Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ถอดระหัสร้อน กอจ.ปทุมธานี : เสรี ล้ำประเสริฐ

เปิดบ้าน กอจ.ปทุมธานี โชว์วิสัยทัศน์ผู้นำมุสลิม

เผยเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมฮาลาลขยายตัวสูงของประเทศ

////////////////////////////////////////

          สำนักข่าวอะลามี่ : คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปทุมธานี นับเป็นหน่วยงานองค์กรศาสนาที่มีพื้นที่อุตสาหกรรมฮาลาลขยายตัว อันดับต้นๆ ของประเทศ

         ด้วยเหตุนี้ จังหวัดปทุมธานี จึงเป็นพื้นที่ที่มีการกล่าวขานมากอีกพื้นที่หนึ่งของภาคกลาง จากนี้ไปเรามาทำความรู้จัก สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปทุมธานี ผ่าน เสรี ล้ำประเสริฐ ” กรรมการอิสลามประจำจังหวัดปทุมธานี หลายสมัย และในฐานะ รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย


           เสรี ล้ำประเสริฐ กล่าวว่า ปทุมธานี ถือเป็นจังหวัดขนาดกลาง มีคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด ทั้งหมด 21 ท่าน มัสยิดที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจำนวน 32 แห่ง จากพื้นที่ทั้งหมด 7 อำเภอ เราบริหารและดูแล ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่ประสานจาก อบจ. หรือเงินอุดหนุนของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้กับมัสยิดต่างๆ ล้วนเท่าเทียมกัน

         “ ในเชิงการบริหาร จะมีคณะกรรมการประจำจังหวัด อยู่ทุกพื้นที่ ทั้ง 7 อำเภอ ในจังหวัดปทุมธานี ยกเว้นเพียงอำเภอเดียวอำเภอสามโคก ไม่มีคณะกรรมการจังหวัด แต่มีคณะกรรมการประจำจังหวัดอยู่อำเภอใกล้เคียง ก็คือ อำเภอลาดหลุมแก้ว ”

          สำหรับรูปแบบการบริหารองค์กร เราแบ่งออกเป็นฝ่ายต่างๆ อาทิเช่น ฝ่ายฮาลาล ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายซะกาต  ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ และฝ่ายอื่นๆ นอกจากการดูแลมัสยิดทั้ง 32 แห่ง  ยังมี โรงเรียนสอนศาสนาเกือบ 20 แห่ง ซึ่งไม่มีงบประมาณจากฝ่ายไหนเข้าไปสนับสนุน “โรงเรียนเหล่านี้ก็อยู่ภายใต้การดูแลและการสนับสนุน ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปทุมธานี”

           เสรี กล่าวว่า ปทุมธานี มีสถานประกอบการที่ขอรับรองฮาลาลไม่ต่ำกว่า 250 โรงงาน ในจำนวนนี้เป็นโรงงานผลิตสินค้าโดยตรงประมาณ 170-180  โรงงาน นอกจากนี้ยังเป็นโรงงานในลักษณะ OEM อีกจำนวนหนึ่ง เช่น ผลิตยาสีฟัน น้ำยาป้วนปาก อีก 6-7 โรงงาน ทั้งนี้นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขอรับรองฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุมธานี ทั้งหมดร่วม 4,000 ผลิตภัณฑ์

           โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงงานผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ปัจจุบันมีสินค้าหลายแบรนด์ที่ใช้ระบบ OEM จ้างผลิต ซึ่งมีฐานผลิตในจังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้กรณีโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เราจะดูแลทั้งระบบเพื่อป้องกันการปนเปื้อน โดยเฉพาะการปนเปื้อนข้ามสายการผลิต จึงมีความร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างใกล้ชิด

            รองเลขาธิการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมฮาลาลในจังหวัดปทุมธานี มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งปัจจัยมาจากปทุมธานี เป็นพื้นที่ ที่มีความสะดวก โดยเฉพาะระบบการขนส่งหรือการเคลื่อนย้ายสินค้า

          “ ผมมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ที่ผมรับหน้าที่ใหม่ๆ มีโรงงานไม่มาก จากประมาณ 10 ราย ขยับมาที่ 50 โรงงาน จากนั้นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในวันนี้มีกว่า 250 โรงงาน ” เสรี กล่าวและว่า

          จากการขยายตัวอุตสาหกรรมฮาลาลดังกล่าว เราจึงได้เตรียมพร้อมบุคลากรฝ่ายฮาลาล ของคณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัด ทั้งในเชิงวิชาการ และนักการศาสนา โดยเราเน้นหนักไปทางนักวิชาการศาสนา ที่มีประสบการณ์และวิทยาศาสตร์ฮาลาล ที่สั่งสมมามากกว่า 10 ปี ขณะเดียวกัน เราพยายามสร้างบุคคลากรรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจฮาลาลเช่นกัน

            เสรี กล่าวถึงรายได้ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปทุมธานี  ซึ่งหลายคนอาจมองว่าจำนวนมาก แต่ความจริงแล้วการจัดเก็บค่าทำเนียมต่างๆ มีกำหนดขนาดและราคา ตามระเบียบฮาลาล ซึ่งในแต่ละปีเราได้รับค่าทำเนียมจากโรงงานปีละประมาณ 3 ล้านบาท ในจำนวนนี้ยังไม่รวมค่าที่ปรึกษาโรงงาน ซึ่งเป็นเงินที่รับผ่านสำนักงาน และส่งมอบต่อให้กับที่ปรึกษาโรงงานละ 2,000 บาท  และรายได้อีกส่วนหนึ่ง มาจากงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ

            “ ก่อนหน้านี้เราเคยได้รับงบอุดหนุนจาก อบจ. แต่ปัจจุบันงบนี้ได้ถูกตัดไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้เรายังได้รับเงินอุดหนุนจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดต่อกันมา 5 ปี ซึ่งเป็นงบที่ ท่านอิม่ามรัศมี ดำชะไว อดีตรองประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปทุมธานี และ รองเลขาธิการคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย เคยประสานงาน โดยในปีแรก ( 2556) เราได้รับงบสนับสนุน 1.5 ล้านบาท, ปีที่ 2 (2557) ได้ 2 ล้านบาท, ปีที่ 3 (2558) ได้ 2 ล้านบาท, ปีที่ 4 (2559) ได้รับงบอุดหนุน 1 ล้านบาท ส่วนปีล่าสุด (2560) ได้รับอุดหนุนลดลงเหลือ 7 แสนบาท ”

           ทั้งนี้งบที่ได้รับจะมีการระบุใน TOR ว่าจะสามารถนำไปจ่ายเพื่ออะไรได้บ้าง ซึ่งเจตนาของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ต้องการให้นำเงินดังกล่าวมาใช้จ่ายในการดำเนินการของสำนักงานกรรมการอิสลามฯ เป็นการช่วยเหลือองค์กร เพื่อให้องค์กรสามารถนำเงินที่เป็นรายได้ปกติ ไปช่วยเหลือชุมชนและมัสยิดต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          เสรี กล่าวชี้แจงกรณีเรื่องการใช้งบที่ได้รับจากศูนย์ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จนมีการร้องเรียน ว่า เบื้องลึกของการร้องเรียน มาจากการการแข่งขันการเลือกตั้งกรรมการอิสลาม ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ จึงมีการนำข้อมูลในที่ประชุมบางส่วนออกไปเปิดเผยภายนอก

           โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่ระบุว่า งบที่ได้รับอุดหนุนจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล มีเงินทอนนั้น  ขอย้ำและขอยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง มีการนำข้อมูลบางส่วน ซึ่งไม่ครบวาระการประชุม ไปเจาะจงบางประเด็นออกเผยแพร่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด 

          “ ส่วนกรณีที่ผู้ร้องเรียนที่ระบุว่า มีการหมกเม็ดไม่ชี้แจงข้อเท็จจริง ผมเรียนว่าการบริหารงานของคณะกรรมการจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเหรัญญิก หรือผม ซึ่งเป็นเลขานุการ รวมถึงคณะกรรมการทั้งหมด 21 ท่าน สามารถตรวจสอบและขอดูเอกสารได้ ทุกท่านมีสิทธิที่จะขอดู แต่มีข้อแม้อยู่อย่างเดียวคือต้องขออนุญาตในที่ประชุมก่อน ”


            อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการร้องเรียนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงการใช้เงินดังกล่าว ยืนยันว่า เรื่องทั้งหมดเป็นการป้ายสีและการกล่าวเท็จ จนถึงขณะนี้ไม่ได้รับการสอบถามจาก สตง. แต่อย่างใด ซึ่งหากมีการตรวจสอบจริง เราก็พร้อมที่จะให้ตรวจสอบตลอดเวลา เพราะเชื่อมั่นในการทำงาน

            เสรี ล้ำประเสริฐ กล่าวถึง การทำงานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปทุมธานี ว่า ชุดนี้จะหมดวาระในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 โดยผู้บริหารจะเร่งดำเนินการกิจกรรมอย่างน้อย 2 เรื่องให้แล้วเสร็จ นั่นคือ การอบรมผู้ประกอบการฮาลาล โดยร่วมกับวิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ  และ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดปทุมธานี นครนายก และนนทบุรี

             นอกจากนี้ยังมีเรื่องการอบรมสัมมนาอิหม่าม ในจังหวัดปทุมธานี เพื่อให้รับรู้ การเปลี่ยนแปลงระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในเรื่องการบริหารงานองค์กร ของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต่างๆต่อไป .....และนี่คือทั้งหมดที่ผมและคณะ จะทำก่อนหมดวาระนี้.

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารดิ อะลามี่  มิถุนายน 2560