Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   สะพานข้ามโขง"ไทย-ลาว"แนวโน้มเลื่อนเปิดไปอีก 1 ปี

 
สะพานข้ามโขงไทย - ลาว แนวโน้มเลื่อนเปิดไปอีก 1 ปี 
  
             สำนักข่าวอะลามี่ :  โครงการก่อสร้างสะพานข้ามโขงไทย - ลาว  ที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ของลาว อาจต้องเลื่อนเปิดให้บริการไปอีก 1 ปี เหตุจากกรณีเงินหยวนและน้ำหลาก


             จากกรณีมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อม อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว โดยรัฐบาลไทยและจีนได้ตกลงใช้งบประมาณในการก่อสร้างฝ่ายละ 50% จนต่อมามีการว่าจ้างกลุ่มซีอาร์ 5-เคที จอยท์เวนเจอร์ ประกอบไปด้วยบริษัทไชน่า เรลเวย์ โน.5 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด จากประเทศจีน และบริษัทกรุงธนเอ็นยิเนียร์ จำกัด ของประเทศไทย กำหนดตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.2553 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 10 ธ.ค.2555 ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน ด้วยงบประมาณ 1,486.5 ล้านบาทนั้น ล่าสุดพบว่าโครงการก่อสร้างยังคงเป็นไปด้วยความล่าช้าและปัจจุบันการตอกเสาเข็มเพื่อวางเสาตอม่อได้ยุติลงชั่วคราว เนื่องจากเข้าสู่ฤดูน้ำหลากและระดับน้ำลึกมากขึ้น จึงเหลือเพียงงานก่อสร้างริมฝั่งและถนนเท่านั้น ขณะที่การก่อสร้างในภาพรวมคืบหน้าไปได้เพียงประมาณ 6%


          นายสุวัฒน์ ด้วงปั้น นายด่านศุลกากร อ.เชียงของ เปิดเผยว่าทางศุลกากรซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำกับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ก็ได้เฝ้าติดตามความคืบหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่อง เพราะในอนาคตจะมีความเกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าทางด้าน อ.เชียงของ เชื่อมกับ สปป.ลาว-จีนตอนใต้ บนถนนอาร์สามเออย่างมาก โดยทางสภาพพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเคยประมาณการณ์ว่าสะพานแห่งนี้จะทำให้มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรที่ อ.เชียงของ เพิ่มมากขึ้นเป็นปีละกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าจะมีมูลค่ามหาศาลหลังจากที่ในปัจจุบันก็มีอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่านำเข้าและส่งออกเดือนต่อเดือน จนทำให้ตัวเลขการค้ารวมตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2554 ถึงเดือน มิ.ย.มีมูลค่าประมาณ 4,900 ล้านบาทแล้ว ซึ่งมูลค่าดังกล่าวเท่ากับมูลค่าการค้าตลอดทั้งปีงบประมาณ 2553 ที่ผ่านมาขณะที่ในปีงบประมาณนี้ยังเหลือเวลาอีกกว่า 3 เดือนหรือ 1 ไตรมาสถึงจะหมดปีงบประมาณดังนั้นมูลค่าการค้าตลอดปีงบประมาณนี้จะเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนจำนวนมากแน่นอน


          นายสุวัฒน์ กล่าวว่า ตามหลักวิชาการระบุว่าการก่อสร้างสะพานได้ล่าช้าลงไปกว่าแผนที่กำหนดเอาไว้ประมาณ 1.7% โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานที่ยังไม่สามารถตอกเสาเข็มลงเสาตอม่อได้และกำลังพบกับอุปสรรคของฤดูน้ำหลากพอดีดังกล่าว ส่วนการก่อสร้างถนนและอาคารด่านพรมแดนในฝั่งไทยถือว่าเร็วกว่าที่กำหนดบวก 3% แต่ในฝั่ง สปป.ลาว ติดลบ 7% ดังนั้นจากการที่คาดการณ์กันว่าน่าจะทำให้โครงการล่าช้าออกไปประมาณ 9 เดือนนั้น สรุปได้ว่าจะมีความล่าช้าเพิ่มออกไปเป็น 1 ปี โดยปัญหาหลักเกิดจากการยังไม่ได้ก่อสร้างเสาต่อม่อหรือสร้างฐานรากของตัวสะพานให้ได้ และปัญหาเรื่องการที่ทางการจีนจ่ายงบประมาณก่อสร้างเป็นเงินหยวน ซึ่งเมื่อเปลี่ยนเป็นเงินดอลล่าร์และนำไปจ่ายให้เอกชนเกรงจะมีความผันผวน

   
          "อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเมื่อสามารถลงเสาตอม่อแล้วเสร็จจะทำให้โครงการความคืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อมีฐานรากสิ่งก่อสร้างต่างๆ ด้านบนก็จะมีความสะดวกมากขึ้น และจากความล่าช้าออกไปเล็กน้อยดังกล่าวก็ได้ทำให้ทางกรมศุลกากรมีเวลาในการรอการส่งมอบที่ดินในการก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่บริเวณห่างจากตัวสะพานประมาณ 1 กิโลเมตร โดยมีการออกแบบต่างๆ แล้วเสร็จแล้วรอเพียงการส่งมอบที่ดินเชื่อว่าหากไม่มีสิ่งขัดข้องใดๆ คงจะสามารถก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ได้ในเดือน พ.ย.นี้" นายสุวัฒน์ กล่าว    


         ขระที่ ท่าน สมพอน ปันยาดา ประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรม แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว กล่าวว่าความล่าช้าในการก่อสร้างสะพานเริ่มมีมาตั้งแต่การรอเรื่องพิธีวางศิลาฤกษ์แต่จากนั้นเมื่อมีการลงมือก่อสร้าง เอกชนที่รับจ้างก่อสร้างก็ได้แบ่งงานกันโดยให้เอกชนจีนสร้างตัวสะพานและเอกชนไทยสร้างถนนและอาคารด่านพรมแดน แต่ปรากฎว่าเอกชนจีนเจอปัญหาเรื่องหัวเจาะใต้ท้องแม่น้ำโขง เพื่อจะวางเสาตอม่อต้องประสบกับฐานราก โดยเมื่อเจาะลงชั้นใต้ดินลงไปถึงหินประมาณ 151 เมตร พบสภาพเป็นหินที่แข็งมากจนทำให้หัวเจาะเสียหายไปหลายอัน จนเป็นผลทำให้ไม่สามารถวางเสาตอม่อได้

          นอกจากนี้ยังเกิดสภาพน้ำหลากมาเสียก่อน นอกจากนี้ปัญหาด้านการเงินดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าท้ายที่สุดการก่อสร้างจะสามารถเดินหน้าไปได้ตามปกติ และทำให้สะพานแห่งนี้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับภูมิภาคนี้ต่อไป    


         รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ดังกล่าว ออกแบบให้มีเสาตอม่อ 4 ตอม่อ มีความกว้าง 14.70 เมตร โดยเป็นสะพานขนาดสองช่องจราจรๆ ละ 3.50 เมตร และไหล่ทางข้างละ 2 เมตร และทางเท้าข้างละ 1.25 เมตร ความยาว 480 เมตรเมื่อรวมกับถนนติดขอบฝั่งก็จะยาวประมาณ 630 เมตร และโครงการก่อสร้างถนนตัดแยกจากถนนหมายเลข 1020 หรือสายเชียงราย-เชียงของ ในฝั่งไทย เพื่อเป็นจุดสลับการจราจรในฝั่งไทยก่อนไปถึงตัวสะพานอีกประมาณ 5 กิโลเมตร และถนนในฝั่ง สปป.ลาว อีกประมาณ 6 กิโลเมตร

         ส่วนอาคารด่านพรมแดนทั้งฝั่งไทยและ สปป.ลาว รูปทรงล้านนาประยุกติ์เพื่อใช้เป็นจุดตรวจปล่อยร่วมกัน ณ จุดเดียวตามหลักประตูเดียว (Single Stop Inspection) รวมเนื้อที่ฝั่งไทยทั้งหมดประมาณ 400 ไร่

ที่มา:ศูนย์ข่าวเชียงรายออนไลน์ http://chiangraitime.com/Show_News.php?ID_New=1064&ModuleKey=hotnew