ชาวเทพาขอตัดสินใจ เรื่อง โรงไฟฟ้าเทพาด้วยตัวเอง
สำนักข่าวอะลามี่: กลุ่มภาคีเครือข่ายต่างๆในอำเภอเทพา กว่า 3,000 คน แสดงพลังแถลงจุดยืนและยืนหนังสือพร้อมรายชื่อในการสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชี้ เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ การพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ และประชาชนทั้งประเทศ
วันที่ 21 ธันวาคม 2560 เวลา 10.00 น. นายหลี สาเมาะอดีตกำนันตำบลเทพา ประธานเครือข่ายคนเทพา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นตัวแทนกลุ่มภาคีเครือข่ายต่างๆในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย กำนัน องค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 7 ตำบล องค์กรภาคประชาชน ชมรม สมาคม และกลุ่มเครือข่ายต่างๆ 66 องค์กร ซึ่งมีสมาชิกกว่า 5 หมื่นคน ได้แถลงจุดยืนและยืนหนังสือพร้อมรายชื่อในการสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ณ หน้าอำเภอเทพา โดยมีนายสนอง จันทร์รักษ์ นายอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มารับหนังสือและรายชื่อ โดยมีประชาชนชาวอำเภอเทพามาร่วมชุมนุมประมาณ 3,000 คน เนื่องจากเห็นว่า เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ การพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ และประชาชนทั้งประเทศ
นายหลี สาเมาะ อดีตกำนันตำบลเทพา ประธานเครือข่ายคนเทพา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนกล่าวว่า ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ที่ กฟผ.เข้ามาพูดคุยถึงโครงการโรงไฟฟ้า ในตำบลปากบาง อำเภอเทพา ชาวเทพาได้รับฟังทั้งข้อดี ข้อเสีย และแนวทางแก้ไขผลกระทบต่างๆ ซึ่งเป็นที่ปรากฏชัดเจนว่า ชาวเทพาส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน รวมทั้ง ได้มีการปรึกษาหารือร่วมกับ กฟผ. ในแก้ไขปัญหา ข้อวิตกกังวลต่างๆ จนเป็นที่พอใจในระดับหนึ่ง และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา กำนัน นายก อบต. และเครือข่ายทุกตำบล ได้ประชุมและมีมติร่วมกันอีกครั้งว่า สนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอำเภอเทพา
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม NGO นอกพื้นที่ได้แอบอ้างชื่อคนเทพาไปให้ข้อมูลที่บิดเบือนและไม่ถูกต้องต่อสังคม ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และสับสนว่า คนเทพาเห็นด้วยหรือไม่กับการสร้างโรงไฟฟ้า ดังนั้น ในวันนี้ ชาวอำเภอเทพานับพันคน ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและเครือข่ายคนเทพา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 66 องค์กร จึงมารวมพลัง เพื่อยืนยันต่อสังคม และเรียกร้องต่อรัฐบาลและทุกภาคส่วน 3 ข้อ ดังนี้
ข้อแรก ขอให้รัฐบาลฟังเสียงชาวเทพาในการตัดสินใจโครงการโรงไฟฟ้าเทพา เพราะเราเป็นผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้แล้ว กฟผ. ในฐานะเจ้าของโครงการจะต้องให้คำมั่นเป็นสัญญาประชาคม ในการสนับสนุนการพัฒนาของอำเภอเทพาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่อยู่พื้นที่ ที่จะต้องโยกย้าย จะต้องได้รับการดูแล ชดเชย และเยียวยาอย่างเป็นธรรม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม รวมทั้ง ศาสนสถาน มัสยิด กุโบร์ และวัดต่างๆ จะต้องไม่ได้รับการกระทบกระเทือน หากจะมีการย้ายโรงเรียนปอเนาะ จะต้องจัดพื้นที่และสถานที่ซึ่งดีกว่าเดิม เพื่อเป็นหลักประกันว่า ลูกหลานของชาวเทพาจะได้เล่าเรียนทั้งด้านศาสนา และวิชาการอย่างมีคุณภาพ สืบทอดวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันดีงามของชาวเทพา
ข้อที่ 2. ขอเรียกร้องให้กลุ่มต่างๆ หรือ NGO นอกพื้นที่ เคารพสิทธิของชาวเทพา และยุติการบิดเบือน ในการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงแก่สังคม เช่น การบอกว่า ชาวประมงออกไปหาปลาไม่กี่ชั่วโมงก็ขายได้เงินเป็นพันๆ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะคนเทพารู้ดีว่า การทำประมงไม่ได้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างที่กล่าวอ้าง จึงขอให้กลุ่มผู้ไม่หวังดี ยุติ สร้างความขัดแย้งในพื้นที่ เพราะคนเทพาที่แท้จริงมีความเป็นหนึ่งเดียว คือทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาวเทพา
ข้อที่ 3. ขอให้รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ตัดสินใจโครงการโรงไฟฟ้าเทพาโดยเร็ว ภายใน 45 วัน โดยรับฟังเสียงอันแท้จริงของคนเทพา เพราะชาวเทพารอมา 4 ปี แล้ว และเราพร้อมจะเดินหน้าในทุกทาง เพื่อขอคำตอบจากรัฐบาลต่อไป การแสดงพลังของคนเทพาในวันนี้ เพื่อบอกว่า บ้านของเรา เราดูแลกันเองได้ เราอยากเห็นบ้านเกิดของเรามีการพัฒนาให้ดีขึ้น ลูกหลานได้อยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องไปทำมาหากินที่อื่น และจะพัฒนาอำเภอเทพาเป็นประตูเชื่อมความเจริญไปสู่พี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้อำเภอเทพาซึ่งมีของดีอยู่มากมาย กลายเมืองท่องเที่ยว เป็นเมืองพัก ที่ไม่ใช่เมืองผ่าน อีกต่อไป
“ ผมขอให้เสียงของพวกเรา ชาวอำเภอเทพา นับพันคนที่มาชุมนุมในวันนี้ เป็นเสียงที่ดังไปถึงรัฐบาล ดังไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ดังไปถึงคนไทยทั้งประเทศ ว่า ชาวเทพาต้องการการพัฒนา เราจะเดินหน้า เพื่อขอคำตอบจากรัฐบาลภายในเวลา 45 วัน และเราจะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยอีกต่อไป ” นายหลี สาเมาะ อดีตกำนันตำบลเทพา ประธานเครือข่ายคนเทพา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวในตอนท้าย