Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   SAMART CHAROENRIT กัปตัน ? สตูลปากบารา สปีดโบ๊ท

SAMART CHAROENRIT

กัปตัน “ สตูลปากบารา สปีดโบ๊ท ”

เบอร์หนึ่งเส้นทางเดินเรืออันดามัน

++++++++++++++++++++++++++

             สำนักข่าวอะลามี่:  ตลอดชีวิต สามารถ เจริญฤทธิ์ หรือที่หลายคนรู้จักในนาม “ผู้ใหญ่หมง”  เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิต เข้า-ออก ชายแดนไทย มาเลเซีย มากว่า 30 ปี ทำให้หลายคนรู้จัก ว่าเขาคือคนจริง ใจกว้างและเป็นที่ยอมรับ ก่อนจะมาปักหลักธุรกิจอย่างจริงจังเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา

             วันนี้ สามารถ เจริญฤทธิ์ ยังควบตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสตูล และ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล  อีกด้วย

            คุณสามารถ ย้อนเส้นทางชีวิตทางธุรกิจให้ฟังว่า ช่วงปี พ.ศ. 2545 ได้เปิด บริษัท สตูล ปากบารา สปี๊ดโบ๊ท คลับ จำกัด ขึ้นมา นับเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงวิถีการเดินทางของนักท่องเที่ยวสู่เกาะแก่งต่างๆในจังหวัดสตูล ซึ่งในอดีตใช้วิธีการดัดแปลงเรือประมง มาเป็นเรือนำเที่ยว และนำมาเป็นเรือโดยสารระหว่างปากบารา สู่เกาะหลีเป๊ะ

             “ เราเป็นภาคเอกชนเจ้าแรกที่นำเอาเรือสปีดโบ๊ท เข้ามาวิ่ง จากปากบารา มายัง เกาะหลีเป๊ะ ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมาก  เนื่องจากการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น  ”

              สามารถ เล่าว่า ในอดีตการเดินทางจากท่าเรือปากบารามา ถึงเกาะหลีเป๊ะ ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง หลังจากนำเรือสปีดโบ๊ท เข้ามาวิ่งบริการแทน ทำให้ย่นระยะเวลาเหลือเพียง 1.20 นาที ซึ่งมีความแตกต่างในด้านความเร็ว อีกทั้งความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้ามาเกาะหลีเป๊ะ มากขึ้นเรื่อยๆ

            “ ช่วงแรกเราใช้เรือเช่ามาจากภูเก็ต เพื่อนำมาทดลองตลาด หลังจากนั้นขึ้นปีที่ 2 เราเริ่มมั่นใจว่าตลาดของเราไปได้ จึงตัดสินใจซื้อเรือลำแรก เป็นเรือขนาด 1 เครื่องยนต์ ต่อมาก็ขยับเป็นเรือขนาด  2 และ 3 เครื่องยนต์ เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น เราจึงต้องอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และเพิ่มขนาดของเรือด้วยสามารถ กล่าวและว่า

             จากนั้นไม่นาน จึงเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ จากเกาะหลีเป๊ะ – ลังกาวี - ประเทศมาเลเซีย โดยมีพันธมิตรที่เหนียวแน่นเป็นนักธุรกิจชาวมาเลเซีย และเป็นผู้บริหาร ตาลากา ฮาเบอร์ มารีน่า ซึ่งเป็นที่จอดเรือยอร์ช ในลังกาวี

            ต่อมาประมาณ ปี 2556 -2557 ทางฝั่งเกาะลังกาวี ได้สั่งห้ามเรือสปีดโบ๊ท ของเราเข้าไปในลังกาวี ซึ่งทางมาเลเซียอ้างเหตุว่าเรือสปีดโบ๊ทไม่ปลอดภัย แต่เราก็ขอยืนยันว่า “ เรือของเรามีความเป็นมาตรฐาน และผ่านการรับรองอนุญาตจากกรมเจ้าท่าฯของไทย”

            อย่างไรก็ตามจากเหตุผลข้างต้น เราก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมใช้เรือสปีดโบ๊ท มาเป็น เรือเฟอร์รี่แทน โดยบริษัทฯ ได้ทำการเช่าเรือ จาก บริษัท เซ้าท์เทิร์น เซอวิส แอนด์ทัวร์  มาใช้ในการให้บริการนักท่องเที่ยว  นั่นเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งของการเดินเรือโดยสาร ระหว่างเกาะหลีเป๊ะ - เกาะลังกาวี

            ในช่วงเดียวกันนั้น เราก็มีความคิดใหม่  เมื่อปี 2551 - 2552 เราก็เปิดเส้นทางการเดินเรือจาก เกาะหลีเป๊ะ- สู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นการเพิ่มช่องทางการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวทางทะเลอันดามัน

           “ เราเชื่อว่าเมื่อใดก็ตาม ถ้าเราให้ความสะดวกกับนักท่องเที่ยวในการเดินทาง และคิดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา จากนั้นเราก็นำ บริษัท สตูล ปากบาราสปี๊ดโบ๊ท เปิดเส้นทางเดินเรือ แต่ปรากฏว่าในระหว่างปี 2550 – 2551 ซึ่งเป็นช่วงแรกๆ มีคนน้อยมาก บริษัทฯ ประสบความขาดทุนอยู่ใน 1 หรือ 2 ซีซั่นแรก ”

           เนื่องจากระยะทางค่อนข้างไกล (ประมาณ 81 ไมล์ทะเล) ออกจากเกาะหลีเป๊ะ เราแวะรับผู้โดยสารที่เกาะบุโหลน เกาะมุก เกาะไหง ปลายทางที่เกาะลันตา ปรากฏว่าปีนั้นขาดทุนไปกว่า 4 ล้านบาท  เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังรู้จักเส้นทางนี้น้อย อีกทั้งช่องทางการตลาดก็ยังน้อยอยู่

             จากนั้นเราจึงได้จัดทัพกระบวนการคิดใหม่ ด้วยการเปลี่ยน และนำเรือเฟอร์รี่มาแทนเรือสปีดโบ๊ท แต่ปรากฏว่า ผลตอบรับไม่ดีเหมือนที่คิด สุดท้ายต้องยกเลิกเรือเฟอร์รี่ จึงกลับมาใช้เรือสปีดโบ๊ท เช่นเดิม

            ต่อมาในปี  2552- 2553 นักท่องเที่ยวเริ่มตอบรับ ทำให้ผลประกอบการดีขึ้น หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปีละไม่ต่ำกว่า  25% เพิ่มขึ้นทุกซีซั่น ทำให้ธุรกิจการเดินเรือของเราอยู่ได้ และปัจจุบัน บริษัท สตูล ปากบารา สปีดโบ๊ท คลับ ธุรกิจเดินเรือเติบโต จากวันนั้น วันที่เราเช่าเรือมาให้บริการ  ในปัจจุบันเรามีเรือให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นของบริษัทจำนวน 12 ลำ

             สำหรับเส้นทางการเดินเรือของ บริษัท สตูล ปากบารา สปีดโบ๊ท คลับ ในฝั่งอันดามัน เราเริ่มออกจากภูเก็ต แวะรับผู้โดยสารที่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เราออกจากจังหวัดกระบี่ ก่อนจะมาขนถ่ายผู้โดยสารที่เกาะลันตา หลังจากเปลี่ยนเรือ ที่เกาะลันตา วิ่งมาที่ เกาะไหง เกาะมุก ซึ่งต่อมาเราขยายเส้นทางไปเกาะกระดาน จังหวัดตรังด้วย ก่อนจะแวะ เกาะบุโหลน มาสิ้นสุดที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล


             จากเกาะหลีเป๊ะ เรามาต่อเรือเฟอร์รี่ เพื่อมุ่งหน้าสู่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียต่อไป โดยใช้ระยะเวลาในการเดินทางชั่วโมงเศษๆ  ซึ่งเป็นปลายทางการเดินเรือฝั่งอันดามัน

              อย่างไรก็ตามในทุกช่องทางการเดินเรือ เราจะเริ่มต้นจากปากบารา มุ่งหน้าสู่เกาะหลีเป๊ะ ก่อนจะเชื่อมต่อไปยังเกาะต่างๆ ในอันดามัน และจุดสำคัญ.. ที่นี่เป็นที่ตั้งของออฟฟิสตรวจหนังสือเดินทาง ของ ตม.  

            สามารถ ย้อนถึงที่มา การเปิดจุดตรวจหนังสือเดินทางที่เกาะหลีเป๊ะ ว่า ปกติการเดินทางเข้าออกสตูลกับลังกาวี จะต้องไปทำการจ๊อบพาสปอร์ตที่ท่าเรือตำมะลัง ซึ่งอยู่ในตัวเมือง  ต่อมา บริษัท สตูล ปาบารา สปีดโบ้ท คลับ ในฐานะผู้ให้บริการเดินเรือข้ามแดนเกาะหลีเป๊ะ –ลังกาวี จึงได้ทำหนังสือถึง ผู้กำกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสตูล ในสมัย “ พ.ต.อ. มนตรี โกสิยะสถิต” อยู่  ซึ่งท่านบอกว่า พื้นที่เราอยู่ใกล้กัน นักท่องเที่ยวของเราไปเที่ยวมาเลเซียจำนวนมาก จึงคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อที่ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้านเราบ้าง

             จึงนำมาสู่การขอตรวจนอกเขตท่า บนเกาะหลีเป๊ะ จากนั้นอดีตผู้กำกับฯ ก็สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง มาประจำที่นี่  เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว โดยเรายินยอมที่จะทำตามกฎระเบียบของทางราชการทุกประการ และต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2556 รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในหนังสือให้เกาะหลีเป๊ะ เป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง (จุดผ่อนปรน) ทำให้เกาะหลีเป๊ะ เริ่มมีการพัฒนาจนถึงปัจจุบัน   

              “ จากแนวคิดการขอตรวจนอกเขตท่าในสมัยนั้น ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเกาะหลีเป๊ะมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังทำให้เศรษฐกิจจังหวัดสตูลขยายตัว เพราะหากยังใช้ท่าเรือเดิมหรือที่ท่าเรือตำมะลัง การเดินทางจากลังกาวี ถึงท่าเรือตำมะลังประมาณ 1.10 ชั่วโมง จากนั้นต้องดำเนินการผ่านพิธีการต้องใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ก่อนจะนั่งเรือจากตำมะลังเข้ามาเกาะหลีเป๊ะ ใช้เวลาประมาณ 2.30 นาที ซึ่งจะทำให้เสียเวลาเพราะมันอ้อม จุดนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาที่นี่ในตอนเช้า ตกเย็นก็สามารถเดินทางกลับได้เลย ”

               สำหรับเกาะหลีเป๊ะ ในอดีตไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวในระดับเกรด  A หรือเกรด B ได้ เพราะศักยภาพของห้องพักของเราไม่เพียงพอ ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาแล้วกลับ แต่ปัจจุบันมีนักธุรกิจเข้ามาลงทุนที่พัก และรีสอร์ท จำนวนมาก เริ่มมีห้องพักที่ดีขึ้นสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้หลากหลาย ปัจจุบันบนเกาะหลีเป๊ะ มีห้องพักตั้งแต่ขนาดเล็ก เกสเฮ้าส์ และรีสอร์ท ขนาดใหญ่ ประมาณ 3,000 - 3,200 ห้อง

                สามารถ กล่าวถึงการขยายตัวธุรกิจของ สตูลปากบารา สปีดโบ๊ท คลับ ว่า ณ  ปีนี้เรากำลังย่างก้าวสู่ปีที่16 ธุรกิจหลักเรายังเป็นผู้ให้บริการเส้นทางการเดินเรือ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ให้บริการบริษัททัวร์ และกำลังขยายตัวรองรับการเติบโตของตลาด ด้วยธุรกิจทัวร์ภายในและต่างประเทศด้วย

              นอกจากนี้ เรายังมี รีสอร์ท ชื่อ “บุหงารีสอร์ท ” บนพื้นที่ 7 ไร่บนเกาะหลีเป๊ะ  ซึ่งเป็นที่ตั้งของจุดตรวจหนังสือเดินทาง บนเกาะหลีเป๊ะ เปิดให้บริการมาเป็นปีที่ 6 สำหรับรีสอร์ทฯ เราเน้นการบริการนักท่องเที่ยวมากกว่า เราไม่ได้เน้นการลงทุนขนาดใหญ่ เราเน้นการรองรับ ใน เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา เราก็สามารถรองรับได้

              อย่างไรก็ตามธุรกิจหลักยังคงเน้นไปที่การเปิดเส้นทางเดินเรือ โดยทุกปีเราตั้งเป้าว่าจะจะต้องลงทุนเรืออย่างน้อยปีละ 1-2 ลำ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว จนถึงปัจจุบันเราได้ต่อเรือเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะจำนวนของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 25% ทุกปี เป็นการตั้งเป้าของธุรกิจ  โดยมูลค่าของธุรกิจที่ผ่านมา 15 ปี มีประมาณ 500-600 ล้านบาท

               สำหรับผู้มีบทบาทสำคัญ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ในการทำให้บริษัทสตูลปากบารา สปีดโบ๊ท ประสบความสำเร็จ และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนถึงทุกวันนี้ คือ พาร์ทเนอร์ชาวมาเลเซีย “ดาโต๊ะ อัสฮา บิน มันโซร์

             “ ระบบการทำงานของพวกเรา เราเป็นเสมือนพี่น้องกัน จนทำให้เรามีความเชื่อมต่อกันจากท่านดาโต๊ะ แนะนำให้รู้จัก ตวนกู,  ตันสรี หรือ ได้รู้จักกับนักธุรกิจของชาวมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น ล้วนแต่เกิดจากพาร์ทเนอร์ ที่ชื่อ  “ ดาโต๊ะ อัสฮา บิน มันโซร์ ”

              ดาโต๊ะ อัสฮา บิน มันโซร์ เป็นชาวมาเลเซียคนแรกที่แล่นเรือใบรอบโลก ใช้ระยะเวลาถึง190 ในทะเลตามลำพัง จนได้รับการบันทึกลงในกินเนสบุ๊ค ปัจจุบัน เขาเป็นผู้บริหารท่าเรือ ตาลากา ฮาร์เบอร์  มารี่น่า (Telaga Harbour Sdn, Bhd) ซึ่งเป็นที่ท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของลังกาวี ใกล้กับสนามบินลังกาวี ซึ่งเรือโดยสารเกาะหลีเป๊ะ – ลังกาวี ของเรา ก็จอดที่นี่เช่นกัน

               ปัจจุบันเราเป็นบริษัทจดทะเบียนในมาเลเซีย ปีนี้เป็นปีที่ 5 ชื่อ  Satul Pakbara Speed Boat (Langkawi) SDN BHD

                สามารถ กล่าวถึงความสำเร็จทางธุรกิจว่า ย้อนหลังไป 15 -16 ปี ที่ผ่านมา จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เรามีความภาคภูมิใจในหลายเรื่องที่เกิดขึ้น โดยที่เราคิดไม่ถึง ความเติบโตของธุรกิจของเราในบางครั้ง เราก็ไม่ได้มองว่า ธุรกิจของเราจะเติบโตสักแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เราคิดในการทำธุรกิจ ว่า “เราจะทำอย่างไรในการพาลูกน้องที่อยู่ช่วยดูแลบริษัท ประมาณ 68 ชีวิต และจะต้องทำอย่างไรที่จะดูแลเขาให้ได้ทุกคน”

             “ จากวันนั้น วันที่เราเริ่มต้นจากศูนย์  ณ วันนี้ผ่านมา 15 ปี เราสบายกว่าเก่าเยอะ  เราสามารถที่จะช่วยเหลือ หรือดูแลใครต่อใครได้มากขึ้น เช่น การช่วยเหลือดูแลชุมชน คนในจังหวัด รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว  การโปรโมทจังหวัด แม้ว่าบางครั้งเราจะใช้เงินส่วนตัว แต่เงินที่หลั่งไหลเข้าประเทศไทย ไม่ได้เข้ามาบริษัทของเราคนเดียว นี่คือ ความภาคภูมิใจ ที่เราได้มายืนอยู่ตรงนี้ “

           

 +++++++++++

ล้อม///

SATUN PAKBARA SPEED BOAT CLUB CO.,LTD.

Head office Pakbara Pier

1275 M2 Paknum Langu,Satul Thailand  

Tel (+66) 074-783 643-4 ,(+66) 074-783 645 Mobile (+66) 082-222-1016, (+66) 085-670-2282

E-mail : spcthailand@gmail.com , www.tarutaolipeisland.com

  Phuket Branch :  Rassada Pier, Phuket Thailand

Tel (+66) 075-668-377, (+66) 083-653-3367

 Koh Lanta Branch : Koh Lanta Yai , Krabi

Tel (+66) 075-668-377 Mobile (+66) 083-653-3367

 Koh Lipe Branch : Bunga Resort Pattaya beach, Koh Lipe, Satun Thailand

 Tel(+66) 074-750-486 , (+66) 082-433-0114

Koh Phi Phi Branch :  Bunga Resort, Pattaya Beach, Koh Lipe, Satun, Thailand

Tel (+66) 075 - 668377 (+66) 082-433-0114 , (+66) 083-653-3367

 Langkawi Branch : Satul Pakbara speedboat (Langkawi) SDN BHD.

No.2 Kampung Bohor Darat Mukim Kedawang,07000

Langkawi, Kedah Darul Aman  (+6) 04-9551363  Mobile : (+6) 010-5422148, (+6) 019-551 5352 

E-mail : langkawi2lipe@gmail.com,

           : www.langkawi2lipe.com

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิอะลามี่ ฉบับพฤษภาคม 2560