Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   15ปีกับเหตุการณ์ 9/11

15 ปี 9 /11 ความหวาดกลัว และการเปลี่ยนแปลงของสหรัฐอเมริกา


     ดร. มาโนชญ์ อารีย์

     ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

           “ชีวิตในสหรัฐอเมริกาจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป 

            ประโยคนี้คือคำพูดของ " จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช " อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาหลังเกิดวินาศกรรมก่อการร้าย 9/11 ซึ่งเป็นการก่อการร้ายครั้งประวัติศาสตร์ที่อยู่ในความจดจำของคนอเมริกันและผู้คนทั่วโลก

            15 ปีผ่านไป เป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมากสำหรับปัญหาความมั่นคงและการก่อการร้ายที่ขยายตัวมากยิ่งขึ้น โลกทุกวันนี้ยังอยู่ภายใต้การคุกคามของการก่อการร้ายอย่างที่สุด กลุ่มก่อการร้ายก็มีมากขึ้น ก่อเหตุถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น โหดเหี้ยมมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือการเพิ่มขึ้นของการก่อความรุนแรงโดยปัจเจกหรือบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย แต่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มก่อการร้าย อาจจะด้วยภาวะกดดันทางสังคมและสภาวะทางจิตไม่ปกติ หรือที่เรียกว่าหมาป่าเดียวดาย”  (Lone Wolf) ความน่ากลัวของมันคือการข่าวกรองแทบจะทำอะไรไม่ได้เลยและยากต่อการป้องกัน เพราะผู้ก่อเหตุอาจเป็นใครก็ได้ ก่อเหตุเมื่อไรก็ได้ ด้วยวิธีการหรือรูปแบบใดก็ได้ เช่นที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในสหรัฐ ฝรั่ง และเยอรมัน เป็นต้น

           ปัจจุบันมีข่าวการก่อการร้ายปรากฎให้เห็นเป็นปรากฎการณ์รายวันไปแล้ว เพียงแต่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนและจะเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง ดังนั้น การก่อการร้ายจึงกลายเป็นวาระสำคัญของโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ผลักดันความร่วมมือในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นระเบียบโลกที่บีบให้นานาประเทศต้องเข้าร่วม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากไม่เฉพาะกับวิถีชีวิตในสหรัฐเหมือนที่บุชกล่าวไว้ แต่รวมถึงสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

           การทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วง 15 ที่ผ่านมาจึงเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ คนอเมริกันมองภัยคุกคามของการก่อการร้ายอย่างไร มองศักยภาพในการก่อการของกลุ่มก่อการร้ายในวันนี้กับในอดีตอย่างไร แล้วมีการเปลี่ยนแปลงของนโยบายและวิถีสังคมอย่างไร

           เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ของสหรัฐอเมริกา ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนอเมริกันในหลายประเด็น พบว่า

          1)     คนอเมริกันในวัยผู้ใหญ่ ร้อยละ 91 ยังคงจำได้อย่างแม่นยำว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เขากำลังทำอะไรอยู่ที่ไหนตอนที่ได้ยินข่าวการโจมตีของวันที่ 11 กันยายน หรือ 9/11

          2)     อเมริกันคนอเมริกันร้อยละ 40 เชื่อว่ากลุ่มก่อการร้ายในปัจจุบันมีขีดความสามารถในการโจมตีสหรัฐมากขึ้น เมื่อเทียบกับการโจมตีของเหตุการณ์ 9/11   ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 14 ปี (หรือจากร้อยละ 22 ในปี 2002) โดยร้อยละ 31 เชื่อว่ามีความสามารถเท่าเดิม มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่มองว่ามีความสามารถน้อยลง ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้เห็นว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยและมองว่ากลุ่มก่อการร้ายมีพัฒนาการไปจากเดิมมาก ในขณะที่ระบบรักษาความปลอดภัยและมาตรการด้านความมั่นคงของรัฐไม่สามารถสร้างมั่นใจให้สังคมได้

          3)     ผลสำรวจล่าสุดของปี 2016 พบว่า ร้อยละ 49 มองว่านโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาลอเมริกันยังไม่ดีพอที่จะสามารถป้องกันการก่อการร้ายในประเทศได้ ในขณะที่ร้อยละ 33 จะกังวลกับปัญหาการจำกัดสิทธิเสรีภาพพลเรือนอันเกิดจากนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายเหล่านั้น

          4)     หลังจากที่มีการเปิดเผยโครงการลับของรัฐบาลหรือการดักฟังโทรศัพท์และการสอดส่องข้อมูลดิจิตอล ซึ่งเปิดเผยโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ในเดือนกรกฎาคม ปี 2013 ผลสำรวจคนอเมริกันร้อยละ 47 กังวลว่านโนบายต่อต้านการก่อการร้ายต่าง ๆ เป็นการละเมิดเสรีภาพพลเรือน แสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันจำนวนมากมีความกังวลเรื่องการจำกัดเสรีภาพ ในจำนวนนี้ ร้อยละ 43 มาจากผู้สนับสนุนพรรคริพับลิกัน และร้อยละ 42 ของเดโมแครต แต่หลังจากมีกลุ่มก่อการร้ายดาอิชโผล่ขึ้นมาและมีการโจมตีเกิดขึ้นหลายครั้งในสหรัฐอเมริกา ความคิดเห็นดังกล่าวก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคริพับลิกันร้อยละ 38  ที่มองว่านโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้นยังไม่พอเพียงต่อการป้องกันการก่อการร้าย ปัจจุบันมีคนคิดแบบนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 68 ส่วนพรรคเดโมแครตจากร้อยละ 38 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 46 ทั้งนี้ ความกังวลดังกล่าวส่วนทางกับข้อกังวลเดิมเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพ หมายความว่าคลื่นการก่อการร้ายสัมพันธ์กับภาวะที่ส่งผลให้คนอเมริกันเร่งเร้ารัฐบาลเพิ่มมาตรการหรือนโนบายต่อต้านการก่อการร้าย มากกว่าการตั้งคำถามเรื่องเสรีภาพพื้นฐานของตัวเอง

          จากที่กล่าวมาคือ ความคิดเห็นสาธารณะของสังคมอเมริกัน ที่ยังหวาดผวาอยู่กับการก่อการร้ายมาอย่างต่อเนื่อง และน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสหรัฐในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยอาจสรุปกว้างๆ ดังนี้

          ด้านนโยบายต่างประเทศ

          ไม่นานหลังจากที่สหรัฐสรุปว่ากลุ่มอัลกออิดะห์อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรม 9/11 จอร์จ บุช ประธานาธิบดีสหรัฐขณะนั้น ก็ไม่รีรอที่จะบุกทำสงครามกับอัฟกานิสถานเพื่อไล่ล่าอุซามะห์ บินลาเดน และกลุ่มตอลิบานทั้งในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ที่สำคัญคือการประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เรียกร้องนานาประเทศให้เข้าร่วมกับสหรัฐ โดยให้เลือกว่า ถ้าไม่อยู่ข้างสหรัฐก็แปลว่าอยู่ฝั่งผู้ก่อการร้าย ไม่มีพื้นที่ตรงกลาง คล้ายนโยบายแบ่งโลกออกเป็นสองฝ่ายในยุคสงครามเย็น จากสงครามอัฟกานิสถาน สหรัฐได้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการออกไปเรื่อย โดยเฉพาะปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในปากีสถาน เยเมน ลิเบีย โซมาเลีย และที่อื่น ๆ โดยอ้างหลักการป้องกันตนเองแบบชิงโจมตีก่อน (pre-emptive strike) สนับสนุนงบประมาณและอาวุธให้กับรัฐบาลพันธมิตรเพื่อกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ

         ข้ออ้างของการต่อต้านการก่อการร้าย ยังถูกนำมาใช้สนับสนุนเหตุผลเพื่อทำสงครามรุกรานอิรักในปี 2003 นอกเหนือไปจากเหตุผลหลักว่าอิรักมีอาวุธทำลายล้างสูง (ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นเท็จ) การยึดอิรักและโค่น ซัดดัม ฮุสเซ็น ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโครงสร้างอำนาจในตะวันออกกลาง จนนำไปสู่ปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงในหลายประเทศ ปัญหาการเกิดขึ้นของกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะกลุ่มดาอิช ปัญหาความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์ระหว่างนิกายสำนักคิดทางศาสนา ปัญหาสงครามตัวแทนทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกระหว่างมหาอำนาจสหรัฐกับรัสเซียในวิกฤตซีเรีย ฯลฯ
       
           แม้ว่าสงครามโดยตรงทั้งสองครั้งเกิดขึ้นในสมัยของบุช แต่มันก็ถูกสานต่อโดย โอบามา ในลักษณะของการโจมตีกลุ่ม หรือประเทศต่าง ๆ แบบไม่ปักหลัก ไม่ลงภาคพื้นดิน แต่โจมตีทางอากาศแบบตีหัวเข้าบ้าน และที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือสงครามตัวแทน

           ด้านการเมืองภายในสหรัฐ

          ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 9/11 สังคมอเมริกันแทบไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญอะไรมากนักกับปัญหาการก่อการร้าย แม้ว่าในต้นทศวรรษ 90 จะเคยมีเหตุการณ์โจมตีตึก World Trade มาแล้วก็ตาม แต่หลังจากเกิดวินาศกรรมก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน เป็นต้นมา การต่อสู้กับการก่อการร้ายได้กลายเป็นวาระสำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาและมีผลอย่างมากต่อการเลือกตั้งของสหรัฐ พรรคการเมืองและผู้สมัครประธานาธิบดีจะต้องนำเสนอนโยบายแข่งกันอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะมันได้กลายไปเป็นประเด็นไฮไลท์บนเวทีดิเบตหรือโต้เถียงกันระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในทุกครั้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศอยู่บ่อย ๆ ในระหว่างหาเสียงว่า การต่อสู้กับการก่อการร้ายคือวาระที่สำคัญที่สุดของเขา

            รัฐกับการสอดแนมพลเรือน

            หลังเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐได้ผ่านกฎหมายแพทรีออท หรือ กฎหมายรักชาติ (Patriot Act) ลงนามโดยประธานาธิบดีจอร์จ บุช ในเดือนตุลาคม 2001 และได้ปรับปรุงใหม่ในสมัยโอบามาในปี 2011 โดยกฎหมายนี้ได้เปิดทางให้หน่วยข่าวกรองสืบหาความเคลื่อนไหวของการก่อการร้ายผ่านการสอดแนมเจาะข้อมูลส่วนตัวข้อมูลลับของคนอเมริกัน คนต่างชาติ และรัฐบาลต่าง ๆ  โดยให้อำนาจเต็มที่กับสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ เรื่องนี้ถูกปกปิดมาโดยตลอด จนกระทั่งถูกเปิดเผยในปี 2013 จากการเปิดโปร่งของ นายสโนว์เดน ซึ่งระบุว่า NSA ได้รับอำนาจในการเจาะข้อมูลพลเรือนผ่านทางโทรศัพท์ อีเมล์ และอื่น ๆ โดยไม่ต้องแจ้งหรือมีหมายใด ๆ จนเป็นที่วิพากวิจารณ์อย่างกว้างขวาง กระทั่งในปี 2015 สหรัฐได้ผ่านกฎหมายเสรีภาพ โดยได้จำกัดขีดความสามารถของ NSA ในการล้วงข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือในปริมาณมาก ๆ แต่ทาง NSA ก็ยังคงปฏิบัติการเจาะข้อมูลมหาศาลท่ามการข้อถกเถียงเรื่องความชอบธรรมทางกฎหมาย

           กฎหมายความมั่นคงและปัญหาการอพยพย้ายถิ่น

           ในปี 2002 สหรัฐได้ผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Act) เสริมกฎหมายความมั่นคงชายแดนและปฎิรูปวิซ่าเข้าประเทศ  (Enhanced Border Security and Visa Entry Reform) ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งสำคัญ ทำให้มีความเข้มงวดและยากยิ่งขึ้นในการออกวีซ่า ไม่ว่าจะเป็นวีซ่าท่องเทียว นักศึกษา คนต่างชาติ ส่วนคนที่ได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศก็จะถูกจับตา ถูกเก็บประวัติบุคคลและลายนิ้วมือ โดยเฉพาะการเดินทางเข้ามาของคนมุสลิมประเทศอาหรับได้กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เรียกร้องการห้ามมุสลิมเข้าประเทศชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามจากการก่อการร้าย

           มาตรการรักษาความมั่นคงด้านการขนส่งและการบิน

          จากเหตุการณ์ 9/11 ที่เป็นสัญญาลักษณ์ของการก่อการร้ายสมัยใหม่ เมื่อเครื่องบินพาณิชถูกทำให้เป็นอาวุธทำลายล้างสูง ทำให้หลายประเทศปฎิรูประบบรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่งและการบินของตัวเอง อาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ 9/11  ทำให้สนามบินหลายแห่งบังคับผู้โดยสารถอดรองเท้าตามมาตรการรักษาความปลอดภัยสนามบิน ซึ่งเป็นผลมาจากการผ่านกฎหมายความมั่นคงด้านการขนส่งและการบินของสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2001 เพื่อเพิ่มมาตรการขั้นตอนการตรวจสอบให้รัดกุมยิ่งขึ้น มีการจำกัดปริมาณของเหลวและห้ามนำวัตถุบางรายการขึ้นเครื่องบิน นอกจากนี้ ยังเพิ่มระบบการป้องกันการจี้เครื่องบิน โดยเฉพาะในห้องนักบินที่ไม่สามารถเปิดจากภายนอกได้ เฉพาะนักบินเท่านั้นที่เปิดได้จากด้านใน

           การเพิ่มขึ้นของกระสอิสลามโมโฟเบีย

          แม้เหตุการณการณ์ 9/11 จะไม่ใช่จุดเริ่มต้นของกระแสอิสลามโมโฟเบียหรือโรคเกลียดกลัวอิสลาม เพราะก่อนหน้านั้นตั้งแต่ยุคสงครามเย็นหรือหลังสงครามเย็น วาทกรรมมุสลิมสุดโต่ง อิสลามหัวรุนแรง ขบวนการติดอาวุธมุสลิม ฯลฯ  ก็ถูกนำเสนอในสื่อตะวันตกมาก่อนแล้ว รวมทั้งความแตกต่างทางวัฒนธรรมการใช้ชีวิตประจำวัน แต่วินาศกรรม 9/11 ได้จุดกระแสต่อต้านมุสลิมรุนแรงและขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นในประเทศ ในเดือนตุลาคม ปี 2001 สำนักข่าวเอบีซี ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นพบว่ามีคนอเมริกันร้อยละ 47 เท่านั้นที่มองอิสลามในแง่ดี ในปี 2010 ลดลงเหลือร้อยละ 37 และลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือ ร้อยละ 27 ในปี 2014 อาจเป็นเพราะการปรากฏตัวขึ้นมาของกลุ่มดาอิช ในตะวันออกกลางและขยายแนวร่วมในอเมริกาและยุโรป ประกอบกับการกระแสเกลียดกลัวสะสมและปัญหาการมองแบบเหมารวมว่า การกระทำของกลุ่มก่อการร้ายในปัจจุบันคือภาพสะท้อนของแนวทางของอิสลาม

           ซึ่งจากตัวเลขของการมองอิสลามในแง่ดีที่ลดลงเรื่อย ๆ ในสังคมอเมริกัน นอกจากแสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กับปรากฎการณ์ก่อการร้ายแล้ว ยังอาจสะท้อนว่ากลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์และดาอิช สามารถยึดกุมภาพลักษณ์ของอิสลาม ในสังคมอเมริกันได้มากขึ้นเรื่อย หรือที่บางคนเรียกว่าเป็นการ hijack ภาพลักษณ์ของอิสลาม

            ปัจจุบันกระแสอิสลามโมโฟเบียลุกลามและหนักขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่อเมริกันชนบ้างกลุ่ม มีการเหยียดเชื้อชาติ ศาสนา เลือกปฏิบัติและกีดกันทางสังคมมากยิ่งขึ้น มีการทำร้ายร่างกายคนมุสลิมจากอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังหลายคดี โดยเฉพาะต่อสตรีมุสลิมเพราะสังเกตได้ชัดจากการแต่งกาย หรือแม้กระทั้งการสังหารอิหม่ามชาวบังกลาเทศในนครนิวยอร์กที่ผ่านมา

            15 ปีผ่านไป สหรัฐค่อนข้างเปลี่ยนไปมาก และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าพลวัตรการเปลี่ยนแปลงเกือบทั้งหมด เป็นผลพวงมาจากอิทธิพลของการก่อการร้ายและสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงไป ทางไหนอย่างไรในอนาคตที่ไม่แน่นอน เมื่อการก่อการร้ายและกระแสอิสลามโมโฟเบียถูกทำให้เป็นประเด็นการเมืองเพื่อการหาเสียงและเมื่อความเกลียดชังสามารถนำมาแปลงเป็นคะแนนนิยมทางการเมือง

            หากจะว่าไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา อาจจะเป็นอิทธิพลของ Americanization หรือการเปลี่ยนไปตามอเมริกา ที่คงต้องจับตามองทิศทางนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐต่อไปว่าจะนำพาสหรัฐและโลกไปสู่สันติภาพ หรือจะเป็นสงครามความรุนแรงที่ไม่ที่สิ้นสุด