" ศ.อิมรอน มะลูลีม" จี้ อิหม่าม ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง (ตอน2)
สำนักข่าวอะลามี่ : เปิดเวทีเสวนา" การคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กับบทบาทของมัสยิด ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ” เมื่อวันเสาร์ ที่ 7 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมอัลมีรอช กรุงเทพมหานคร จัดโดย สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนิตยสาร ดิ อะลามี่ ศ.อิมรอน มะลูลีม ฝากถึงคนที่กำลังจะมีการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยน ขณะที่ ผู้อำนวยการสำนักจุฬาฯ คาดหวังว่า คนที่จะมาทำหน้าที่บริหารองค์กรโดยเฉพาะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ต้องมีวิสัยทัศน์ และมียุทธศาสตร์
ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม นักวิชาการด้านศาสนา กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีในการระดมสมองและเสนอแนะบางเรื่องบางประการ นับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและยินดี เพราะเป็นการสำนึกร่วมกันที่อยากเห็นการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงในสังคมมุสลิม
“ ขณะนี้รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังวางแผนยุทธศาสตร์ประเทศ ซึ่งการจัดเสวนาในครั้งนี้ ก็เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารองค์กรมุสลิม 39 จังหวัดเช่นกัน ”
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา การได้มาของกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จากหลายจังหวัด ส่วนตัวมองว่า ยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร เพราะคนเหล่านี้เข้าใจว่า เขาเข้ามามีตำแหน่งเหมือนจะเป็นคนที่มีเกียรติสูงสุด แต่ในความเป็นจริง ในทางปฏิบัติแล้วพบว่าแทบไม่ได้ทำอะไรเลย จึงอยากให้คณะกรรมการอิสลามสำรวจตัวเองว่า เขาทำประโยชน์อย่างไรกับสังคมบ้าง ซึ่งเท่าที่พบส่วนตัวมองว่า กรรมการอิสลามจังหวัด ยังไม่มีงานเป็นชิ้นเป็นอัน
“ อยากให้ กรรมการอิสลามประจำมัสยิด ไปสำรวจคนจนในหมู่บ้านมีเท่าไหร่ รวมถึงสำนักจุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ช่วยกันทำงานอย่างจริงจัง และเกิดเป็นรูปธรรม เพราะเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างมหาศาล ”
ศ.ดร.อิมรอน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ บทบาทของการศึกษา อย่าปล่อยให้คนด้อยโอกาสเสียประโยชน์ ทั้งนี้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สามารถนำพาสังคม และพัฒนาไปในทางที่เจริญ เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์มีคุณค่าไม่ใช่เอาใครก็ได้มาเป็นผู้นำ หรือ ไม่ใช่แค่มีเงินก็มามีตำแหน่งได้
“ ผมจึงอยากฝากถึงคนเหล่านี้ คนที่กำลังจะมีการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยน เพราะนี่เป็นสัจธรรมที่พระเจ้าได้กำหนดว่า พระเจ้าจะไม่เปลี่ยนแปลงชนเหล่านั้น หากเจ้าไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง ทั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ แต่วันนี้เราได้คิดและได้ช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว ”
ศ.ดร.อิมรอน กล่าวว่าทั้งนี้ การเป็นนักบริหาร จะต้องมีการวางแผนเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ได้ การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้คนในประเทศจะต้องเดินไปด้วยกัน และจะต้องมองเป้าหมาย ไม่มองรายละเอียด โดยกำหนดว่าจะเดินไปให้ถึงเป้าหมายได้อย่างไร
นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ ได้ทรงแต่งตั้ง จุฬาราชมนตรี ถึง 4 ท่าน ประกอบด้วย ท่านอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์, ท่านประเสริฐ มะหะหมัด, ท่านสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และ ท่านอาศีส พิทักษ์คุมพล ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณา นอกจากนี้ยังพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ แปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และโครงการพระราชดำริให้กับชาวไทยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากการที่กรมการปกครอง ลงพื้นที่ตรวจประเมินคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เรื่องของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในหลายๆ จังหวัด ได้เห็นอะไรหลายอย่าง ซึ่งพบว่าละเลยเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคล แม้ว่าหลายฝ่ายพยายามสร้างคนเก่ง แต่ลืมนึกถึงเรื่องของการเป็นคนดี จึงเป็นหน้าที่ขององค์ศาสนา ในการสร้างคนให้เป็นคนดี ต้องมีความร่วมมือกัน
“ คนที่จะมาทำหน้าที่บริหารองค์กรในระดับกลาง โดยเฉพาะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ต้องมีวิสัยทัศน์ และมียุทธศาสตร์ ทั้งในระบบองค์กร รวมทั้งการบริหารทรัพยากรบุคคล ”
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับตุลาคม2560