Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   เปิดยุทธศาสตร์สถาบันฮาลาล มอ.แก้ความจนคนชายแดนใต้

เปิด 5 ยุทธศาสตร์

สถาบันฮาลาล มอ.

แก้ความจนคนชายแดนใต้

++++++++++++++++++

            สำนักข่าวอะลามี่ :  สถาบันมาตรฐานฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากจะสร้างผู้ประกอบการ SMEแล้ว ยังเป็นหน่วยงานที่สร้างองค์ความรู้เรื่องฮาลาล ช่วยยกระดับฮาลาลไทย สู่การยอมรับในนานาชาติอีกทางหนึ่งด้วย


            ดร.ธวัช นุ้ยผอม ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงบทบาทของสถาบันฮาลาลฯ ว่า นับตั้งแต่ปี 52 ซึ่งขณะนั้นยังไม่จัดตั้งเป็นสถาบันฮาลาลโดยตรง ก่อนจะมาจัดตั้งเมื่อปี 55 ถึงจะเป็นรูปแบบที่ชัดเจน ก่อนหน้านี้เป็นองค์กรเล็กๆที่อยู่ภายใต้ สภาวิจัยและพัฒนา หรือ RDO
 
           “ ช่วงแรกๆจะพัฒนาเฉพาะในเรื่องของอาหารฮาลาล การทำงานในลักษณะของการระดมความคิดเห็นที่มีความเกี่ยวข้อง อาทิเช่น คณะทรัพยากรธรรมชาติฯ ซึ่งเป็นเรื่องต้นน้ำของฮาลาล เช่น การเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืช เป็นวัตถุดิบของสถาบันฮาลาล ส่วนคณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะเภสัชฯ จะเป็นกลางน้ำ  ส่วนปลายน้ำ คณะวิทยาการจัดการ จะเป็นเรื่องการตลาด โดยมี วิทยาลัยอิสลามศึกษา เป็นแกนสำคัญในการดูเรื่องที่เกี่ยวกับ ชารีอะห์  เรื่องของหลักการที่สอดคล้องกับหลักการของอิสลาม “ 

            ต่อมาเราได้จัดรวมองค์ความรู้จากคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับฮาลาล ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาจัดตั้ง “สถาบันฮาลาล “ ซึ่งจะเป็นสถาบันในการจัดการ รวบรวมแหล่งนักวิชาการ ทำหน้าที่ประสานกับคณะต่างๆของมหาวิทยาลัย และเรื่อง SME รวมถึงผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์ คอยดูแลในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเรื่องการตรวจสอบฮาลาล โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม

            “ ในช่วงแรกเราอาจจะเน้นเรื่องอาหาร แต่หลังจากนั้นเราก็ได้พัฒนาในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารและการบริการ ล่าสุดเราได้เพิ่มในส่วนของ โลจิสติกส์ เรามองว่า อาหารฮาลาลที่เราผลิตเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้ากระบวนการในขนส่งมีการปนเปื้อน อาหารที่ฮาลาลแล้ว ก็จะกลายเป็นไม่ฮาลาลด้วย นั่นคือที่มาของการให้ความสำคัญ “ โลจิสติกส์ฮาลาล”

            สำหรับยุทธศาสตร์ 2560 ของสถาบันฮาลาล  ดร.ธวัช กล่าวว่า จะมีการพัฒนาที่เป็นแนวเชิงบูรณาการมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในอดีต เราเน้นการจัดอบรม ทั้งผู้ประกอบการ SME  คณะกรรมการอิสลามที่เกี่ยวข้องกับฮาลาล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระบบแนวราบ โดยยุทธศาสตร์ใหม่ 5 ข้อ จะลงในแนวลึกมากขึ้น ประกอบด้วย

           1. การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเรื่องของการเงินฮาลาล และจะผลักดันให้ ผู้ประกอบการที่เป็นฮาลาล สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และแหล่งสินเชื่อ สถาบันการเงินฮาลาล ที่มีอยู่ในประเทศ

          “ นอกจากนี้ ยังมองถึง สถาบันวากัฟ สถาบันซากาต ซึ่งจะเป็นสถาบันที่อาจจะให้ความช่วยเหลือในด้านสวัสดิการของสังคม ผู้ประกอบการที่อาจจะมีฐานะยากจน แต่มีไอเดีย ดีๆ สถาบันเหล่านี้ จะเป็นแหล่งสนับสนุนทั้งการเงินและการฝึกอบรม ซึ่งศูนย์บ่มเพาะนี้จะปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาใช้ประโยชน์”

           2. จะผลักดันต่อยอดของศูนย์บ่มเพาะแพะ และโค  ซึ่งจะเป็นการต่อยอดงานเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถส่งออกสู่ตลาด โดยจะมีการอบรมมาร์เก็ตติ้ง ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการผลิตไส้กรอกแพะ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการอีกทางหนึ่งด้วยผลิต

            3. สถาบันจะต้องสร้างการความยอมรับความเป็นฮาลาลของประเทศไทย ด้วยประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศมุสลิม จะทำอย่างไรให้ ตราฮาลาล เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก เทียบเท่ากับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย หรือประเทศอื่นๆ

            “ เร็วนี้เราจะมีการทำ MOU และมีการทำกิจกรรมร่วมกันกับองค์กรระดับโลก ซึ่งไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ เพื่อให้เราเป็นที่ยอมรับในระดับโลกให้ได้ ซึ่งเป็นโครงการนี้จะเกิดขึ้นในปี 2560 นี้”

            4 .ผลักดันต่อยอดผู้ประกอบการฮาลาลโดยเฉพาะใน 5 จังหวัดภาคใต้ ให้เกิดการเชื่อมโยง โดยจะผลักดันให้เป็นฮาลาล เวลแน็ก สุขภาพฮาลาล ฮาลาลทัวริซึม หรือ ฮาลาลไฟแนนซ์ การเงินฮาลาล และ ฮาลาลโลจิสติกส์ ให้เกิดความเชื่อมโยงกันทั้งหมด

            5 การจัดสัมมนาฮาลาลระดับโลก หรือ ระดับนานาชาติ และ จัดทำวารสารทางวิชาการฮาลาลเพื่อเป็นข้อมูลสามารถอ้างอิงได้ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นฮาลาลของประเทศไทยสู่นานาชาติ

          “ ยุทธศาสตร์ที่กล่าวมา 3 ประการแรก เป็นสิ่งที่ทำมาแล้ว แต่เราจะต่อยอดให้เป็นเชิงบูรณาการมากยิ่งขึ้น ทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ ส่วนอีก 2 ประการ ยกระดับสู่ความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล ให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทั้งนี้ ฮาลาล เป็นแนวยุทธศาสตร์ใหม่ที่เราต้องผลักดันให้เกิดความสำเร็จในช่วงเวลา 2 ปีที่จะถึงนี้ “

           ดร.ธวัช กล่าวถึงความคาดหวังว่าว่าใน 5-10 ปีข้างหน้า สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะเป็นสถาบันให้บริการแบบ ONE STOP SERVISE ที่รวบรวมความรู้ และการปฏิบัติเกี่ยวกับฮาลาล ให้เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ

          “  ใน 5 ปีที่ผ่านมาการทำงานเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเรามีเป้าหมายหลักคือ เราจะเป็นองค์กรหนึ่ง ที่จะพัฒนาในเรื่องของการเพิ่มรายได้และส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของมุสลิมและที่ไม่ใช่มุสลิมด้วย และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความยากจนของ 3 จังหวัด ที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง นี่คือจุดยืนสำคัญที่สถาบันฮาลาลฯ อยากจะไปยืน “