Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /    ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เรียกร้องอาเซียน ร่วมยุติความรุนแรงในพม่า

“ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ” เรียกร้องอาเซียน ร่วมยุติความรุนแรงในพม่า

แปล-เรียบเรียง : Ekthawat Nazri Mukem


               สำนักข่าวอะลามี่ :  อดีตเลขาอาเซียน เรียกร้องบทบาทประเทศสมาชิกอาเซียน เร่งยุติความรุนแรงและความขัดแย้ง รัฐบาลเมียนมาร์กับ ชาวโรฮิงญา  ย้ำสะท้อนบทบาทและที่สำคัญ ประชาคมโลกกำลังจับตามองอาเซียน ถึงความน่าเชื่อถือ และความสมดุลของประเทศสมาชิก


             “ จากจำนวนชาวโรฮิงญา ที่หลบหนีความโหดร้ายทารุณที่เพิ่มมากขึ้น ในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ วันนี้ชาติอาเซียนได้ลุกขึ้นมาเรียกร้อง และแสดงศักยภาพ เพื่อลดการสูญเสีย ดั่งน้ำดับไฟ ที่ปะทุระหว่างชาติพันธ์..” 

                นี่คือ มุมมองของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ได้สะท้อนถึงบทบาทอาเซียนต่อกรณีความรุนแรงในประเทศเมียนมาร์ ในขณะนี้ ผ่านหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เช้าวันนี้

               ดร.สุรินทร์ บอกว่า สถานการณ์ในพม่า ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตทางภาคเหนือ ที่มีชายแดนติดกับบังกลาเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่เฉพาะชาวเมียนมาร์ ที่เคียดแค้นชาวโรฮิงญา เท่านั้น แต่นั่นรวมถึงชาวพุทธเมืองยะไข่ และฮินดู


              สืบเนื่องความรุนแรงทวีคูณยิ่งขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เมื่อกองกำลังที่ถูกเรียกว่า กลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญา ได้เข้าโจมตีกองกำลังตำรวจ และฐานทัพทหาร ทำให้ชาวโรฮิงญา ซึ่งทาง UN ระบุตัวเลขว่า มีชาวโรฮิงญา จำนวน 123,000 คน ได้หนีความรุนแรง ข้ามชายแดนไปยังประเทศบังกลาเทศเพื่อลี้ภัย  ขณะที่ ชาวพุทธยะไข่ รวมถึงชาวฮินดู เอง ก็มีข่าวว่าหลบหนีไปยังค่ายในพม่า โดยเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้มีคนถูกฆ่าไปแล้วมากกว่า 400 คน

              “ ขณะที่การตื่นตัวของสิทธิมนุษยชนได้มีมากขึ้น ทำให้อาเซียนได้สูญเสียความน่าเชื่อถือ รวมถึงความเชื่อมั่นจากนานาชาติ หากว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน ยังเพิกเฉยต่อการถูกเข่นฆ่าของชาวโรฮิงญา ในครั้งนี้ ” ดร.สุรินทร์ กล่าวและว่า

              ดังนั้นประเทศสมาชิก ควรหาวิธีป้องกันอย่างเร่งด่วน จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ เพื่อลดความตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้น

             อย่างไรก็ตาม ดร.สุรินทร์ มองว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทดสอบความน่าเชื่อถือของสมาชิกอาเซียนอย่างแท้จริง จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในรัฐยะไข่  ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นภัยพิบัติของมนุษย์

             และนั่นก็เป็นอีกบททดสอบหนึ่งของอาเซียน ในด้านความช่วยเหลือ ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือ

             ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า จากการที่รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย  นาง Retno Marsudi  ได้เดินทางไปพบกับ Snr Gen Min Aung Hlaing  ผู้บัญชาการทหารของเมียนมาร์  ในกรุงเนปิดอ ในวันจันทร์ที่ผ่านมา นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายกย่องเป็นอย่างมาก

             อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีอื่นๆในอาเซียน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในการยุติปัญหาระหว่างชาติพันธ์ในครั้งนี้ให้ได้ และอาเซียนเอง มีความสามารถมากพอที่จะเจรจาและต่อรองกับกลุ่มในประเทศสมาชิกด้วยกันเอง เนื่องจากกลุ่มประเทศสมาชิก เคยทำสำเร็จมาแล้วก่อนหน้า ตัวอย่างเช่น ติมอร์ตะวันออก ในปี 1999

              ดังนั้นประเทศสมาชิกในอาเซียนเอง จำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เพื่อปกป้องด้านมนุษยธรรม และยุติความรุนแรงความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นที่รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ 

              และที่สำคัญคือ ประชาคมโลกกำลังจับตามองอาเซียน ถึงความน่าเชื่อถือและความสมดุลของประเทศสมาชิก

 

ขอบคุณภาพจาก AFP/ internet