วันสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ : ครั้งที่ 5
ยกศักยภาพสตรีเทียบสากลตามวิถีอิสลาม
++++++++++++++++
สำนักข่าวอะลามี่ : สมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ ร่วมกับเครือข่ายจัดงาน” วันสตรีมุสลิมกระบี่ “ วันที่ 20-22 ตุลาคม หวังจะยกระดับศักยภาพสตรีมุสลิมไทย เทียบสตรีสากลตามวิถีอิสลาม
ดร.ภญ.เกศแก้ว เจ๊ะโส้ นายกสมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของวันสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ว่า ปีนี้ “วันสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ จัดเป็นครั้งที่ 5 ” โดยสมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ ร่วม กับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่ ได้กำหนดให้วันที่ 1 เดือนมุฮัรรอมของทุกปี ตามปีศักราชอิสลาม เป็นวันสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีความสำคัญคือ เป็นวันขึ้นปีใหม่ของอัลอิสลาม และเป็นวันคล้ายวันฮิจเราะห์ของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล)
สำหรับกิจกรรมวันสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่นั้น ได้จัดมาเป็นประจำทุกปี เริ่มจากการก่อตั้งสมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ ถึงวันนี้จัดมาแล้ว 5 ครั้ง โดยปีนี้จัดจัดในวันที่ 21 ตุลาคม 2560
ทั้งนี้ เพื่อแสดงออกถึงความสามัคคีในกลุ่มสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่/ พัฒนาสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ให้มีศักยภาพทัดเทียมสตรีมุสลิมสากลตามวิถีอิสลาม/ ให้สตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ได้ทราบบทบาท หน้าที่และสิทธิของเธอในปัจจุบัน/ พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตสตรีมุสลิมในด้านการศึกษา ด้านศาสนาและด้านเศรษฐกิจให้เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม และเป็นทรัพยากรบุคคลของชาติอย่างมีประสิทธิภาพ/ และส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษา ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม พฤติกรรม เศรษฐกิจ และสังคม แก่สมาชิกสมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ ในทุกครอบครัว ชุมชน และสังคมตามวิถีอิสลาม
ดังที่ “ ท่านศาสดามูฮำหมัด (ซ.ล.) ได้สอนว่า “สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา” คำนี้สอนให้ชายและหญิงปฏิบัติต่อมารดาให้ดี เพราะสภาพของมารดาหรือสตรีต้องอยู่ในสภาพที่มีเกียรติและได้รับการปกป้องอย่างดี “
นอกจากนี้บทบาทของสตรีในฐานะผู้ดูแลสนับสนุนครอบครัว ดังพระราชดำรัส “ การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒
ดร.ภญ.เกศแก้ว กล่าวอีกว่า จากพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564 ) ที่ประเทศไทยจะยังคงประสบสภาวะแวดล้อมและบริบทของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อาทิ กระแสการเปิดเศรษฐกิจเสรี ความท้าทายของเทคโนโลยีใหม่ๆ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต คุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น ทำให้การพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จึงจำเป็นต้องยึดกรอบแนวคิดและหลักการในการวางแผนที่สำคัญ ดังนี้
1. การน้อมนำและประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม
3.การสนับสนุนและส่งเสริมแนวคิดการปฏิรูปประเทศ Thailand 4.0
และ4 การพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
สิ่งสำคัญประการหนึ่งภายใต้แผนดังกล่าว คือ การสร้างสังคมที่เสมอภาค คนในสังคมมีเจตคติที่ดี ตระหนักและยอมรับถึงบทบาทของสตรีในบริบทต่างๆ ทั้งในด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว การสร้างภูมิคุ้มกันให้คนในชุมชน ในด้านการศึกษา ศาสนา เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาวะอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้สังคมมีความยุติธรรม โดยสตรีทุกกลุ่ม มีโอกาสเข้าถึงและได้รับการศึกษาทุกระดับ มีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต สตรีมีความมั่นคงในชีวิต ด้านสุขภาวะและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับการจัดงานวันสตรีมุสลิมกระบี่ เป็นความร่วมมือของ สมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ ร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่ และองค์กรเครือข่าย อาทิ สมาคมมุสลิมสัมพันธ์จังหวัดกระบี่/ สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี/ เครือข่ายสตรีไทยมุสลิมอันดามัน/ สภาสตรีมุสลิม 14 จังหวัดภาคใต้/ และอีกหลายองค์กร
โดยได้ร่วมจัดกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ข้างต้น อาทิ การแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช/ ประชุมวิชาการสตรีมุสลิมในบทบาทที่หลากหลายและแตกต่างตามวิถีอิสลาม/ นำเสนอผลิตภัณฑ์สุขภาพผลงานสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่/ สตรีไทยมุสลิมอันดามัน การท่องเที่ยวฮาลาล เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการดูแลเกื้อกูลสังคมมุสลิมที่ดีต่อกัน เป็นการประสานสัมพันธ์เครือข่ายสตรีมุสลิมในจังหวัดกระบี่ อันดามัน และประเทศไทย รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12
ดร.ภญ.เกศแก้ว กล่าวอีกว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณจากโรงไฟฟ้าภาคใต้ /ชมรมนักธุรกิจไทยมุสลิมจังหวัดกระบี่/ นักธุรกิจในจังหวัดกระบี่ / สมาคมมุสลิมสัมพันธ์จังหวัดกระบี่/ ชมรมสถาบันการเงินจังหวัดกระบี่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 700คน จากสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่ 8 อำเภอ ประกอบด้วยกลุ่มแม่บ้านสตรีมุสลิม แม่บ้านคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สตรีมุสลิมภาครัฐ ภาคเอกชน นักธุรกิจ เครือข่ายสตรีไทยมุสลิมอันดามัน 6 จังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง เป็นต้น