Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   MDICP Dinner Talk @Krabi

MDICP DinnerTalk @Krabi

ปูทาง SMEs halal สู่ตลาดมุสลิม

โดย สรัญญา บุญโสม

 

           สำนักข่าวอะลามี่ : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดเวที MDICP Dinner Talk @Krabi สร้างองค์ความรู้ ติดอาวุธทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SMEs Halal หวังเจาะตลาดลาดมุสลิมโลก


           นายจารุพันธ์ จารโยภาส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวถึง การจัดงาน MDICP Dinner Talk ครั้งที่ 5 มีการสัมมนาพิเศษในหัวข้อ “การผลิตและบริการมาตรฐานฮาลาล เจาะตลาดลาดมุสลิม” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมกระบี่ฟร้อนเบย์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.กระบี่ ว่า ได้รับการตอบรับด้วยดี โดยมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเกือบ 200 คน  โดยมี นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, นายพินิจ บุญเลิศ  ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่, นายอัสนาวี มุคุระ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่ มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

          การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการสัมมนาในรูปแบบ Dinner Talk จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยที่ผ่านมาเราได้จัดไปแล้ว ทั้งในส่วนกลางกรุงเทพมหานคร, ภูมิภาค จ.เชียงใหม่, และ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ  MDICP หรือ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน

         โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ต้องการให้ผู้ประกอบการได้มาพบปะเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน แลกเปลี่ยนแนวคิดและยังได้มีโอกาสรับองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์จากวิทยากรไปพร้อมกันด้วย โดยหยิบยกประเด็นหัวข้อที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่นั้นๆ  เช่น เราได้สัมมนาเรื่องของดิจิตอลมาเก็ตติ้ง กลยุทธ์การขาย การตลาด AEC และมาครั้งนี้ เราเล็งเห็นว่ากระบี่มีความสำคัญในกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งมีความสนใจในการพัฒนาธุรกิจและบริการให้ได้มาตรฐานฮาลาล

       สำหรับรูปแบการจัดงานดังกล่าว นายจารุพันธ์ กล่าวว่า กิจกรรม MDICP  Dinner  Talk ครั้งที่ 5 เป็นการสัมมนาพิเศษหัวข้อ “การผลิตและบริการมาตรฐานฮาลาล เจาะตลาดมุสลิม”  ซึ่งคนทั่วไปพอพูดถึงฮาลาลจะเข้าใจว่าเป็นอาหารอย่างเดียว จริงๆ แล้วทั้งในส่วนของธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็จะมีการรับรองมาตรฐานฮาลาลเช่นกัน 
       “ เราได้เชิญ อาจารย์โรเซพ ทวีจิตร์ วิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญตลาดมุสลิม นอกจากนี้ไฮไลท์ของงานยังมีการเสวนา Success Case โดยมีคุณรังสิมันต์  กิ่งแก้วนายกสมาคมสปาจังหวัดภูเก็ต และยังเป็นผู้บริหาร สุโข สปา รีสอร์ท จ.ภูเก็ต  พูดถึงทิศทางการตลาดของธุรกิจสปา และคุณอนิดา โทณะวณิก  เจ้าของลานนาคำสปา และโรงเรียนเชียงใหม่สปา จ.เชียงใหม่ ซึงเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สปาครบวงจรแบรนด์ลดา

 

          นายจารุพันธ์ กล่าวถึงบทบาทของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  กระทรวงอุตสาหกรรม  ว่า หน่วยงานนี้จะดูแลพื้นที่ในภาคใต้ 7 จังหวัด คือ  กระบี่, พังงา, ภูเก็ต, ระนอง, ชุมพร, สุราษฏร์ธานี  และนครศรีธรรมราช ปีนี้เรามีเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรมการจัดทำระบบมาตรฐานฮาลาล (พ.ศ..2559-2563) ในยุทธศาสตร์ที่  2  การเสริมสร้างศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล  เป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้ารับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดี ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่สถานประกอบการในตลาดมุสลิมโลกอีกด้วย

         “ในจังหวัดกระบี่มีผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจในการเข้ารับรองมาตรฐานฮาลาลจำนวนมาก ซึ่งปีนี้เราเน้นฮาลาลที่ไม่ใช่อาหารที่เป็นธุรกิจบริการ และการผลิตเพื่อรองรับการท่องเที่ยวภาคใต้  เช่นกลุ่มที่ทำธุรกิจสปา เครื่องสำอาง, แฟชั่นมุสลิม ฯลฯ”

          นายจารุพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรมุสลิมทั่วโลกมีกว่า 1,700 ล้านคน ซึ่งอาศัยอยู่ในส่วนต่างๆ ของโลก โดยมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกันและมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลากหลาย เช่น จีน เอเชียกลาง เอเชียตะวันออกกลาง  รัสเซีย ยุโรปตะวันออก เอเชียใต้, แอฟริกา และอื่นๆ คาดกันว่าจำนวนประชากรมุสลิมโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,800 ล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจอิสลาม และมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว 

        ปรากฏการณ์ดังกล่าว จะทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลสำหรับตลาดโลกแห่งนี้ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งตลาดฮาลาลเป็นตลาดที่มีลักษณะเฉพาะ (Niche Market) ที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างศรัทธา และความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภคในตลาดฮาลาลทั้งในประเทศและตลาดโลก 

          ดังนั้นรัฐบาลจึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล ( พ.ศ.2559-2563)  ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคการผลิต และภาคบริการ จะช่วยอุดจุดอ่อน และเสริมจุดแข็งของผู้ประกอบการไทย ในการขยายส่วนแบ่งในตลาดฮาลาลโลก ให้เพิ่มสูงขึ้น เป็นการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นฐานการผลิต และส่งออกสินค้าและบริการฮาลาลที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนและติดอันดับ 1 ใน 5  ของโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า