Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   อิสลามศึกษา ม.รังสิต : เติมเต็มสังคมแห่งการเรียนรู้

อิสลามศึกษา ม.รังสิต : เติมเต็มสังคมแห่งการเรียนรู้

โดย เอกราช มูเก็ม
      บรรณาธิการบริหาร


                           ".. เรามิได้มุ่งเน้นให้คนที่จบศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับไปเป็นผู้นำพิธีกรรมทางศาสนา แต่ให้นำองค์ความรู้ของอิสลามไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือการเป็นผู้บริหารองค์กรมุสลิม ทั้งด้านส่วนตัว ครอบครัว สังคมส่วนรวม และการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมแห่งพหุวัฒนธรรม นั่นคือเป้าหมายสูงสุด…"   ผศ.ดร.วิศรุต เลาะวิถี


            lสำนักข่าวอะลามี่ : หากจะกล่าวถึงอิสลามศึกษา หลายคนอาจมองในบางมิติ แต่อิสลามศึกษาในมหาวิทยาลัยรังสิต ที่นี่คือ สถาบันและแหล่งความรู้ ที่จะช่วยเติมเต็มสังคมให้สมบูรณ์ จนนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสามารถตอบโจทย์ทางสังคมได้อย่างลงตัว

            ผศ.ดร.ปิยสุดา ม้าไว คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิตว่า ตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยรังสิต จะเน้นในเรื่องของคุณภาพนักศึกษา เมื่อนักศึกษาเรียนจบไปแล้วสามารถสร้างประโยชน์และตอบแทนสังคมได้

            “ มหาวิทยาลัยรังสิตทำให้เราเกิดศรัทธาในองค์กร รวมถึงท่านอธิการบดี ดร.อาทิตย์อุไรรัตน์ ที่มีแนวคิดแบบนี้ นักศึกษาที่เรียนจบแล้ว สามารถตอบแทนสังคมได้มากน้อยเพียงใด นั่นต่างหากที่เราเรียกว่า คุ้มทุนในมิติของทางการศึกษา ”

            ในส่วนของคณะศิลปศาสตร์ เราเปิดมาพร้อมกับมหาวิทยาลัย ในช่วงเริ่มต้น มีเพียงวิชาพื้นฐาน ต่อมามีวิชาเอกการท่องเที่ยวและการบริการ ก่อนจะแยกคณะออกไปเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม  สาขาธุรกิจการบิน และการประกอบอาหาร        ส่วนคณะศิลปศาสตร์ ก็กลับมาพัฒนาด้านภาษาอย่างจริงจัง เรามีภาควิชาภาษาที่หลากหลาย นอกเหนือจากภาษาไทย เช่น ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาฝรั่งเศส ต่อมาก็เปิดหลักสูตรอิสลามศึกษา เมื่อปีการศึกษา 2550 ซึ่งเป็นหลักสูตรล่าสุดของคณะเรา        

            “ การที่เราเปิดสาขาวิชาอิสลามศึกษา ในปี 2550 นั้น เป็นการตอบโจทย์ ทำให้เราเข้าใจสังคมอย่างจริงจัง และเป็นการเติมเต็มความสมบูรณ์ของคณะศิลปศาสตร์ เพราะการเรียนรู้เราต้องเรียนรู้ทุกด้าน ชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งความคิด ศาสนา-ความเชื่อ และวัฒนธรรม”       ผศ.ดร.ปิยสุดากล่าว

             “ ที่ผ่านมา ได้ย้ำกับนักศึกษาอยู่เสมอว่า การเรียนภาษาเป็นแค่ใบผ่านทาง แต่การที่จะมีวีซ่าตลอดชีวิตนั้น คือการเรียนรู้และการยอมรับการอยู่ร่วมกันในสังคม (การให้เกียรติซึ่งกันและกัน) เมื่อเรายอมรับเขา เขาก็ยอมรับเรา”

            จากจุดเริ่มต้นภาควิชาอิสลามศึกษา เมื่อปี 2550 ปัจจุบัน เราได้พัฒนาเป็น “ภาควิชาอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ” เพื่อเป็นการเพิ่มความสำคัญการเรียนรู้ภาษาอาหรับให้หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศในหลายมหาวิทยาลัย ทั้งภูมิภาคอาเซียนและตะวันออกกลาง

            ส่วนบทบาททางสังคมของมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น ที่ผ่านมาท่านอธิการบดี พยายามสร้างเสริมความเข้าใจอันดีให้กับสังคมมุสลิมในทุกๆ ด้าน และส่วนหนึ่งในการเกื้อกูลสังคม  เช่น ในอดีตเราทำกล้วยหิน ที่สั่งซื้อมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อมาเข้าโรงงาน    ไบโอเทค ทำเป็นกล้วยกรอบคริสปี้ นอกจากนี้ ยังจัดโครงการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ ทำนมแพะ และสิ่งอื่นๆ ในหลากหลายมิติ

            ทั้งนี้ สิ่งที่เราภูมิใจคือ เมื่อครั้งหนึ่งท่านอธิการบดี ได้มีคีย์โน้ตสั้นๆ ว่า.. “ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็มีบทบาทในสามจังหวัดภาคใต้หลายเรื่อง เรามีสถาบันวิทยาการอิสลามและภาษาอาหรับ เพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องมุสลิมมีกิจกรรมอย่างหลากหลาย เราให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษามุสลิมภาคใต้ เรามีงานมหกรรมอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับทุกปี มีกิจกรรมร่วมกับมูลนิธิ ไทย-ตุรกี ส่งเสริมการศึกษาวิจัยการแพทย์แผนตะวันออก โครงการลังกาสุกะโมเดลร่วมกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมสมุนไพรจากสามจังหวัดภาคใต้ ซื้อมาผลิตยา..”  ผศ.ดร.ปิยสุดา กล่าว.

อิสลามศึกษา ผลิตผู้นำมุสลิมสู่สังคม

             ผศ.ดร.วิศรุต เลาะวิถี ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาการอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงหลักสูตรอิสลามศึกษาว่า เมื่อจบแล้ว นักศึกษาจะได้รับวุฒิปริญญาตรีโดยใช้เวลาในการเรียน 4 ปี ซึ่งนักศึกษาจะต้องเรียนวิชาพื้นฐานอิสลาม พื้นฐานการศรัทธา อัลกุรอาน 1-2 อัลหะดิษ 1-2 กฎหมายครอบครัวอิสลาม


             นอกจากนี้ ยังเรียน วิชาเศรษฐศาสตร์อิสลาม ปรัชญาอิสลาม  วัฒนธรรมอิสลาม อิสลามกับการบริหารจัดการ อิสลามและมนุษยสัมพันธ์ จริยธรรมอิสลาม ประวัติศาสตร์อิสลาม  อิสลามกับพื้นฐานการวิจัย การสัมมนาในอิสลาม ศิลปะการพูดในอิสลาม การบริหารองค์กรอิสลามและศาสนาปริทัศน์ สำหรับวิชานี้  มีจุดหมายให้นักศึกษารู้และเข้าใจคำสอน ความเชื่อและพิธีกรรมของศาสนาสำคัญต่าง ๆ เพื่อเติมเต็มความรู้และเข้าใจในศาสนาและความเชื่อของเพื่อนทุกศาสนิกชน โดยถือเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีแห่งการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมด้วย

               ส่วนกลุ่มวิชาภาษาอาหรับ จะมีวิชาภาษาอาหรับ 1-3 ภาษาอาหรับเพื่อการสื่อสาร 1-2 ภาษาอาหรับธุรกิจเบื้องต้น ภาษาอาหรับสำนักงาน ภาษาอาหรับมัคคุเทศก์ ภาษาอาหรับคอมพิวเตอร์ การเขียนภาษาอาหรับธุรกิจ รวม 10 วิชา ซึ่งตลอดหลักสูตรมี 135 หน่วยกิต    จึงจะจบหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ

              “ เรามิได้มุ่งเน้นให้คนที่จบศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับไปเป็นผู้นำพิธีกรรมทางศาสนา แต่ให้นำองค์ความรู้ของอิสลามไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือการเป็นผู้บริหารองค์กรมุสลิม ทั้งด้านส่วนตัว ครอบครัว สังคมส่วนรวม และการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมแห่งพหุวัฒนธรรม นั่นคือเป้าหมายสูงสุด…ในอดีตเริ่มจากนักศึกษา 9 คน จนถึงขณะนี้เราผลิตบัณฑิตไปแล้ว 6 รุ่น ประมาณ 50 คน”

              ปัจจุบัน เราได้พัฒนาการศึกษาไปมาก เช่น ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยมาลายา (UM) มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ (IIUM) และมหาวิทยาลัยเกอบังซาอานมาเลเซีย (UKM) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติของมาเลเซีย ล่าสุดได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “การพัฒนาการสอนภาษาอาหรับในระดับอุดมศึกษา” ร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นเจ้าภาพ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และคาดหวังว่า เราจะเริ่มสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในประเทศบรูไนและอินโดนีเซีย เพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและครูอาจารย์ในโอกาสต่อไป

               นอกจากนี้ เมื่อปีการศึกษา 2558 เราได้เดินทางไปประเทศกาตาร์ เพื่อหารือด้านความร่วมมือทางวิชาการกับ มหาวิทยาลัยการ์ตา และมหาวิทยาลัยฮามัดคอลีฟะห์ด้วยซึ่งสถาบันการศึกษาดังกล่าว ก็ยินดีให้นักศึกษาของเราไปเรียนหลักสูตรภาษาอาหรับหนึ่งปีสำหรับคนต่างชาติด้วย

              ผศ.ดร.วิศรุต กล่าวอีกว่า เมื่อปี 2557 ท่านอธิการบดีได้ประกาศจัดตั้ง “สถาบันวิทยาการอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยรังสิต ขึ้น โดยจัดกรอบงานเกี่ยวกับหลักสูตรปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ เป็นภาควิชาหนึ่ง และจัดตั้งศูนย์ให้บริการทางวิชาการทางสังคม ให้บริการทั้งบุคคลทั้งภายในและภายนอก ภาคเอกชน หรือภาครัฐ โดยการจัดตั้งหน่วยงานเป็น 4 ศูนย์ ประกอบด้วย

             1. ศูนย์ศึกษากิจการฮาลาล เป็นศูนย์นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นในการให้ข้อมูล สำหรับสถานประกอบการหรือผู้ที่สนใจเรื่องฮาลาล การขออนุญาตรับรองและใช้เครื่องหมายฮาลาล ในพื้นที่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัย ตลอดจนการตรวจสอบผลิตภัณฑ์บางกรณี โดยใช้     ห้องแล็ปของมหาวิทยาลัยรังสิต

             2. ศูนย์ศึกษาวิทยาการอิสลาม (Islamic Sciences) โดยให้ความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงินการธนาคาร ศิลปะ สถาปัตยกรรม การแพทย์ ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในระบบหรือหลักการอิสลาม ซึ่งวิทยาการเหล่านี้มีอยู่ในคำสอนอิสลามทั้งสิ้น แต่ยังมีการนำมาเผยแพร่ต่อสังคมการศึกษาหรือการศึกษาเฉพาะทางไม่กว้างขวางเท่าใดนัก

           3. ศูนย์ศึกษาโลกมุสลิม เราจะให้ความรู้ในเรื่องประเทศในโลกมุสลิมที่มีอยู่ประมาณ 60-70 ประเทศ เพื่อให้สังคมวิชาการ หรือสังคมการศึกษาได้รับรู้ในเรื่องสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ตลอดจนองค์กรสำคัญ ๆ ในโลกมุสลิม  

          4. ศูนย์อาหรับศึกษาและวิเทศน์สัมพันธ์ จะเน้นในเรื่องของชนชาติอาหรับ ภาษาอาหรับและวัฒนธรรมอาหรับ มีแนวความคิดที่จะจัดให้มีการสอนด้านภาษาอาหรับ ในหลักสูตรระยะสั้นแก่บุคลากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้ภาษาอาหรับและวัฒนธรรมของคนอาหรับอย่างเป็นระบบ

             ผศ.ดร.วิศรุต กล่าวถึงความภาคภูมิใจว่า  มหาลัยวิทยาลัยรังสิต สามารถเปิดหลักสูตรได้ครบถ้วนสมบูรณ์ นั่นคือ หลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของประเทศ และถือเป็นมหาวิทยาลัยที่แบ่งปันการให้มูลค่าทางสังคมได้อย่างครบวงจร

             “ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยรังสิต เราได้มีโอกาสมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาอิสลามศึกษาแด่ท่านจุฬาราชมนตรี ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล นับเป็นการแสดงจุดยืนชัดเจนที่มีต่อสังคมไทยและสังคมนานาชาติ และนี่คือ “วิสัยทัศน์” ของท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ดร. อาทิตย์  อุไรรัตน์ ในการเติมเต็มสังคมการศึกษาอย่างแท้จริง ”  ผศ.ดร.วิศรุต กล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสารอะลามี่ ฉบับเดือนสิงหาคม 2559