Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ผ่ากองกำลังและอำนาจรัฐที่ชายแดนใต้

ผ่ากองกำลังและอำนาจรัฐที่ชายแดนใต้

 โดย: อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง

             abualuang@gmail.com

            การโยกย้าย 2 ตำแหน่งสำคัญ ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่นิ่ง คือตำแหน่งเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มี นายภาณุ อุทัยรัตน์ และ อีกตำแหน่งหนึ่งคือแม่ทัพภาคที่ 4  ซึ่งมี พลโท อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ทั้งสองตำแหน่งนี้มีนัยสำคัญอย่างน้อยๆ 2 ประการหลัก คือ

             หนึ่งเป็นฝ่ายปกครองที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าเป็นฐานอำนาจของรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งในการใช้อำนาจค่อนข้างจะใกล้ชิดและมีเครือข่ายมากมายกับตั้งแต่ผู้ว่าราชการ 3 จังหวัด ในแต่ละจังหวัดและแต่ละอำเภอจะมีเจ้าหน้าที่ประจำจากกระทรวงต่างๆประจำทั้ง 33 อำเภอ มีกองกำลังราชการภาคพลเรือนทั้งที่มีและจัดตั้งพร้อมอาวุธอาทิ อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.)

             ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีกำลังที่มีอาวุธอย่างน้อยๆอำเภอละนับ 100 นาย(ทั้ง 3 จังหวัดมี 33 อำเภอ)ในทุกตำบลมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต) นายกเทศบาล มีสมาชิก มีเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน อบต.แต่ละตำบลมีกำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้านกับทีมอีกหมู่บ้านละอย่างน้อย 7 คน มีพนักงานรักษาความสงบ (พรส) ชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้านๆละ 30 คน (ชรบ.มีจำนวนทั้งหมด 1,534 หมู่บ้าน) อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน(อรบ.ซึ่งอาจจะคนละคนหรือคนละกลุ่ม กับคณะ ชรบ.)

             ในจำนวนนี้ รวมกับกลไกของรัฐที่ปฏิบัติงานอยู่ในตำบลหมู่บ้านเช่นครู เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)อีกตำบลละไม่น้อยกว่า 30 คน  ลองเอาตัวเลขเหล่านี้มาบวกลบคูณหารแล้วจะมีนับแสนคน ซึ่งส่วนใหญ่การบังคับบัญชาจะขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตามลำดับ

             ทั้งหมดนี้ เลขาธิการ ศอ.บต. มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการในพื้นที่การปกครองพิเศษตามทัศนะของ “คุณถาวร เสนเนียม” และพรรคประชาธิปัตย์ ? ในระยะเวลาที่ ศอ.บต. มีอำนาจเต็มตาม พรบ.ใหม่แล้วนับเป็นตำแหน่งที่พรรคการเมืองของทุกรัฐบาลจำเป็นต้องเอาคนที่ใกล้ชิด และสามารถทำงานอย่างไว้ใจได้

             ครั้นมาศึกษาโครงสร้างอำนาจในการบริหารจัดการปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหนึ่งตำแหน่งหนึ่งคือ กระทรวงกลาโหม ที่มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวเรือใหญ่ และ มีโครงสร้างที่ไม่สลับซับซ้อนมากมายนัก คือ การบริหารเจ้าหน้าที่ทหาร (บก เรือ อากาศ) อาสาสมัครทหารพราน ที่มีทีมระดับหัวหน้าไม่กี่นาย ส่วนใหญ่มีรองแม่ทัพภาคที่ 2 ,3 มาดูแลกำกับเองอยู่แล้ว เชื่อว่าระบบและวัฒนธรรมการบริหารของสถาบันทางทหารที่มีอำนาจลดหลั่นจากผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือและทหารอากาศลงมา เขามีเฉพาะอยู่แล้ว

             การบริหารสถานการณ์บ้านเมืองในสภาวะสงครามเช่นนี้นอกจากจะมีกำลังพลทั้งสิ้นที่บางกระแสข่าวว่ามีตั้งแต่ 45,000-70,000 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครันแล้วยังมีการสนับสนุนด้านงบประมาณที่มากพอและคล่องตัว(มากๆ) ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในรอบ 7 ปี ที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมีการประกาศใช้กฎหมายสำคัญ 3 ฉบับคือ กฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน(พรก.ฉุกเฉิน) พระราบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติ (พรบ.ความมั่นคง) ซึ่งได้ทำให้ฝ่ายความมั่นคงทางทหาร เชื่อว่าสามารถบริหาร และจัดการความไม่สงบได้อยู่หมัด

            ในสภาวะของพื้นที่ที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนี้เอง ทางทหารคงไม่สบายใจในหลายๆเรื่อง อย่างน้อยๆถ้าตำแหน่งในระดับหัวหน้าองค์กรมีระดับที่สูงกว่าตนเองคือ ตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นระดับ 11 ในขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 อยู่ในระดับ 10 การบริหาร การสั่งการคงทำให้เกิดช่องว่างได้

            ยิ่งเมื่อสมัยแรกๆก่อนที่ พรบ.ศอ.บต ยังไม่คลอด กองทัพภาคที่ 4  มีอำนาจเต็มทุกประการในเรื่องการบริหารบุคคลและที่สำคัญเรื่องการจัดการเรื่องงบประมาณแผ่นดิน

            ดังนั้นเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลย่อมเข้าใจได้ว่า การเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. จึงมีความหมายเชิงรุกในงานการเมืองของพรรคได้เป็นอย่างดี

           และยิ่งมีกระแสข่าวว่า พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี  จะมาดูแลรับผิดชอบงานของ กอ.รมน. และอาจจะหมายถึงการวางกำลังคนที่ตนเองไว้ใจใน ศอ.บต.ด้วย นั่นหมายถึง การใช้กระบวนการทางอำนาจทั้งสองฝ่ายมาอยู่ในคนๆเดียวได้ การงานอื่นๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งน่าศึกษาและชวนวิเคราะห์ทิศทางอีกหลายร้อยเท่านัก

           ที่กล่าวว่าน่าศึกษา และวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งมากขึ้นเพราะความโชกโชนในประวัติของ ท่านพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ในช่วงที่มารับผิดชอบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วอย่างยาวนาน  เหตุการณ์สำคัญกรณีความตายของประชาชนจำนวน 32 คน ในมัสญิดกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี  เมื่อวันที่ 28  เมษายน 2547  ที่เหยื่อถูกกกล่าวหาว่า เป็นผู้ก่อการร้าย มีอาวุธครบมือ และจะมีการระเบิดพลีชีพ

           ทหารและเจ้าหน้าที่ได้ถูกสั่งให้ระดมยิงด้วยอาวุธนานาชนิด จนมีคนตายเป็นกองรวมกันเป็นสิบคน

          มีการพูดคุยอย่างหนาหูว่า บุคคลที่สั่งการในวันนั้นไม่น่าจะมีมากกว่า 3 ชื่อ อันประกอบด้วย พันตำรวจเอกทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี และ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี((ใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ? ) จะถูกหรือผิด คงจะไม่มีการสั่งการที่เป็นลายลักษณ์อักษรให้ตรวจสอบได้เป็นแน่

            ครั้นมามองอนาคตความสงบที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ถ้างานการเมืองที่เป็นอยู่เช่นนี้ จะหายวันหายคืนในเร็ววันได้หรือ ?

             หรือ จะยิ่งดูยิ่งไกลห่างความจริงมากขึ้นในทุกขณะ  ถึงแม้รัฐบาลจะบอกทุกครั้งว่า การโยกย้ายข้าราชการตำแหน่งสูงๆ และมีความสำคัญต่อประเทศชาติว่าเป็นไป “ตามความเหมาะสม” ก็ตาม  ก็อดเป็นกังวลไม่ได้ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นสมรภูมิการชิงดีชิงเด่นทางการเมืองของพรรคใหญ่มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันนี้  ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงบุคคลของฝ่ายหนึ่งไปอยู่ที่อื่นแล้วเอาคนของตนมาเสียบแทน โดยจะคำนึงหรือไม่ถึงคุณสมบัติที่ควรจะเป็นมากนัก จะมีการหาเรื่องโต้ตอบของอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่อย่างไร ?

             เพราะในอดีตมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องทำนองการทำงานที่เชื่อมต่อกับกลไกเครือข่ายที่โยงใยได้เพื่อโต้ตอบที่รุนแรงอยู่ไม่น้อย

             กับอีกด้านหนึ่งเช่น ปัญหายาเสพติด (ใบกระท่อม ยาบ้า ยาไอซ์ กัญชา เฮโรอิน ฯลฯ) การค้าของเถื่อน(สินค้าหนีภาษีเช่นของบริโภค อุปโภค ที่หนาตาในปัจจุบันนี้คือน้ำมันเถื่อน) ตามหัวเมืองชายแดนสำคัญ เช่น สุไหงโกลก เบตง สะเดา หาดใหญ่ ฯลฯ

             กล่าวกันว่าเขาเล่นกันมานานแล้ว... มีระบบการดูแลที่ชัดเจนว่าระดับใด เท่าไหร่ อย่างไร ?

             เจ้าหน้าหลายฝ่ายรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร แต่ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่มองตาปริบๆ หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ (รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี)

             ยิ่งในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายเรื่องการปราบปรามยาเสพติดและต้องการให้เห็นปัญหาของประเทศได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังสมกับการการันตีของรองนายกรัฐมนตรี นาม “ร้อยเอกเฉลิม อยู่บำรุง” ที่แต่งตั้งพลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องทำให้มีผลเป็นที่ประจักษ์

              ถ้าเป็นการปฏิบัติการที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและโปร่งใส นับเป็นคุณาปการที่น่ายกย่อง ..!!!

             แต่ถ้าเพื่อลูบหน้าปะจมูก หรือเลือกที่เลือกทาง เพราะชายแดนที่หนักหนาเรื่องยาเสพติดที่ไม่แพ้กันหรือ อาจจะมีเครือข่ายที่ใหญ่โตกว่าเช่นที่อำเภอหาดใหญ่ ชายแดนอำเภอสะเดา หรือ อำเภอเบตง

             ...........เหตุไฉนมันไม่ระเบิดเหมือนกับที่เกิดขึ้นในอำเภอสุไหง โก-ลก หรือ ท่านจะมีคำตอบในใจเป็นอย่างอื่น ?

              เจ้าหน้าที่ดีๆหลายฝ่ายหลายคนอดรนทนไม่ได้กับขบวนการเหล่านี้ หรือเลยเถิดในเรื่องวิถีการทำงานที่มุ่งเน้นเรื่องผลประโยชน์และการคอรัปชั่นของเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานมากกว่าความเข้าอกเข้าใจในทีมงานที่ต้องตรากตรำทำงานหนัก อึดอัด เครียดหาทางออกไม่ได้จนเป็นส่วนหนึ่งของเหตุฆ่ากันตาย วงการข่าวว่ากันว่า ตั้งแต่ปี 2547  เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ฆ่ากันเองตายนับสิบกรณี และเสียชีวิตไปหลายศพ ทั้งที่เกิดขึ้นในค่ายพัก ด่านตรวจ หรือ ไล่ยิงกันบนถนน

            ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏเป็นข่าวในที่สาธารณะมากนัก เพราะถูกปิดคดีว่าด้วย “ความมั่นคง” เกือบทั้งสิ้น

             ที่สุดทุกวันนี้ประชาชนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกจะชินชากับความทุกข์ยาก การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลทำมากที่สุดคือ การบริหารจัดการคนของรัฐเท่านั้น  และชอบที่โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนสารพัด

             เรื่องสำคัญของประชาชนเป็นเรื่องที่ไกลตัวของรัฐบาลและเป็นเรื่องรอง เมื่อปรากฏการณ์เป็นเช่นนี้มี หรือประชาชนจะหาทางออกให้ตนเองให้อยู่อย่างสงบสันติสุขแท้จริงได้อย่างไร ?