ถอดรหัส “อิหร่าน” หลังปลดล็อก
ประเทศเนื้อหอมแห่งตะวันออกกลาง
โดย เอกราช มูเก็ม
+++++++++++++++++++++++++++
".... ไทยกับอิหร่าน ก่อนจะมีการบอยคอต มีการค้าสูงถึง 1,200 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ
ต่อมาลดลงเหลือเพียง 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถนำพาการค้าไทย-อิหร่านไปสู่จุดที่เคยมีก่อนหน้านี้ ...."
สำนักข่าวอะลามี่: อ่านจุดยืน “อิหร่าน” ผ่านมุมมอง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำประเทศไทย ถึงสถานการณ์รุมเร้าในตะวันออกกลาง และอนาคตการฟื้นฟูประเทศ หลังปลดล็อกบอยคอต นานถึง 12 ปี
Mr. Mohsen Mohammadi เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ “ นิตยสาร อลามี่ ” หลังจากมารับตำแหน่งใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ของอิหร่าน หลังจากปลดล็อกจากการบอยคอต
“ หลังจากที่อิหร่านพูดคุยเรื่องนิวเคลียร์เป็นที่ยุติ ทำให้บุคคลสำคัญจากประเทศต่างๆ จากทั่วโลกมาเยือนมากยิ่งขึ้น ทั้งจากแถบยุโรป และเอเชียหนึ่งในจำนวนนั้นคือจีน ได้เซ็นสัญญามากถึง 17 ฉบับ, อิตาลี่ 15 ฉบับ, ฝรั่งเศส 20 ฉบับ ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ใหญ่จากไทยไปเยือนอิหร่าน 3 คณะ ในจำนวนนี้รวมถึง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยได้มีการลงนามสัญญาถึง 6 ฉบับ”
ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวอิหร่านมาไทยประมาณ 1 แสนคน และเพิ่มขึ้นมากถึง 1.5 แสนคน/ปี ซึ่งจากการเดินทางของคนจำนวนมากอาจไม่รู้ขนบธรรมเนียม และอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ทั้ง 2 ประเทศจึงได้ลงนามสัญญา ในการแลกเปลี่ยนนักโทษด้วยกัน โดยนักโทษเหล่านี้หลังจากรับโทษในไทยแล้ว ก็จะถูกส่งตัวเพื่อจำโทษในอิหร่านต่อ ซึ่งสอดคล้องกับหลักมนุษยธรรมที่นักโทษสามารถอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่
“ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ ไทยเคยส่งนักโทษไปให้อิหร่าน 12 คน และนักโทษอิหร่านอีก190 คน มีทั้งนักโทษทำผิดกฎหมายในฐานะนักท่องเที่ยว และมีนักโทษจากคดียาเสพติด แต่ไม่มีนักโทษทางการเมืองหรือกลุ่มหัวรุนแรงแต่อย่างใด ขณะเดียวกันมีนักโทษไทยในอิหร่าน 1 คน เช่นกัน ”
เมื่อถามถึงจุดยืนอิหร่าน ต่อกรณีกลุ่มไอซิส และสถานการณ์ความวุ่นวายในตะวันออกกลาง Mr. Mohsen บอกว่า สำหรับไอซิส มีหลายประเด็นที่ต้องทบทวน ประเด็นแรก ประเด็นสิทธิมนุษยชน เราเชื่อว่ากลุ่มก่อการร้าย ต้องมีการก่อเหตุในโลกนี้ นอกจากนี้สิ่งที่เรากังวลใจเป็นอย่างมาก คือกลุ่มก่อการร้ายใช้ชื่อคำว่า อิสลามมาบังหน้า ในการก่อการร้าย ซึ่งเราเชื่อว่าศาสนาอิสลาม “รักในความสันติ และรักในสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก” ซึ่งพบว่าไอซิส กลับไม่ทำตามหลักคำสอนอิสลาม หรือ ความเชื่อตามสำนักคิด(มะซาฮิบ) ต่างๆ เลย
“ สิ่งสำคัญที่สุด อิหร่านไม่อยากให้ ไอซิส ก่อเหตุความรุนแรงเพื่อนำไปสู่จุดหมายของตนเอง ซึ่งนั่นหมายถึงเสรีภาพของประชาชนก็จะไม่มีอีกเลย เพราะหากใครมีอำนาจ และใช้ความรุนแรงในการก้าวสู่อำนาจ ”
ส่วนสถานการณ์ในซีเรีย หรืออดีตผู้นำซีเรีย “ บาชาร์อัล-อัซซัร ” ตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง อิหร่านก็ยึดถือว่าเขายังมีความชอบธรรมในการเป็นผู้นำ อย่างไรก็ตามอนาคตของซีเรีย ประชาชนชาวซีเรียเท่านั้น ที่จะกำหนดอนาคต ซึ่งเราจะยึดถือความต้องการของประชาชนไม่ว่าในซีเรีย หรือปาเลสไตน์ ก็เช่นกัน
เขากล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาประเทศหลังจากปลดล็อกว่า การบอยคอตที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมสำหรับอิหร่านเลย ทั้งนี้สืบเนื่องจาก หลังจากการปฏิวัติสำเร็จ ชาติตะวันตกและชาติต่างๆ ในตะวันออกกลางเสียประโยชน์ เขากลัวว่าอิหร่านจะเป็นต้นแบบให้กับชาติอื่น ซึ่งเขาสร้างข้ออ้างต่างๆ เพื่อบอยคอตอิหร่านมาโดยตลอด
“ เขาพยายามสร้างข้ออ้างเพื่อบอยคอต ไม่เฉพาะนิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ด้วย โดยกล่าวหาว่าอิหร่านผลิตนิวเคลียร์ ศัตรูของอิหร่านพยายามทำให้ชาวโลกน่ากลัว ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จ ซึ่งเป็นวงจรที่ยาวนานถึง 12 ปี ”
หลังจากที่อิหร่านมีความพยายามอย่างยาวนาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ว่า “นิวเคลียร์อิหร่าน เป็นพลังงานสันติ ประเทศอิหร่านมีประชากรมาก 70 ล้านคน จำเป็นต้องสร้างพลังงานที่สมดุลต่อโลก เนื่องจากน้ำมันและแก็ส เป็นพลังที่ทำลายสิงแวดล้อมของโลก เราสร้างเพื่อเป็นพลังงานสันติ นำมาใช้ในวงการแพทย์ เรายืนยันว่าพลังงานนิวเคลียร์ ไม่ได้สร้างเป็นอาวุธ แต่เราสร้างเพื่อพัฒนาประเทศ”
“คำสั่งทางศาสนามีบทบาทมากกว่าคำสั่งทางกฎหมาย ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ เราต้องปฏิบัติตาม เมื่อผู้นำสูงสุด สั่งห้ามนำพลังงานนิวเคลียร์ในทางสงคราม เราก็เชื่อตามนั้น”
Mr. Mohsen กล่าวถึง การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ หลังปลดล็อกว่า ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา อิหร่านเดินทางไปเซ็นสัญญาการค้าในหลายประเทศ เราต้องการฟื้นฟูการค้ากับโลกโดยเปลี่ยนมุมมองใหม่ ไม่ต้องการให้อิหร่านเป็นแหล่งกักตุนสินค้าจากทั่วทุกมุมโลก แต่อยากให้อิหร่าน เป็นแหล่งการลงทุนมากยิ่งขึ้น ส่วนการค้าก็ต้องการพัฒนาการขายน้ำมันและปิโตรเคมี ด้วยการขยายตลาดการค้าให้มากขึ้น และมากไปกว่านั้นคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ
“อิหร่านกับไทย น่าจะเป็นตลาดคู่ค้าที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องการค้าเรื่องน้ำมัน ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมรถยนต์ นาโนเทคโนโลยี และเรื่องการท่องเที่ยว รวมถึงการสร้างโรงแรม และด้านอื่นๆ ที่จะสามารถร่วมมือกันได้”
เอกอัครราชทูตอิหร่าน กล่าวว่า หากคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และภูมิศาสตร์ของอิหร่าน สามารถใช้อิหร่านเป็นทางผ่านไปค้ากับประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคนี้ได้ ซึ่งไทยเองก็เป็นมิตรที่ใกล้ชิดกับอิหร่านมายาวนาน
“ สำหรับระหว่างไทยกับอิหร่าน ก่อนจะมีการบอยคอต มีการค้าสูงถึง 1,200 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาลดลงเหลือเพียง 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถนำพาการค้าไทย-อิหร่านไปสู่จุดที่เคยมีก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม มองว่าประเทศไทย น่าจะไปลงทุนในอิหร่านมากว่า เพราะหลังจากที่เราผ่านการบอยคอต เรายังมีโครงการต่างๆ ค้างคาอีกจำนวนมาก ที่อยากให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน ”
Mr.Mohsen กล่าวถึงระบบการเงินการธนาคารของอิหร่านว่า ประเด็นนี้เริ่มคลี่คลาย ความสัมพันธ์ทางด้านการเงินกับนานาชาติเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารกลางของอิหร่านเดินทางมาพบปะและเจรจากับรัฐบาลไทย เพื่อลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด
นี่คือภาพรวมของ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน หลังจากถูกปลดล็อก ทำให้ประเทศอิหร่าน จากประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีว่าน่ากลัวที่สุดประเทศหนึ่ง ได้กลายเป็นประเทศที่เนื้อหอมมากที่สุด ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางในขณะนี้
ตีพิมพ์ครั้งแรก :นิตยสาร อะลามี ฉบับ มีนาคม 2559