มอ.จับมือ 6ชาติอาเซี่ยนเสนองานวิจัยพัฒนาการศึกษา
สำนักข่าวอะลามี่: การประชุมทางวิชาการของ6ประเทศในกลุ่มอาเซี่ยน ที่หาดใหญ่เมื่อเร็วๆนี้ นับเป็นอีกก้าวการพัฒนาด้านการศึกษาของไทยไปสู่เวทีอาเซี่ยน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3-4 ต.ค.ที่ผ่านมา โรงแรม บี.พี.แกรนด์ ทาวเวอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) Social Transformation Research Platform, Universiti Sains Malaysia จัดประชุมวิชาการนานาชาติ PSU-USM Interantional Conference on Humanities and Social Sciences 2011 ประจำปี 2554 จัดประชุมแลกเปลี่ยน เชิญนักวิชาการทั่วเอเซีย นำเสนองานวิจัย ประจำปี 2554 โดยมีนักวิชาการจำนวน 300 คน จาก 6 ประเทศ เข้าร่วมประชุม
โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาระดับปริญญาเอกและปริญญาโท และผู้สนใจจากประเทศต่างๆในทวีปเอเซีย จำนวน 200 คน จาก 6 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย อิหร่าน เกาหลี มาเลเซีย และไทย นำเสนองานวิจัยรวม 90 เรื่อง เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวคิดการพัฒนางานวิจัย รวม 4 สาขา ได้แก่ สาขาสันติภาพ วัฒนธรรม เพศและอัตลักษณ์
อาทิ การจัดการความขัดแย้ง การอพยพย้ายถิ่นฐาน ความเป็นผู้นำและการปกครอง สื่อสันติ ความมั่นคงของมนุษย์ เพศและอำนาจ ภาษาและวิกฤตการณ์ทางการวิเคราะห์
สาขาเศรษฐกิจและความยั่งยืน ได้แก่ ปัญหาความยากจน เศรษฐศาสตร์และการเงินอิสลาม ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ การกู้ยืมเงิน เศรษฐกิจชุมชม สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ ระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อสุขภาพ,สิ่งแวดล้อมและสังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคม
สาขาการท่องเที่ยว ได้แก่การท่องเที่ยวทางเลือก การท่องเที่ยวชุมชน ผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อสังคม การท่องเที่ยวข้ามแดน การท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มรดก วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ เป็นต้น
ผศ.ดร.ยุพดี ชัยสุขสันต์ รองอธิการฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า เป็นครั้งแรกของมอ.ปัตตานีที่มีการประชุมวิชาการระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนต่อยอดงานวิจัยระหว่างนักวิชาการในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นประชาคมอาเซียน ในอนาคตที่จะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษา นักวิชาการในภูมิภาคนี้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก
ในขณะเดียวกัน มอ.เป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาค จึงถือเป็นภาระหน้าที่ในการเป็นแหล่งให้การศึกษาวิจัย บริการวิชาการ และสร้างสรรค์วิทยาการใหม่ให้แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติ และเนื่องจากมอ.วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถาบันที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตชายแดนภาคใต้ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
จึงเป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ สังคมและวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านการท่องเทียว เพื่อเป็นข้อมูลเสนอแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง การประชุมครั้งนี้เป็นการปฏิรูปการวิจัยเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน