อดีตเลขาธิการอาเซียน
แนะรัฐบาลท้องถิ่น Sarawak
ถอดบทเรียนนานาชาติรองรับกระจายอำนาจ
โดย เอกราช มูเก็ม รายงานจากเมืองกุชิง รัฐซาราวัค มาเลเซีย
สำนักข่าวอะลามี่ : อดีตเลขาธิการอาเซียน (ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ )โชว์วิสัยทัศน์ ให้ผู้บริหารองค์กรระดับสูงของรัฐและสมาชิกสภาแห่งรัฐซาราวัค ประเทศมาเลเซีย แนะถอดบทเรียนนานาชาติ ให้รัฐบาลท้องถิ่น Sarawak คิดวางแผน เพื่อนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้ให้คุ้มค่า รองรับการกระจายอำนาจ
สำหรับโปรแกรมการบรรยายนั้นกำหนด 2 วัน โดยวันแรก (14 สิงหาคม 2560) Dr.Asleena Hj.Helmi Chief Executive Office สำนักงาน Sarawak Centre of Performance Excellence (SCOPE) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐด้านการพัฒนาบุคลากร (เทียบเท่า ก.พ.ของประเทศไทย) ให้การต้อนรับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ในโอกาสเป็นผู้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ Multicultural Leadership ”
โดยผู้เข้าฟังการบรรยายจากตัวแทนระดับสูงภาครัฐ หน่วยงานต่างๆทั้งด้านการศึกษา ตำรวจ อัยการ ป่าไม้ เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ประปา และหน่วยงานอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากรัฐ ประมาณ 30 คน
ดร.สุรินทร์ กล่าวเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงเส้นทางชีวิตในวัยเด็ก มาจากครอบครัวเด็กปอเนาะ ก่อนจะมาเรียนประถมที่โรงเรียนวัดในจังหวัดนครศรีธรรมราช ทางภาคใต้ของไทย แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะเราไม่ละความพยายามและแสวงหาโอกาส จนประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความสำคัญของอาเซียนว่า ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางในทุกด้าน ขณะเดียวกันปัญหาของอาเซียนก็ตามมามากมายเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาก่อการร้าย ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ดร.สุรินทร์ กล่าวโดยเน้นเรื่องการกระจายอำนาจ คือ การกระจายจากรัฐบาลกลาง มาให้ท้องถิ่นมากขึ้น แม้ว่าจะไม่สามารถกระจายอำนาจมาให้อย่างเฉียบพลันหรือในเร็ววัน แต่รัฐบาลท้องถิ่น จะต้องดำเนินการต่อเนื่อง แม้ว่าอาจไม่แล้วเสร็จหรือบรรลุผลใน10 ปีหรือ 20 ปีก็ตาม
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลท้องถิ่นซาราวัค ในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพยากร มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง มีโอกาสการลงทุนที่หลากหลาย ส่งภาษีให้รัฐบาลกลางมากมาย ทั้งจากแก๊ส ถ่านหินและอุตสาหกรรมป่าไม้ จากทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทั้งนี้รัฐบาลท้องถิ่น จะต้องกำหนดมาตรการอย่างต่อเนื่อง ค่อยๆ ขยับขยายตัวเองให้มีพื้นที่มากขึ้น ไม่ใช่เป็นการแยกรัฐ แต่ให้รัฐบาลท้องถิ่น มีสิทธิ และเสรีภาพ มากขึ้น
“ ผมขอยกตัวอย่างปัญหาอาเจะห์และติมอร์ ในอินโดนีเซีย ในอดีตรัฐบาลกลาง เอาภาษีจากท้องถิ่นไป 70/30 แต่ปัจจุบันหลังการเจรจาและบรรลุข้อตกลง รัฐบาลกลางเอาไป 30 ส่วน 70 เป็นของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งผมมองว่า “ซาราวัค” ก็เช่นเดียวกัน น่าจะมีแนวทางในการเจรจา ”
ดร.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง หรืออำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น หรือส่วนกลางกับพื้นที่รอบนอก จากความไม่เท่าเทียมในสังคม นำไปสู่การขัดแย้งของสองกลุ่ม โดยยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย สุดท้ายก็นำไปสู่ความขัดแย้ง และเกิดการเผชิญหน้าทางสังคม เป็นความขัดแย้งระหว่างคนเมืองกับคนรอบนอก
“ ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่สามารถหยุดได้ด้วยการใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ความรุนแรงแก้ไขไม่ได้ การเจรจาเท่านั้น ที่นำไปสู่ความสำเร็จ ” ดร.สุรินทร์ กล่าวและว่า
ดังนั้นเราต้องเรียนรู้การแก้ปัญหาในทุกด้าน ทั้งความรุนแรง ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โลก รวมถึงอาเซียนมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยี เราต้องเรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งนี้ ซาราวัค ในอนาคตจะเป็นอย่างไร อยู่ที่เรากำหนด ดังนั้นแน่นอนต้องมีความแข็งแกร่งในการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น
“ แม้ว่าเราจะเห็นปัญหาแต่การแก้ปัญหาให้ลุล่วงนั้นคงไม่ง่าย ดังนั้นเวทีดังกล่าวจึงเป็นการมาขายความคิด มาแชร์ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน “ ดร.สุรินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเทศมาเลเซียนั้น ตามอำนาจการปกครอง รัฐไหนที่ไม่มีสุลต่าน รัฐบาลกลาง จะแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ หรือ เรียกว่า Governor มาเป็นผู้ปกครองในเชิงสัญลักษณ์ ที่เป็นไปตามข้อเสนอของรัฐบาลท้องถิ่น อันประกอบด้วย รัฐซาราวัค ซาบาห์ และรัฐปีนัง
สำหรับในวันที่สอง ( 15 สิงหาคม )บรรยายในหัวข้อ “ The Art of High-End Negotiation ” หรือ ศิลปะในการต่อรอง การเจราระดับสูง โดยผู้เข้าร่วมฟังจากสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหาร โดยมี Yang Berhormat Datuk Amar Haji Mohamad AsiaBin Awang Nassar ประธานสภาแห่งรัฐซาราวัคมาต้อนรับและร่วมบรรยาย
นอกจากนี้ยังมีDatuk AmarAbg Haji Abdul RahMan Zohari Bin Tun Datuk Abg Haji Openg Chife Ministri Of Sarawak ในฐานะผู้ว่าการแห่งรัฐซาราวัค มาร่วมด้วย
" การบรรยายในครั้งนี้จะเน้นให้เห็นถึงความพยายามปรับความสัมพันธ์ประเทศสมาชิกอาเซียน กำลังหาจุดสมดุลใหม่ในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ให้มากขึ้น" ดร.สุรินทร์ กล่าว
ขณะทีผู้บริหารของสำนักงาน Sarawak Centre of Performance Excellence (SCOPE) กล่าวว่าจากประสบการณ์ของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ที่เดินทางไปรอบโลกและมีโอกาสเข้าไปแก้ปัญหาในหลายกรณี จึงคาดว่าจะสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางให้บุคลากรของรัฐซาราวัค นำไปปรับใช้เพื่อการพัฒนารัฐบาลท้องถิ่น ต่อไป .