสยิดต้นสน ในข้อหาบกพร่องต่อหน้าที่ และคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
พร้อมกับได้แต่งตั้งให้ นายวิบูลย์ มุขตารี รักษาการตำแหน่งอิหม่าม นายการุญ ฉัตรสุวรรณ รักษาการตำแหน่งคอเต็บ และนายวัชรากร สุทธิรัตน์ รักษาการตำแหน่งบิหลั่น ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป
นายอาหะหมัด ขามเทศทอง เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การแต่งตั้งรักษาการอิหม่ามชุดใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากคนในชุมชน อีกทั้งก่อนหน้านี้ได้พยายามทาบทามหลายคนให้มารับตำแหน่งนี้แต่ไม่มีใครรับ จึงแต่งตั้งคนที่มีความพร้อมทำงาน และไว้ใจได้มาปฎิบัติหน้าที่ ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายระบุว่าเป็นการเร่งรัดหรือไม่ ยืนยันว่าไม้ได้เร่งรัดตามที่ถูกกล่าวหา
“ หลังจากนี้ผู้ถูกร้องก็สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ โดยสามารถร้องอุธรณ์ ทั้งกับ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและการฟ้องร้องศาล ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ”นายอาหะหมัด กล่าวและว่า
ขณะนี้กำลังมีกลุ่มบุคคลพยายามทำลายองค์กรศาสนาด้วยการนำเรื่องไปร้องเรียนต่อกระทรวงมหาดไทย หลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะ นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ทำหนังสือเท็จร้องต่อกระทรวงมหาดไทยให้ปลดคณะกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร 26ท่าน ทั้งๆที่ไม่มีมติของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด
อิหม่ามเฟาซัน โต้หลังถูกปลด
ขณะเดียวกัน นายพัฒนา (เฟาซัน) หลังปูเต๊ะ ออกแถลงการณ์ ตอบโต้ข้อเท็จริง โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้มีมติให้ถอดถอน กอ.กทม. ทั้ง 26 คน ตาม หนังสือที่ สกอท.03014/2553 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2553 ให้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว อีกทั้งยังอ้าง หนังสือที่ สกอท. 03.056/2553 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ยืนยันความถูกต้องของกระบวนการถอดถอน
ส่วนกรณีที่ ถูกกล่าวหาว่าอิหม่ามบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ดำเนินการแจ้งให้ กอ.กทม.มาทำการคัดเลือกกรรมการมัสยิดที่ครบกำหนดตามวาระ และที่ได้ถึงแก่ความตาย อิหม่ามเฟาซัล ระบุว่า การจัดทำรายชื่อสมาชิกสรรพบุรุษเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการมัสยิด ซึ่งที่ผ่านมาความล่าช้าการเลือกตั้ง เกิดจากการที่ กอ.กทม.ได้สั่งให้เลื่อนการเลือกตั้งไปเองโดยอ้างว่า มีผู้ร้องคัดค้านบัญชีรายชื่อ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ได้วินิจฉัยให้มัสยิดต้นสนได้รับทราบแต่อย่างใด
อิหม่ามเฟาซัน ยังชี้แจงถึงกรณีที่ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บริหารมัสยิดแต่เพียงผู้เดียว และใช้อำนาจของคณะกรรมการตามลำพัง โดยระบุว่า กรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้นสนครบวาระการดำรงตำแหน่งไปตั้งแต่วันที่ 7กรกฎาคม 2548 กฎหมายยังคงให้อำนาจกรรมการยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยชอบด้วยกฎหมายจนกว่าจะมีกรรมการใหม่มาดำรงตำแหน่ง
ทั้งนี้ตามที่ระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยวิธีการดำเนินงานและควบคุมดูแลการบริหารงานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด พ.ศ. 2542 หมวด 3 ข้อ 20 ที่ได้กำหนดไว้ว่า "เพื่อประโยชน์แก่สำนักงานให้กรรมการซึ่งต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ในระหว่างที่ยังมิได้มีการคัดเลือกกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะมีกรรมการใหม่มาดำรงตำแหน่ง"
ส่วนกรณีที่ อิหม่ามใช้จ่ายเงินของมัสยิดไปในทางเสื่อมเสียแก่มัสยิดอิหม่ามเฟาซัล ระบุที่ผ่านมา ในฐานะอิหม่าม มีสิทธิที่จะใช้จ่ายเงินของมัสยิดได้โดยลำพังดังที่ผู้ที่บริจาคทรัพย์สินให้แก่มัสยิดต้นสนได้บันทึกคำสั่งเสียไว้บนแผ่นป้ายหินอ่อน บริเวณทางเข้าของมัสยิดทั้งสองแผ่น ลงวันที่ 16 ตุลาคม
“ อดีตจุฬาราชมนตรีสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ เมื่อครั้งท่านมาเยือนมัสยิดต้นสน ท่านได้เคยวินิจฉัยไว้ต่อหน้าคนมากมายว่า ใครที่มาเป็นอิหม่ามที่มัสยิดต้นสนแห่งนี้สามารถใช้จ่ายเงินในกิจการของมัสยิดได้เลย โดยไม่ต้องมีมติของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดแต่อย่างใด ซึ่งท่านอิหม่ามหมัดอาดัม ศรีวิเศษ กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือยืนยันรับรองความเห็นดังกล่าวนี้ไว้เช่นกัน”อิหม่ามเฟาซัน กล่าว
แต่กระนั้น อิหม่ามเฟาซัน ระบุว่า เขาไม่เคยใช้อำนาจดังกล่าวนี้โดยพลการ ดังจะเห็นได้จากรายงานการประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้นสน ในการประชุมครั้งที่ 1/2544 ที่ประชุมคณะกรรมการได้มีมติในเรื่องการเบิกจ่ายเงินในบัญชีธนาคารของมัสยิด ว่า ต้องมีกรรมการร่วมลงนามเบิกจ่าย ที่ประชุมได้มีมติว่า "ผู้ที่ทรงสิทธิในการเบิกสั่งจ่ายเช็ค ขอให้เป็นจำนวน 5 ท่าน และ 3 ท่านใน 5 สามารถเซ็นอนุมัติได้โดยมีอิหม่ามเป็นคนเซ็นหลักทุกครั้ง ... โดย การสั่งจ่ายเงินทุกครั้งต้องเป็นไปตามมติที่ประชุมทุกคราวไป จะทำการโดยพละการไม่ได้เป็นอันขาด
ซึ่งต่อมาเมื่อกรรมการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงนามเบิกจ่ายเงินบางท่านถึงแก่ความตาย และได้ลาออก ที่ประชุมได้มีมติใหม่ ในการประชุมครั้งที 1/2546 ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งผู้มีอำนาจเซ็นอนุมัติเงินสั่งจ่ายกับทางธนาคาร..จำนวน 4 ท่าน ดังต่อไปนี้ 1). นายพัฒนา หลังปูเต๊ะ (อิหม่าม) 2).นายวิบูลย์ มุขตารี (เหรัญญิก) 3).นายศิริ ชลายนเดชะ(เลขานุการ) 4).นายสมัคร ชลายนเดชะ (ปฏิคม)
โดยในการอนุมัติการสั่งจ่ายเงินกับทางธนาคารนั้น ต้องลงนามเซ็นชื่ออนุมัติจำนวน 3ใน 4 ท่าน และต้องมีผู้เซ็นลงนามเป็นหลัก 2 ท่านทุกครั้ง คือ นายพัฒนา หลังปูเต๊ะ (อิหม่าม) กับ นายวิบูลย์ มุขตารี(เหรัญญิก) พร้อมตราประทับของมัสยิด..” ซึ่งนายวิบูลย์ มุขตารี ซึ่งเป็นเหรัญญิกของมัสยิดต้นสนนั้น ดำรงตำแหน่งเหรัญญิกของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครด้วย
ซึ่งการเบิกจ่ายเงิน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน การควบคุมดูแลการเบิกจ่ายเงินของมัสยิดต้นสน ทุกครั้ง จึงอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ นายวิบูลย์ มุขตารี ในฐานะเหรัญญิกของมัสยิดต้น มาโดยตลอด
ปลดอิหม่ามต้นสน สะเทือนถึงเกมชิงกรรมการอิสลาม กทม.
แม้หลายฝ่ายจะออกมาปฎิเสธว่า การปลดอิหม่ามเฟาซัน ไม่ใช่การเมือง แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น คาบเกี่ยวและเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งคณะกรรมการประจำจังหวัด ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 ที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะปัจจัยด้านการเมืองที่แทรกซึมเข้ามาในองค์กรศาสนา ซึ่งหลายคนวิพากษ์เสียงเดียวกันว่า การเมืองในองค์กรศาสนาเริ่มรุนแรง และแยกขั้วค่อนข้างชัดเจน
และนี่อาจเป็นการต่อสู้ของตัวแทนการเมือง ในคราบองค์กรศาสนาของสองขั้วการเมืองใหญ่” ประชาธิปัตย์ กับเพื่อไทย” ที่ต่างฝ่ายต่างถือหางคนละด้าน
ไม่เพียงแต่การเมืองเท่านั้น แต่ยังแป็นการต่อสู้ของกลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มอำนาจใหม่ ที่รอวันปะทุ โดยมีเป้าหมายคือ การยึดเก้าอี้ใน สำนักงานคณะกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่ ที่มีคณะกรรมการอิสลาม 37แห่ง เพื่อไต่บันไดไปสู่การยึดเก้าอี้ ใน สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ต่อไป
นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นชิงไหวชิงพริบของเกมการเมืองในองค์กรศาสนาเท่านั้น เพราะเกมนี้ดูเหมือนว่า คงต้องฟาดฟันและประดาบจนในที่สุดอาจต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องล้มหาย หรือไม่จะมีการซูฮก อีกฝ่ายหนึ่ง
ที่มา : พับลิคโพสต์ ฉบับ 16-31ตุลาคม 2554
ใ