Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   แฉเส้นทางเครื่องราชย์มาเลเซีย (Part 2 ) ตอน: ราชวงค์ที่ไร้บัลลังค์

แฉเส้นทางเครื่องราชย์มาเลเซีย

“ดาโต๊ะ”ปลอม หรือ ของจริง (ตอน 2)

ตอน:  ราชวงค์ที่ไร้บัลลังค์ในมาเลเซีย 

โดย นิกรากิ๊บ นิก ฮัสซัน

          สำนักข่าวอะลามี่  ในระบบโครงสร้างการปกครองในอดีต บรรดาขุนนางมลายูชั้นผู้ใหญ่มักมีคำว่า “ดาโต๊ะ” นำหน้า 

          คำว่า ”ดาโต๊ะ” จึงมีความหมายและความขลังค์ในสังคมมลายูจนถึงปัจจุบัน  


           แม้ว่าการมอบเครื่องราชย์และมอบยศ ที่ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลมาเลเซีย จะเป็นสิ่งต้องห้าม และ ถือว่าผิดกฎหมาย แต่การมอบเครื่องราชย์และยศ ของเจ้าสำนัก หรือผู้ที่ตั้งตัวเป็นอดีตเชื้อสายราชวงศ์ในมาเลเซีย ยังมีต่อเนื่อง

           เมื่อเดือนมกราคม ปีที่ผ่านมา (2015) ในรัฐเปรัค มีข่าวดังบนหน้าหนังสือพิมพ์มาเลเซีย ว่า เมื่อลูกหลานของผู้ปกครองของเขตกินตา (Kinta)ในอดีต ได้รวมตัวกัน โดยมีผู้อาวุโสคนหนึ่งในกลุ่มลูกหลานเหล่านี้ ตั้งตัวเป็นมหาราชาแห่งกินตา (Maharaja Kinta) โดยใช้ชื่อยศว่า  Yang Mulia Dato’ Seri Paduka Raja

            สำหรับความเป็นมาของผู้ปกครองของเขตกินตา (Kinta) ในอดีตนั้น ได้รับแต่งตั้งจากสุลต่านแห่งรัฐเปรัค ให้เป็นผู้ปกครอง หรือ ขุนนาง ปกครองดูแลเขตกินตา ของรัฐเปรัค แต่ที่อาจแปลกกว่าขุนนางผู้ปกครองเขตอื่นๆ ที่ปกครองดูแลแห่งเขตกินตานั้น มีการระบุว่าลูกหลานสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์แห่งรัฐฆังฆานาคารา (Gangga Negara) รัฐโบราณ นี้ มีที่ตั้งอยู่ในรัฐเปรัค ปัจจุบัน 

           เมื่อผู้อาวุโสได้ตั้งตนเป็นมหาราชาแห่งกินตา (Maharaja Kinta) เขาก็ได้มอบเครื่องราชย์ตำแหน่งต่างๆของชาวมลายู จนข่าวคราวโด่งดังไปทั่ว สุดท้ายทางรัฐเปรัค ก็ดำเนินแจ้งความ โดยทางการสืบสวนทราบว่า ผู้รับเครื่องราชย์ต้องจ่ายคนละ 4 หมื่นริงกิต เพื่อรับยศ “ดาโต๊ะ” และ “ดาโต๊ะสรี”

           โดยก่อนหน้านี้ ตำรวจมาเลเซีย ได้ทำการสืบสวน สมาคมลูกหลานชารีฟอาบูบาการ์ชาห์ หรือ Persatuan Keluarga Sharif Abu Bakar Syah  ซึ่งเป็นกลุ่มชาวมลายู บริเวณรัฐปีนัง รัฐเคดะห์  คนกลุ่มนี้มีความเชื่อที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์

           โดยคนกลุ่มนี้กล่าวว่า พวกเขาเป็นลูกหลานของ “ชารีฟอาบูบาการ์ชาห์ “

            แล้ว ชารีฟ อาบูบาการ์ชาห์ คือใคร ... พวกเขาเชื่อว่า ชารีฟอาบูบาการ์ชาห์ เป็นสุลต่านอิสลาม คนที่ 33 ที่ปกครองกรุงอยุธยา  พวกเขาเชื่อว่าความจริงแล้ว อาณาจักรอยุธยานั้น เดิมเป็นอาณาจักรมุสลิม และปกครองโดยสุลต่านมุสลิม และบรรพบุรุษของพวกเขาที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านอิสลามคนที่ 33 ที่ปกครองกรุงอยุธยา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสุลต่านปกครองรัฐเคดะห์ ที่ถูกต้อง ก่อนที่รัฐเคดะห์ จะถูกปกครองโดยราชวงศ์ปัจจุบัน

            กลุ่มคนมลายูในประเทศมาเลเซียเหล่านี้ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐเคดะห์

            อดีตนายกสมาคมเชื้อราชวงศ์แห่งรัฐเคดะห์ (Persatuan Kerabat Diraja Kedah) เปิดเผยว่า มีอาจารย์สถาบันอุดมศึกษา ในรัฐปีนัง ดำเนินการขายยศ “ดาโต๊ะ” “ดาโต๊ะสรี” ของรัฐเคดะห์ ในนามของสมาคมลูกหลานชารีฟอาบูบาการ์ชาห์

            นอกจากนี้ ยังพบว่า  นายนูร์ยัน ตูวะห์ อายุ 60 ปี ชาวรัฐเปรัค ได้ประกาศแต่งตั้งตนเองเป็นสุลต่านแห่งรัฐมะละกา  ทั้งๆที่รัฐมะละกา ไม่มีระบบสุลต่านมานับเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว  โดย นายนูร์ยัน ตูวะห์ ได้แสดงหลักฐานต่างๆว่า ตนเองนั้นสืบเชื้อสายมาจากสุลต่านรัฐมะละกา และเรียกร้องให้รัฐมะละกา ยอมรับตัวเขาเป็นสุลต่านแห่งรัฐมะละกา 

            โดยเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2005 เขาได้ประกาศตั้งตัวเองเป็นสุลต่านแห่งรัฐมะละกา และหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน เขาก็ทำกิจกรรมมาตลอด โดยมีการมอบยศ “ดาโต๊ะ-ดาโต๊ะปาดูกาและ ดาโต๊ะสรี”  จนถูกตำรวจมาเลเซีย จับกุมมาทำการสอบสวน 

            ในรัฐมะละกาเช่นกัน ไล่เลี่ยงจากกรณีของนายนูร์ยัน ตูวะห์ ได้มีผู้หญิงชาวอินโดเนเซีย ชื่อว่า นางนูร์ไลลี โดยใช้ชื่อว่า Bonda Ratu  หรือ ชื่อเต็มว่า  Bonda Ratu Kuasa Alam Tan Sri Sharifah Norlaini Kesemua Dinegeret อ้างว่าตัวเองเป็นเชื้อสายของรัฐเกอรินจี บนเกาะสุมาตรา และอ้างว่าสามีชาวมะละกาของเธอต่างหากเป็นผู้มีสิทธิ์ที่จะเป็นสุลต่านมะละกา และผู้หญิงท่านนี้ ก็ทำพิธีมอบยศ “ดาโต๊ะ” “ดาโต๊ะสรี”  จนถูกแจ้งความให้ตำรวจรัฐมะละกาสอบสวน ในเวลาต่อมา

           อย่างไรก็ตาม ในรัฐมะละกา พื้นที่ส่วนหนึ่งยังมีการยึดถือจารีตประเพณี ที่เรียกว่า อาดัตเปอร์ปาเตะห์ (Adat Perpateh) ประเพณีที่ยึดถือทางสายมารดาเป็นใหญ่ ((Matrilineal) โดยเฉพาะพื้นที่ที่เรียกว่า เขตจารีตประเพณีนานิง ทั้งนี้เดิม นานิง เป็นหนึ่งในเก้ารัฐที่รวมตัวกันจัดตั้งรัฐนัครีซัมบีลัน ต่อมา นานิง ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐมะละกา ใน นานิง จะมีสถาบันที่เรียกว่า สถาบันจารีตประเพณีนานิง ( Lembaga Adat Naning) มีผู้นำเรียกว่า Undang Luak Naning

            สำหรับตำแหน่งนี้ในส่วนของรัฐนัครีซัมบีลัน จะมีสถานะเท่ากับเป็นกษัตริย์ท้องถิ่น มีอำนาจในการกำหนดว่าผู้ใดจะได้เป็นประมุขของรัฐนัครีซัมบีลัน  เดิมนั้นรัฐธรรมนูญรัฐมะละกา กำหนดให้ตำแหน่ง Undang Luak Naning เป็นตำแหน่งสำคัญอันดับ 3 ของรัฐมะละกา รองจากประมุขรัฐ และ มุขมนตรีของรัฐมะละกา

           ต่อมาอำนาจของ Undang Luak Naning ถูกลดลงจนแทบจะไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย

           ปัจจุบันใน “นานิง” นั้นเกิดความขัดแย้งในสถาบันจารีตประเพณีนานิง (Lembaga Adat Naning) เมื่อ นายอับดุลลาตีฟ ฮาชิม ผู้เป็น Undang Luak Naning คนที่ 19 ได้ถูกปลดออกจากตำแหน่งในปี 2011 จนสถาบันจารีตประเพณีนานิง (Lembaga Adat Naning) แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย

           สำหรับประเพณีการมอบยศ “ดาโต๊ะและ ดาโต๊ะสรี ของสถาบันจารีตประเพณีนานิง (Lembaga Adat Naning) นั้น มีมาตั้งแต่ปี 1831 แต่จะอยู่เพียงในบรรดาหมู่คนของผู้ยึดถือจารีตประเพณีอาดัตเปอร์ปาเตะห์ (Adat Perpateh)

           อย่างไรก็ตามเมื่อกลางปีที่ผ่านมา นายอับดุลลาตีฟ ฮาชิม ผู้ไม่ยอมรับการถูกปลด ก็ดำเนินการมอบยศ “ดาโต๊ะ และ ดาโต๊ะสรี ”  แก่บุคคลภายนอก รวมทั้งคนจีนด้วย จนรัฐมะละกา ต้องประกาศว่ายศ “ดาโต๊ะและดาโต๊ะสรี”  จะไม่ได้รับการยอมรับ 

           กระนั้นยังถือได้ว่า สถาบันจารีตประเพณีนานิง (Lembaga Adat Naning) เป็นสถาบันเดียวที่มีสืบสานมาอย่างยาวนานกว่าร้อยปี

หมายเหตุ ภาพ 1 :  ภาพหนังสือพิมพ์เก่าที่เขียนถึงคนที่มียศ ดาโต๊ะ ปลอม
 
              ภาพ 2 :  ภาพจาก UTUSAN