Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ซินเจียง : ระเบียงเศรษฐกิจจีน

รายงานพิเศษ : “ซินเจียง” ระเบียงเศรษฐกิจจีน

ตอน : รู้จัก “ซินเจียง” มุสลิมมากสุดในจีน

โดย เอกราช มูเก็ม

              สำนักข่าวอะลามี่: เส้นทางสายไหม (Silk Road) เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างอาหรับกับประเทศจีน ที่ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่เคยมีความรุ่งเรื่องมาตั้งแต่ครั้งอดีต โดยมีเมืองชายแดนอย่างซินเจียง” เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ ทำให้อาณาจักรจีนในการเป็นจุดเชื่อมทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม จากโลกตะวันออกไปยังโลกตะวันตก

             ปัจจุบัน ซินเจียง มีชื่อทางการในขณะนี้ว่า เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uygur Autonomous Region) นับเป็นหัวเมืองเอกและเป็นยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจ 1 ใน 5 เขตปกครองตนเองของประเทศจีน

            จากอดีตที่เป็นเมืองชายขอบ วันนี้รัฐบาลจีน ได้ปลุกชีพเส้นทางสายไหม((Silk Road) ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 ในยุคของประธานาธิบดี  สี จิ้น ผิง  



            โดยในปี 2013 “สี จิ้น ผิง” ได้เสนอแนวคิด “เขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt) ทำให้ ”ซินเจียง” ได้กลายเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญทางฝั่งตะวันตกของจีน หรือ เส้นทางยุทธศาสตร์ “One Belt, One Road” หรือ “อีไต้อีลู่ (Yi Dai Yi Lu) ในภาษาจีนกลาง

           Ms.Mubalake Mugaiti Deputy Director General of Xinjiang Foreign Affairs Office,Vice President of Xinjiang People’s Association for  Friendship นำคณะจากประเทศจีน พบปะกับนักวิชาการและสื่อในประเทศไทย เปิดเผยกับ นิตยสาร อะลามี่ ในระหว่างการเสวนา ณ สถานเอกอัครราชทูตทูตจีนประจำประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้

           Ms.Mubalake Mugaiti  อธิบายภาพรวมของ เมืองซินเจียง  หรือ เรียกว่า “อุยกูร์ ซินเจียง” ว่าอยู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีพื้นที่ 1.66 ล้าน ตารางกิโลเมตร มีประชากร 23 ล้านคน มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 5,600 กิโลเมตร มีประเทศเพื่อนบ้านอยู่ 8 ประเทศ ซึ่ง 8 ประเทศคือ มองโลเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน ปากีสถาน  คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน และอินเดีย

          ซินเจียง เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีหลากหลายชนชาติมากถึง 13 ชนชาติใหญ่ๆ ด้วยกัน อาทิเช่น  อุยกูร์ ฮั่น คาซัค หุย คีร์กีซ มองโกล ตงเซียง ทาจิก ซีเปอ และอื่นๆ มีประชากร 23 ล้านคน ในจำนวนนี้ 60% เป็นชนกลุ่นน้อย นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีหลายศาสนา เช่น อิสลาม ลัทธิเต๋า ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ เป็นต้น



         ซินเจียง เป็นพื้นที่หนึ่งที่มุสลิมมากที่สุด และอยู่กันอย่างหนาแน่นที่สุดในประเทศจีน มีมุสลิม 13 ล้านคน ด้วยพื้นฐานของ ซินเจียง มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาตินี้เอง ทำให้รัฐบาลกลางจึงได้มีการประกาศใช้กฏหมายเพื่อให้เขตซินเจียง เป็น “เขตปกครองตนเอง” และเพิ่งจะครบรอบ 60 ปี ของการสถาปนาเขตปกครองตนเองเมื่อปีที่ผ่านมา (2558) นับเป็นความสำเร็จในการปกครองตามนโยบายปกครองตนเองอย่างหนึ่งของรัฐบาลจีนกลาง  

           เขตซินเจียง มี มัสยิด 24,000 กว่าแห่ง ทั้งนี้เมื่อเทียบสัดส่วนต่อประชากร 13 ล้านคน คิดว่าสัดส่วนค่อนข้างจะสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ มีบุคลากรดำรงตำแหน่งทางศาสนกิจประมาณ 29.000 คน ผู้ที่มาทำหน้าที่ทางด้านศาสนา จะมีการอบรมจาก สถาบันและได้รับการ อนุญาตจากสมาคมของมุสลิมของซินเจียง

            Ms.Mubalake Mugaiti  อธิบายสภาพของซินเจียง ว่า โดยภาพรวม ชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สำหรับในส่วนของการบริหารกิจการศาสนา มีกลไกในการบริหารขององค์กรศาสนาอิสลามและหลักการเป็นสากล แต่รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้เผยแพร่แนวคิดศาสนาแบบสุดโต่ง หรือเพื่อลัทธิก่อการร้าย

           สำหรับเขตปกครองตนเองซินเจียง นับเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นพื้นที่ ที่รัฐบาลกลาง ให้ความสำคัญมาก นับตั้งแต่ปี 2010-2014 ทางรัฐบาลจีนกลาง ได้มีการจัดประชุมและวางแผนรูปแบบการบริหารของซินเจียง พร้อมกับใช้มาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมเศรษฐกิจของสังคมของซินเจียง

            นอกจากจะได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลกลางแล้ว ซินเจียง ก็ยังได้รับการส่งเสริมความร่วมมือ จากมณฑลเมืองพี่เมืองน้อง อีก 19 แห่งทั่วประเทศจีน ตามแผนนโยบายส่งเสริมมณฑลและหัวเมืองต่างๆ ของรัฐบาลกลางของจีน

            แม้ว่า ภายใต้เศรษฐกิจขาลง แต่ ซินเจียง ยังรักษาแนวโน้มในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2015 GDP ของซินเจียง ทะลุกว่า 1 ล้านล้านหยวน รายได้ และค่าใช้จ่ายของคนในเมือง 22,000 หยวน คนอาศัยในชนบท มีรายได้มากกว่า 8,000 หยวน

ขณะที่ระบบสาธารณูปโภค หรือโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าเป็นการรถไฟ หรือ การท่าอากาศยาน ก็ได้มีการพัฒนาความคืบหน้า โดยคำนึงถึงประเทศที่มีความเจริญเติบโต บนพื้นฐานที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาของจีน

            ฉบับต่อไป เราจะมาดูทิศทางการพัฒนา เมืองซินเจียง จากอดีตที่เคยรู้จักในนามเส้นทางสายไหม (Silk Road) ว่าจีนกำลังคิดอะไร และ ทำไม ซินเจียง จึงได้รับการขนานนามว่า “ ระเบียงเศรษฐกิจของประเทศจีน”

            ติดตามอ่านต่อ ตอน2 ////

ตีพิมพ์ครั้งแรก :นิตยสาร อะลามี่ คอลัมน์/อินไซด์เอเซีย  ฉบับกรกฎาคม 2559