Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ในหลวงกับมุสลิมไทย
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับชาวไทยมุสลิมในมิติสำคัญ


             สำนักข่าวอะลามี่:  เมื่อกล่าวถึงมุสลิมในแผ่นดินไทย มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มักจะนึกถึงพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมลายู ที่นับถือศาสนาอิสลามใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามสูงกว่าประชากรที่นับถือศาสนาอื่น ๆ


           
            อย่างไรก็ดี โดยข้อเท็จจริงแล้ว ชาวไทยนับถือศาสนาอิสลามนั้นมีอยู่เกือบ ๔ ล้านคน โดยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในบางจังหวัด เช่น พัทลุง กระบี่ พังงา เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือแม้แต่กรุงเทพมหานคร หากจะสำรวจข้อมูลกันจริง ๆ แล้ว พบว่ามีผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งชาวมุสลิมเชื้อสายจีน เชื้อสายเขมร เชื้อสายปาทาน เชื้อสายอาหรับ และอื่น ๆ ซึ่งอยู่ร่วมกับพี่น้องชาวไทยต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมอย่างปรองดอง สมานฉันท์ และสันติสุข โดยมี “จุดร่วม” คือการเป็น “พลเมืองไทย” เช่นเดียวกัน และเท่าเทียมกัน

             ศาสนาอิสลามได้เผยแผ่มาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย โดยชาวไทยมุสลิมที่มากับชาวเรือสินค้าจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศมุสลิม คืออิหร่านหรือเปอร์เซีย และยังได้มีการส่งคณะราชทูตไปอีกหลายครั้ง ชาวมุสลิมจากตะวันออกกลางจึงได้เดินทางมาค้าขายและตั้งบ้านเรือนผสมผสานกับพี่น้องชาวไทยทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
             ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ชาวมุสลิมหลายท่านมีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินมาโดยตลอดทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาอธิปไตยของชาติ ชาวมุสลิมได้ร่วมต่อสู้ป้องกันพระนครให้รอดพ้นจากการรุกรานจากข้าศึกศัตรู และได้ร่วมสละเลือดเนื้อเพื่อประเทศชาติด้วยจิตใจที่รักและห่วงแหนชาติบ้านเมืองอย่างบริสุทธิ์และจริงใจกล่าวได้ว่าผู้นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทยพร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อรักษาชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อยู่เสมอ

              บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็น “องค์อัครศาสนูปถัมภ์”



             โดยนัยยะแห่งบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันไพศาลของพระมหากษัตริย์ไทยทุกรัชสมัยที่ทรงมีต่อผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ กัน แสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนที่มีน้ำใจกว้างขวาง จึงเขียนรัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนวยคุณประโยชน์แก่ศาสนาและผู้ที่นับถือศาสนาต่าง ๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดต่างก็มีความรู้สึกเป็นคนไทยที่อยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีใครรู้สึกแตกต่าง รู้สึกผิดแผก รู้สึกว่าเป็นผู้อาศัยแผ่นดินหรือเป็นพสกนิกรชั้นสอง และ ทุกคนไม่รู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ซึ่งกันและกัน
         
              การนับถือศาสนาต่างกัน ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นไทยลดน้อยลงหรือบกพร่องลง และยังไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ว่า คนไทยจะขัดแย้งทางศาสนาถึงขั้นรุนแรง นอกจากความไม่เข้าใจกัน บ้างก็เพียงเล็กน้อย สิ่งสำคัญที่จะกล่าวไว้ในเบื้องต้น ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยศาสนาอิสลาม และเข้าพระหทัยศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง

              รูปแบบแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของพี่น้องชาวมุสลิม แตกต่างกับพี่น้องคนไทยที่นับถือศาสนาอื่นอยู่บ้าง เพราะศาสนาอิสลามได้บัญญัติอย่างชัดเจน ซึ่งมุสลิมจะปฏิบัติผิดไปจากนั้นไม่ได้ พระองค์ก็ทรงทราบข้อความนั้นเป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อพสกนิกรมุสลิมเข้าเฝ้าฯก็พระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ปฏิบัติตนตามบัญญัติของศาสนาอิสลาม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้สำหรับพสกนิกรมุสลิม พระราชจริยวัตรเรื่องนี้ คงจะได้ถ่ายทอดมายังสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์



           

             
-  เสด็จฯ แปรพระราชทานไปประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์เป็นประจำทุกปี
              -  เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรมุสลิมในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล ให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด และทรงถามถึงทุกข์ สุข ของราษฎร
              - พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร

             -  พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนในการประกอบอาชีพ
             -  บางรายที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงอันสุดวิสัยที่จะช่วยตนเองได้ จะทรงรับคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์
             -  ทรงรับเด็กกำพร้าอนาถาชาวมุสลิมเข้ามาอยู่ภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งเด็กเหล่านี้ได้รับการเลี้ยงดู มีการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และไม่รู้สึกว่ามีปมด้อย

                 อีกทั้งยังเป็นที่มาของเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับ ลุงวาเด็งปูเต๊ะ “พระสหายแห่งสายบุรี” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ถึงความลึกซึ้งระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพสกนิกรของพระองค์ที่เป็นมุสลิมสามัญชนคนธรรมดา รวมทั้งเป็นจุดกำเนิดของตำนาน “ปลาร้องไห้ที่บ้านปาตาตีมอ” ซึ่งสะท้อนถึงพระเมตตาของพระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์นี้ที่มีต่อพสกนิกรผู้ยากไร้ของพระองค์อย่างหาที่เปรียบมิได้
 
               
         
    เมื่อเหตุการณ์การเผาโรงเรียนกว่า ๓๐ แห่งพร้อมกันภายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อกลาง พ.ศ. ๒๕๓๖ หลายท่านคงนึกถึงภาพความประทับใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนผู้นำศาสนาและราษฎรของพระองค์ ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖
 
               ภายหลังเหตุการณ์ไม่สงบภายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ปะทุรุนแรงขึ้นใน พ.ศ.๒๕๔๗ หลายท่านคงนึกถึงแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้รับน้อมนำมาเป็นยุทธศาสตร์หลักของราชการในการเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่ดังกล่าวจนถึงทุกวันนี้
 
 

 
ผู้เขีบน :  ตรีวิทย์ วินิชสำเภาทิพย์
              ขอขอบคุณ หนังสือสถาบันพระมหากษัตริย์กับมุสลิมในแผ่นดินไทย
               ที่มา http://www.io-pr.org/index.php?name=blog&file=readblog&id=199